“มิลล์คอน”ชูธุรกิจกรีนสตีล รีไซเคิลรถเก่าหนุน“เศรษฐกิจหมุนเวียน”
ธุรกิจสีเขียวกำลังเป็นแนวโน้มสำคัญที่ผู้ประกอบการทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์บีซีจี โดยกลุ่มมิลคอนน์ ได้เดินหน้ายุทธศาสตร์ “กรีน สตีล” สู่การดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดการนำเข้าเหล็กด้วยการขยายกำลังผลิตรีไซเคิลซากรถเก่า
ประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ที่มิลล์คอนวางไว้ในปี 2565 สู่การเป็น “กรีน สตีล” ด้วยการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเมกะเทรนด์ของโลก
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2565 จะเติบโตในระดับ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าแนวโน้มความต้องการและราคาเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง จากสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจีนที่มีนโยบายปิดโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานและยกเลิกนโยบายคืนภาษีส่งออก (Tax Rebate) รวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะจบลงได้ในเร็วๆ นี้ แต่โรงงานที่ได้รับความเสียหายต้องใช้เวลาอีกมากในการฟื้นตัว
สำหรับเป้าปริมาณยอดขายเหล็กปี 2565 รวมอยู่ที่ 9 แสนตัน โดยประเมินว่า ความต้องการเหล็กในไทยยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการใช้รวมกันกว่า 18-19 ล้านตัน ตามการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูประโภคของประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความต้องการจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดว่าจะมียอดผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.8 ล้านคัน จากปีก่อนผลิตได้ 1.6 ล้านคัน
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2562 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) เพื่อจัดทำโครงการสาธิตการรีไซเคิลซากรถยนต์ (ELV) ที่หมดอายุใช้งานด้วยวิธีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างระบบหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจากซากรถยนต์ที่ใช้แล้วในไทย โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นต้นแบบการรีไซเคิลในภูมิภาคเอเชียในอนาคต
ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการกำจัดซากรถเก่าในประเทศ จะทำให้ในอนาคตบริษัทไม่จำเป็นต้องหาซัพพลายรถเก่าในตลาดโลกซึ่งมีการแข่งขันที่สูง ทำให้ปกติจะซื้อซากรถเก่าได้สูงสุดแค่ 20,000 ตันต่อเดือน
ในขณะที่จากสถิติจำนวนรถจำแนกตามอายุรถทั่วประเทศ กรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ม.ค.2565 ปริมาณรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ในไทยทุกประเภทรวมทั้งสิ้น 5.03 ล้านคัน ซึ่งหากรีไซเคิลซากรถทั้ง 5 ล้านคัน จะได้เศษเหล็กประมาณ 6.55 ล้านตัน และคาดว่าในระยะ 20 ปีข้างหน้าจำนวน รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี จะเพิ่มเป็น 16 ล้านคัน
นอกจากนี้ ในกรุงเทพมหานครยังพบซากรถเก่าปริมาณมาก ส่วนหนึ่งพบจอดทิ้งร้างไว้ตามที่รกร้างและใต้ทางด่วนซึ่งต้องประกาศตามหาเจ้าของครบ 1 ปี ก่อนที่กรุงเทพมหานครจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และอีกส่วนคือรถที่เกิดอุบัติเหตุซึ่งจอดทิ้งไว้ที่สถานีตำรวจ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิของบริษัทประกัน
“โดยบริษัทได้เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตในการบริหารจัดการซากรถเก่าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ที่ 50,000 คันต่อเดือน เพิ่มเป็น 70,000 คันต่อเดือน เพื่อรองรับการบริหารจัดการรีไซเคิลซากรถเก่าในประเทศที่มีปริมาณมาก”
อย่างไรก็ตาม การกำจัดซากรถยนต์อย่างถูกต้องให้เห็นผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันออกแบบระบบ และปลดล็อกกฎหมายและหลักเกณฑ์ เพื่อผลักดันให้ประชาชนนำรถยนต์เก่ามาเข้าสู่ระบบการกำจัดที่ถูกวิธี
เนื่องจากรถยนต์เก่าที่มีอายุการใช้งานยาวนาน และขาดการบำรุงรักษาตามมาตรฐาน เป็นสาเหตุหลักอย่างหนี่งของปัญหาฝุ่น PM 2.5 การนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีจึงมีความจำเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังเป็นการลดปริมาณการนำเข้าเศษเหล็ก เนื่องจากรถยนต์หนึ่งคันมีเศษเหล็กเป็นสัดส่วนราว 70% ที่สามารถนำกลับมาผลิตเหล็กได้ ส่วนอีก 30% เป็นวัสดุที่มีค่าความร้อน เช่น พลาสติก วัสดุยาง ซึ่งยังสามารถคัดแยกเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน ตามโครงการเปลี่ยน Waste to energy โดยบริษัทมีสต็อกกว่า 100,000 ตัน และคาดว่าจะสร้างรายได้ 100 ล้านบาท เป็นการเพิ่มรายได้และลดการสูญเสีย
ทั้งนี้ตามโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ร่วมทุนว่าจะร่วมมือกันในรูปแบบใด คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2565
“บริษัทมีประสบการณ์และมีความพร้อมในการรีไซเคิลซากรถเก่าอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมานำเข้าซากรถจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งเมื่อรัฐมีนโยบายชัดว่าจะสนับสนุนการรีไซเคิลรถเก่าในประเทศถือว่าเป็นเรื่องที่ดี การบริหารจัดการรีไซเคิลซากรถเก่าที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพจะสามารถนำทรัพยากรจากการแยกซากรถมาหมุนเวียนให้กลายเป็นชิ้นส่วนที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม"