‘อียูกรีนดีล’ นำโลกสู่ความยั่งยืน
วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งรับผิดชอบได้เพียงลำพัง แต่ต้องเป็นความร่วมมือของทั้งโลกครอบคลุมไปถึงมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืน
สหภาพยุโรป (อียู) เดินหน้าอย่างชัดเจนผ่านนโยบายกรีนดีล (European Green Deal: EGD) ถึงขนาดที่ แอสทริด โชมาเคอร์ อธิบดีด้านการทูตเพื่อสิ่งแวดล้อมและความร่วมมือพหุภาคี ประจำคณะกรรมาธิการยุโรป เดินทางมาเมืองไทยด้วยตนเอง และมีโอกาสพูดคุยอีจีดีกับกรุงเทพธุรกิจ
“ยินดีมากค่ะที่ได้เดินทางอีกครั้งหลังจากเว้นช่วงไปนาน ตอนนี้อียูพยายามมีส่วนร่วมด้วยตนเองกับประเทศต่างๆ มากขึ้นรวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โชมาเคอร์ทักทายพร้อมอธิบายว่า ตอนนี้โลกกำลังเผชิญวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมสามประการที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ ทั้งหมดมีสาเหตุจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน การฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ในการทบทวนนโยบาย ระบบเศรษฐกิจ คิดใหม่เรื่องวิถีการใช้ชีวิตรวมไปถึงการรับประทานอาหาร แต่สงครามที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครนดึงดูดความสนใจของผู้คนไปมาก และถ้าปล่อยให้สงครามและผลที่ตามมาหยุดยั้งการนำอีจีดีไปปฏิบัติก็จะถือเป็นความผิดพลาดครั้งประวัติศาสตร์ เพราะกรีนดีลให้คำตอบพื้นฐานที่จำเป็นในการรับมือความท้าทายที่กำลังเผชิญ
ตั้งแต่คณะกรรมาธิการยุโรปชุดนี้รับตำแหน่งช่วงแรกๆ ในปี 2562 ภายใต้ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป "อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน" ทั่วโลกสนใจเรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อม เช่น ขบวนการ Friday for Future ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา ด้วยเหตุนี้เธอจึงเห็นว่าความมุ่งมั่นทั้งหลายที่ต้องทำเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมจะต้องไม่ใช่แค่คำพูด แต่ต้องมีนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่มาของอีจีดี ยุทธศาสตร์อันครอบคลุมสู่เป้าหมายที่อียูให้ความสำคัญสูงสุด มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยวิธีการอันชาญฉลาดแก้ปัญหาได้ทั้งต้นน้ำปลายน้ำ ใช้ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมนี้เป็นโอกาสทางธุรกิจ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงาน อีจีดีเป็นนโยบายที่กำหนดเป้าหมายใหญ่อย่างเป็นองค์รวม
ที่สำคัญอีจีดียังเป็นหมุดหมายหลักสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะออกแบบมาให้ตอบสนองปัญหาได้อย่างเป็นระบบ ภายใต้เครื่องมือนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ อาทิ กฎหมายสภาพภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพ ยุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงช้อน แผนปฏิบัติการระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือยุทธศาสตร์เคมีเพื่อความยั่งยืน โดยในปีนี้อียูยังใช้ยุทธศาสตร์ป่าไม้และแผนปฏิบัติการมลพิษเป็นศูนย์ทั้งในอากาศ น้ำ และดิน รับข้อเสนอจัดการกับการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของอียู ปรับปรุงการจัดการขนส่งขยะ
อธิบดีด้านการทูตเพื่อสิ่งแวดล้อมฯ ย้ำว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด อียูประกาศเป้าหมายชัดเจนที่ปัจจุบันเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 55% ภายในปี 2573 ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นกลางทางภูมิอากาศภายในปี 2593
"การจะไปถึงจุดนั้นได้แน่นอนว่าเราต้องตั้งเป้าหมาย เช่น เป้าการใช้พลังงาน เป้าหมายประสิทธิภาพพลังงาน ปรับปรุงกลไกการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขยายไปสู่ภาคส่วนใหม่ๆ“
การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะใช้นโยบายสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวไม่ได้ แอสทริดอธิบายว่า ต้องดูนโยบายอื่นด้วย และอีดีจีไม่ใช่ทางออกที่ละทิ้งระบบทุนนิยมไปเลย
”เรายังอยู่ในระบบเศรษฐกิจของเราต่อไป แต่ต้องเข้าใจว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวข้องกับวิธีที่เราผลิตและบริโภค จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เกิดโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งเป็นความตั้งใจหลักของอียูในแง่สิ่งแวดล้อม ที่ไม่ใช่แค่ช่วยจ้างงานใหม่แต่ยังเป็นการจ้างงานทุกระดับตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สร้างการเติบโต บายโปรดัคท์ทั้งหมดลดคาร์บอนฟุตปรินท์ได้"
