เกาหลีใต้โดดเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP สร้างโอกาสการค้า การลงทุน
เกาหลีใต้เตรียมยื่นใบสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP 6 พ.ค. 2565 ตาม จีน สหราชอาณาจักร ไต้หวัน ที่ยื่นใบสมัครไปแล้ว หวังดัน GDPสูงขึ้น0.33-0.35% ขณะที่ไทยยังไม่ท่าทีเข้าร่วม
ความตกลงหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ( Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership /CPTPP) มีสมาชิก 11 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม
ซีพีทีพีพีเป็นกรอบข้อตกลงทางการค้า ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
ล่าสุดเกาหลีใต้ตัดสินใจเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP แล้ว ซึ่งเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจหลักในกลุ่ม 20 เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง โดย เกาหลีใต้ เริ่มดำเนินการในการเข้าร่วมเมื่อวันที่ 15เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา แผนการเข้าร่วมCPTPPได้รับการอนุมัติในการประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลเกาหลีจะยื่นเอกสารสมัครอย่างเป็นทางการภายหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงการรายงานต่อรัฐสภาด้วย
ทั้งนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ ระบุว่า มีแผนจะยื่นสมัครCPTPPภายในวันที่ 9พ.ค. 2565ก่อนประธานาธิบดีมุน แจ-อิน จะอำลาจากตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากนั้น ว่าที่ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการเจรจาเพื่อให้ประเทศสมาชิกปัจจุบันยอมรับให้เกาหลีใต้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1ปี
นางสาวชนัญญา พรรณรักษา ผู้อำนวยการสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซลหรือทูตพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า เกาหลีใต้เข้าร่วมCPTPPจะทำให้เกาหลีใต้มีส่วนร่วมในเขตการค้าเสรีที่มีข้อตกลงกว้างขวาง ปัจจุบัน นอกจาก11ประเทศที่ได้ลงนามไปแล้ว สหราชอาณาจักร จีน จีนไทเป และเอควาดอร์ ก็ได้ยื่นหนังสือขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงCPTPPอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งประเทศสมาชิกCPTPPอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องดังกล่าว หากเกาหลีใต้ยื่นเป็นทางการอีก จะเป็นประเทศ เขตเศรษฐกิจที่5ที่รอการพิจารณาจากประเทศสมาชิก
"หากเจรจาสำเร็จ เกาหลีใต้จะมีโอกาสในการขยายการค้า การลงทุนมากขึ้น โดยสถาบันนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของเกาหลี(Korea Institute for International Economic Policy)ประเมินว่า การเข้าร่วมCPTPPจะช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุนของเกาหลีใต้เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือGDPสูงขึ้น0.33-0.35%"
สำหรับประเทศไทยขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศหรือ (กนศ.) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธาน กนศ. ท่ามกลางการคัดค้านขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) และภาคเกษตรว่าไทยยังไม่พร้อมรับการแข่งขัน ที่มีมาตรฐานสูง และยังมีจุดอ่อน ที่จะทำให้เสียเปรียบมากกว่าได้ประโยชน์ และคัดค้านการเข้าร่วมจนกว่าไทยจะพร้อมอย่างแท้จริงก่อน
โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นสำคัญคือ 1.ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับยา และระบบสาธารณสุขของไทย ที่จะทำให้การยาชื่อสามัญขึ้นทะเบียนยาได้ล่าช้าและลำบาก 2.ผลกระทบจากการต้องเข้าภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ที่จะทำให้เกษตรกรไทยต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ในราคาแพงขึ้น 3-6 เท่า 3.ผลกระทบจากการจัดซื้อจ้างภาครัฐ ที่ยังไม่มีข้อมูลว่าไทยจะเสียหายเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ครอบคลุมอยู่ในความตกลงซีพีทีพีพี
ขณะที่ภาคเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันที่ประกอบด้วยส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย(กกร.) แสดงท่าทีสนับสนุนให้เข้าร่วมการเจรจาเพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาส
ทั้งกระทรวงพาณิชย์ได้ทำการศึกษา เรื่องการเข้าเป็นสมาชิก เบื้องต้นผลการศึกษา พบว่า การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้ GDP ขยายตัว 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14% คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท การส่งออกขยายตัว 3.47% คิดเป็นมูลค่า 271,340 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท
ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของ CPTPP หลังจีน สหราชอาณาจักร ไต้หวัน กระโดดเข้าร่วมเป็นสมาชิก ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมี 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่เป็นสมาชิกซีพีทีพี ซึ่งได้รับประโยชน์ด้านการค้าการลงทุน จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งคงต้องติดตามตามท่าที่ของไทยว่าจะตัดสินใจอย่างไรในเรื่องนี้