ทางรอดกระดานเทรด “คริปโทฯ” สร้างอีโคซิสเต็มส์ - ควบรวมธุรกิจ
“เอ็กซ์เชนจ์เทรดคริปโทฯ” เตรียมพร้อมรับมือการแข่งขัน “ซิปเม็กซ์” ชี้ทางรอดต้องทำธุรกิจหลากหลายรูปแบบมากขึ้น “สตางค์” เดินหน้าเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ เล็งจับมือพันธมิตรเสริมแกร่ง เชื่ออนาคตเกิดการควบรวม
หลังจาก บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ส่ง “กัลฟ์ อินโนวา” (Gulf Innova) ผนึก “Binance Capital Management” ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเข้าถือหุ้นสัดส่วน 51% และเตรียมขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กลางปี 2565
ขณะที่ รูปแบบบริการบนแพลตฟอร์มในระยะแรกจะซื้อขายเหรียญแบบ Spot trading แต่อนาคตพิจารณาขยายฟีเจอร์อื่นในรูปแบบที่ Binance ให้บริการในต่างประเทศ เช่น Derivative และการ Staking เหรียญ แต่ต้องขออนุญาต ก.ล.ต.ก่อน โดยช่วงนี้เตรียมตั้งบริษัทร่วมทุน และมีการหารือกับพาร์ทเนอร์ในไทย เช่น เอไอเอส มีฐานลูกค้ากว่า 40 ล้านราย และธนาคารพาร์ทเนอร์ ที่มีฐานลูกค้าเป็นจำนวน เกี่ยวกับกระบวนการ KYC เพื่อให้สะดวกรองรับการเปิดบัญชีของลูกค้า ซึ่งต้องทำปฏิบัติหลักเกณฑ์ ก.ล.ต.
แน่นอนว่าศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (แพลตฟอร์มเทรดคริปโทฯ) ในไทยจะแข่งขันรุนแรง โดยผู้ให้บริการแต่ละรายยังคง “อุบแผนการปรับกลยุทธ์” เตรียมรับศึกใหญ่ในระยะข้างหน้า เพราะตลาดนี้แก้เกมกันได้ง่ายมาก
คงต้องรอติดตาม “แพลตฟอร์มใหม่ระหว่างกัลฟ์กับไบแนนซ์” สุดท้ายแล้วจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะยังต้องใช้อีกระยะเวลาหนึ่งในกระบวนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน และขอใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมก่อน น่าจะเริ่มเห็นเจ้าอื่นๆ เตรียมรับศึกรายใหม่ ที่ใหญ่ที่จะเข้ามา “ชิงมาร์เก็ตแชร์” เป็นเบอร์หนึ่ง
“ซิปเม็กซ์”เนื้อหอมรุมเจรจา
นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดเอ็กซ์เชนจ์เทรดคริปโทเคอร์เรนซี คงต้องปรับตัวรองรับการแข่งขัน โดยคาดว่าจะเน้นการทำธุรกิจในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น และมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของตัวเอง เช่น กลุ่มเวลธ์ ที่ต้องการข้อมูลแน่น, กลุ่มสายเทรด เน้นความเร็วและสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ในส่วนการควบรวมธุรกิจระหว่างแพลตฟอร์มเทรดในประเทศด้วยนั้น ต้องบอกว่าเราก็มีคนมาคุยด้วยตลอด หลายคน และเราคุยกับทุกคน หากมีความคืบหน้าจะรีบแจ้งให้ทราบแน่นอน
หนุนควบรวมแพลตฟอร์มเทรด
นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและกรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า รูปแบบของการรับมือเพื่อให้อยู่รอดไม่หายไปจากตลาดนี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครสามารถอยู่คนเดียวได้ต้องได้เห็นการควบรวมของแพลตฟอร์มเทรดในไทยในระยะถัดไป ส่วนกลยุทธ์รับการแข่งขันเชื่อว่าทุกเจ้ามีอยู่แล้ว เพียงแต่รอดูผู้เล่นใหม่ที่จะเข้ามาก่อนว่าเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ด้วยต้นทุนการทำธุรกิจนี้ไม่ได้สูงมาก ดังนั้นบางธุรกิจที่เข้ามาในตลาดนี้ก็อาจไม่ได้ต้องแพลตฟอร์มที่เป็นธุรกิจหลักต้องทำกำไร เพียงแค่มี "แพลตฟอร์มของตัวเอง “ เป็น ” เครื่องมือหนึ่ง เพื่อนำไปตอบโจทย์ต่อยอดธุรกิจอื่นในอนาคตก็ได้เช่นกัน
