คลังเผยรัฐบาลมีช่องกู้เงินเพิ่มได้1.3 ลล.​

คลังเผยรัฐบาลมีช่องกู้เงินเพิ่มได้1.3 ลล.​

คลังเผยรัฐบาลมีวงเงินที่สามารถกู้เพิ่มภายใต้กรอบเพดานหนี้ 70% ได้อีก 1.3 ล้านล้าน ขณะที่ เม็ดเงินจากพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน เหลืออยู่ 7 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ยังไม่สรุป ระบุ กรณีจ่ายเพิ่มอีกคนละ 1.5 พันบาท ต้องใช้เงินถึง 3.9 หมื่นล้าน​

รายงานข่าวจาก กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังเตรียมหาแหล่งกู้เงินเพิ่มเติมกรณีที่มีความจำเป็นว่า เมื่อพิจารณาจากเพดานการกู้เงินที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ของจีดีพี จะพบว่า ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลยังมีช่องที่จะกู้เงินได้อีกราว 1.3 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประเมินว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 ระดับหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี

 

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินแม้จะมีพื้นที่ให้กู้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกู้เต็มทั้งหมด เพราะการกู้ต้องทำเท่าที่มีความจำเป็นจริงๆ และดูทั้งความเหมาะสม วัตถุประสงค์การใช้เงิน แหล่งเงินงบประมาณอื่น รวมถึง ต้องไม่สร้างภาระให้ฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว

ด้าน นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้ ยังมีพื้นที่ทางการคลังให้สามารถกู้เงินได้ อย่างไรก็ดีในการกู้เงินนั้นจะต้องมีการตรากฎหมายพิเศษมารองรับและต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ ต้องมีเหตุผล ความจำเป็น เร่งด่วน รวมทั้งต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ชัดเจนด้วย

 

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีการอนุมัติและเบิกใช้เงินจากพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท อย่างต่อเนื่อง ทำให้เหลือกรอบงบประมาณที่ยังไม่อนุมัติเพียง 7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น หากจะนำมาใช้ในโครงการใดต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หรืออาจหาวิธีนำงบประมาณจากแหล่งอื่นมาใช้ เช่น งบประมาณกลาง หรือเงินทุนสำรองจ่ายตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่ให้อำนาจครม.อนุมัติใช้เงินได้ 5 หมื่นล้านบาท ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เป็นต้น

 

สำหรับพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ได้มีการแบ่งกรอบวงเงินสำหรับใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข 1.1 แสนล้านบาท  ใช้เยียวยาช่วยเหลือประชาชนจากโควิด 2.2 แสนล้านบาท และงบสำหรับใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 1.7 แสนล้านบาท 

 

ส่วนการทำโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ยังไม่มีการยืนยันจากกระทรวงการคลัง แต่ในกรณีหากมีการดำเนินการต่อจริงๆ จะต้องใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาท เช่น กรณีภายใต้สมมุติฐานมีผู้ใช้สิทธิคนละครึ่งจำนวน 26 ล้านคน  เติมเงินคนละ 1,000 บาท  รัฐจะใช้เงินสบทบ 2.6 หมื่นล้านบาท คนละ 1,200 บาท รัฐจะใช้เงินสบทบ  3.12 หมื่นล้านบาท  และ 1,500 บาท รัฐจะใช้เงินสบทบ 3.9 หมื่นบาท

 

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ โครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 เหลือเวลาใช้สิทธิอีกเพียง 10 วันเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่ยังไม่เคยใช้สิทธิและใช้สิทธิยังไม่เต็มวงเงิน ให้รีบใช้ก่อนภายในวันที่30เม.ย.นี้ วันสิ้นสุดโครงการ

 

ทั้งนี้ โครงการคนละครึ่งเฟส 4 มีผู้ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 26.38 ล้านรายๆละ 1,200 บาท ขณะนี้ มีการใช้สิทธิครบเต็มวงเงินแล้ว 12.69 ล้านราย ส่วนอีก 13.57 ล้านราย ใช้สิทธิยังไม่ครบวงเงิน และอีก 1.2 แสนราย ยังไม่เคยใช้สิทธิแต่อย่างใด 

 

สำหรับการใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ณ วันที่ 19 เม.ย. 2565  มีการยอดการใช้จ่ายสะสมรวม 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 3 หมื่นล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 2.97 หมื่นล้านบาท จากผู้ใช้สิทธิทั้งหมด 26.26 ล้านราย

 

ส่วนการใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง 1.35 ล้านราย แบ่งเป็น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 2.5 หมื่นล้านบาท ร้านธงฟ้า 1 หมื่นล้านบาท ร้านโอทอป  2.7 พันล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 2 หมื่นล้านบาท ร้านบริการ 1 พันล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 115.5 ล้านบาท