การมาเมืองไทยของอธิบดีด้านการทูตเพื่อสิ่งแวดล้อมฯ เจ้าตัวเผยว่า เพื่อเน้นย้ำเรื่องการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า ที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดโลกร้อนและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ นานาชาติให้คำมั่นในหลากหลายข้อตกลงแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า อย่างในเวที COP26 ที่ประชุมยอมรับว่าป่าไม้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมโลกร้อน อียูทำงานเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว ถึงวันนี้ปัจจัยสำคัญของการตัดไม้ทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรมคือการขยายที่ดินทำการเกษตร จำต้องทำให้ซัพพลายเชนสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ด้วย
ข้อเสนอต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าของอียูครอบคลุมสินค้าโภคภัณฑ์หกชนิด ได้แก่ ไม้ ปศุสัตว์ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง กาแฟ และโกโก้ ในอนาคตอาจขยายไปถึงยางพาราที่ตอนนี้กำลังหารือกันอยู่ ซึ่งอียูทราบดีว่านี่เป็นสินค้าสำคัญมากสำหรับไทย สาระสำคัญกำหนดให้บริษัทจะต้องตรวจสอบซัพพลายเชนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรม โดยไม่จำแนกว่าเป็นการตัดไม้อย่างถูกหรือผิดกฎหมาย ต้องระงับทั้งหมดเพื่อสร้างหลักประกันว่าป่าไม้สามารถทำหน้าที่สำคัญได้ต่อไป
ได้ยินอย่างนี้ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า หากธุรกิจไทยจะเข้าไปทำธุรกิจในอียูต้องเจอข้อกำหนดอะไรบ้างภายใต้กรีนดีล โชมาเคอร์ตอบว่า กรีนดีลเป็นยุทธศาสตร์การเติบโตแบบยั่งยืน และเป็นพลังผลักดันเบื้องหลังนโยบายทั้งภายในและภายนอกของอียู เช่น นโยบายการค้าที่ถูกระบุว่าเป็นเสาหลักกลางในกรีนดีล มีการออกมาตรการที่มีผลทางกฎหมายและที่จะออกต่อไปเพื่อทำให้ยุโรปกรีนดีลเป็นจริง
"ในบรรดาข้อเสนอทั้งหมด ดิฉันขอพูดถึงสามข้อริเริ่ม ที่ส่งผลต่อไทยมาก ได้แก่ การนำเสนอบทบัญญัติว่าด้วยการตัดไม้ทำลายป่า มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และการบังคับตรวจสอบกิจการเป้าหมายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งซัพพลายเชน แม้มาตรการยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที ย่อมถือเป็นโอกาสดีให้ธุรกิจไทยได้เตรียมความพร้อม อียูยังต้องการร่วมมือกับไทยอย่างมาก เพื่อให้ข้อชี้แนะและความช่วยเหลือด้านเทคนิคเกี่ยวกับข้อกำหนดเหล่านี้"
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือข้อกำหนดของอียูส่วนใหญ่อิงตามคู่มือและมาตรฐานระหว่างประเทศ และสุดท้ายแม้ข้อกำหนดเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับคู่ค้า แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าอียูก็ต้องบังคับใช้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการแข่งขันระหว่างบริษัทต่างๆ ทั้งในและนอกอียูเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศแห่งความเป็นธรรม ความกังวลว่าอียูจะใช้กรีนดีลมาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีก็ลืมไปได้เลย เมื่ออียูพัฒนากฎต่างๆ ขึ้นมาจะยึดมั่นในระบบขององค์การการค้าโลกเสมอ พร้อมสร้างหลักประกันว่าการเคลื่อนไหวสู่ความยั่งยืนไม่ได้หมายความว่าอียูจะปิดตลาด
“เราพูดกับโลกมาตลอดเรื่องการค้าเสรี สร้างความมั่งคั่งไม่เฉพาะในยุโรปยังรวมถึงที่อื่นๆ ด้วย แต่การค้าไม่ใช่แค่การค้า เป็นการค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืน” อธิบดีด้านการทูตเพื่อสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวและว่า การเดินหน้าสู่เศรษฐกิจยั่งยืนผ่านการปฏิบัติตามกรีนดีลของอียู สุดท้ายแล้วจะเปิดโอกาสใหม่ให้กับภาคธุรกิจ, อียู, และต่างชาติเหมือนๆ กับที่เปิดให้กับไทย ทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ ระหว่างกัน
“ความท้าทายนั้นมีแน่โดยเฉพาะในเดือนแรกๆ หรือปีแรกๆ ที่เริ่มใช้โมเดลธุรกิจตามข้อกำหนดของอีจีดี แต่ก็อย่างที่บอกว่าอียูให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคมากมาย และสนับสนุนหุ้นส่วนที่ปรารถนาจะเดินร่วมเส้นทางนวัตกรรมสีเขียวเปลี่ยนผ่านยุคดิจิทัล” ตัวแทนอียูให้คำมั่นต่อผู้ร่วมเส้นทางสู่ความยั่งยืน