สุดท้ายในตลาดนี้อาจมีหลากหลายแพลตฟอร์มไม่จำเป็นต้องเหลือแค่ 1-2 ราย เหมือนอย่างธุรกิจเทเลคอมที่มีต้นทุนที่สูงกว่ามาก และมีการแข่งขันที่ดุเดือดกว่า อีกทั้งแนวทางการกำกับดูแลตลาดคริปโทฯ ในไทยเชื่อว่าโอกาสการผ่อนปรนลงค่อนข้างที่จะยาก และจะมีเพิ่มเติมเข้ามามากขึ้น ตราบเท่าที่ประเทศอื่นๆ ยังไม่ทำ ยกเว้นในหลายประเทศเริ่มทำ ก็จะกลายเป็นแรงกดดันหน่วยงานกำกับไทยมากขึ้น
ปั้นอีโคซิสเต็มส์ดิจิทัลแอสเสทในไทย
ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ตั้งเป้าหมาย “ขยายมาร์เก็ตแชร์” ในไทยหลายวิธี ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยเรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมา และเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าคนไทยให้ได้มากที่สุด เพราะสุดท้ายอยู่ที่ลูกค้าเป็นผู้เลือกใช้บริการ โดยไม่สนใจแบรนด์ เช่น ขอแค่ให้เป็นแพลตฟอร์มที่เทรดเหรียญได้เร็วกว่า
นอกจากนี้ ได้เปิดตลาดนอกประเทศได้ แต่เรามองว่าขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาเหมาะสม เพราะตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่โดนยึดจากผู้เล่นรายใหญ่ เช่น FTXexchange, Coinbase หรือ Binance
ขณะเดียวกัน ได้เปิดโอกาสเจรจาพันธมิตรรายใหม่ตลอด ซึ่งโฟกัสตลาดไทยเป็นหลัก เพราะในไทยเรามีจุดแข็ง ที่สามารถแข่งขันได้ ทั้งในเรื่องของเสถียรภาพ ความปลอดภัย และที่สำคัญเราถือเป็นผู้เล่นรายหนึ่งที่ปลุกปั้นตลาดนี้ขึ้นมาในไทยตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมาย
ด้วยเป้าหมายสูงสุดของเราในการทำธุรกิจนี้คือ เป็นผู้กำหนด หรือ Key Player ที่กำหนดอีโคซิสเต็มส์สินทรัพย์ดิจิทัลให้เกิดขึ้นในประเทศไทย มากกว่าการเป็นยูนิคอร์น เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า เมื่อทำธุรกิจจุดหนึ่ง สุดท้ายแล้ว ก็สามารถเป็นยูนิคอร์นได้อยู่แล้ว จึงไม่ได้กดดันว่าต้องไปถึงจุดนั้นเร็วหรือช้า แต่ต้องการให้ภาคธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 5% ของจีดีพี เพราะมองว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยผูกกับการท่องเที่ยวมากเกินไป เมื่อมีวิกฤติเข้ามาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวมาก
แต่หากสร้างนักพัฒนาคนไทยที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เหมือนนักพัฒนาในซิลิคอนวัลเลย์ แม้มีวิกฤติคนเหล่านี้ก็ยังทำงานได้ และสามารถให้บริการคนทั่วโลก โดยที่คนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเมืองไทย สามารถช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการท่องเที่ยวอย่างเดียว ซึ่งเราในฐานะภาคเอกชนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ก็จะค่อยๆ พัฒนาอีโคซิสเต็มส์ส่วนนี้ให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
“ทีโอดี”ชี้อีก 3 ปีเหลือรายใหญ่ 3 รายที่มีกำไร
นายพีรเดช ตันเรืองพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ อัพบิต ในฐานะประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดผู้ให้บริหารศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทยระยะข้างหน้า คาดว่า น่าจะมีการควบรวมกันเอง หรือหาพาร์ทเนอร์ต่างธุรกิจที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก เช่น ธุรกิจแบงก์หรือเทเลเคอม หรือหาพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศ และในระยะ 3 ปีข้างหน้า คาดว่าผู้เล่นในตลาดที่มีกำไร เพียง 3 รายใหญ่ จากปัจจุบันมี 7-8 ราย
พร้อมกันนี้จะเห็นการแข่งขันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาในตลาด ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนก็ได้ และการแข่งขันค่าธรรมเนียมยังคงอยู่
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์