"หุ้นน้ำมันปาล์ม" บวกยกแผง! นำทีมโดย CPI พุ่ง 12% ขานรับอินโดฯห้ามส่งออก

"หุ้นน้ำมันปาล์ม" บวกยกแผง!  นำทีมโดย CPI พุ่ง 12%  ขานรับอินโดฯห้ามส่งออก

"หุ้นน้ำมันปาล์ม" บวกยกแผง! CPI พุ่งแรงสุด 12.11% รองมาเป็น VPO-UVAN -UPOIC  ขานรับอินโดฯห้ามส่งออก เริ่ม 28 เม.ย.นี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกพุ่งขึ้นทันที 4-5% หนุนราคาขายและอัตราการทำกำไรผู้ประกอบการน้ำมันปาล์มในไทยปรับตัวดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดตลาดวันนี้ ( 25 เม.ย.) "หุ้นกลุ่มน้ำมันปาล์ม" ปรับตัวขึ้นยกแผง 

นำโดย บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ CPI ราคาอยู่ที่ 4.26 บาท บวก 0.46 บาท หรือ 12.11%  ด้วย มูลค่าซื้อขายที่ 513.62 ล้านบาท 

หุ้น บริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ VPO อยู่ที่ระดับ 2.10 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 10.53% ด้วยมูลค่าซื้อขาย243.45  ล้านบาท

ส่วนบริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UVAN ราคาอยู่ที่ 9.25 บาท บวก 0.85 บาท หรือ 10.12% ด้วยมูลค่าซื้อขายที่ 246.86 ล้านบาท

ปิดท้ายด้วย บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UPOIC ราคาอยู่ที่ 8.25 บาท บวก 0.55 บาท หรือ 7.14%  ด้วยมูลค่าซื้อขายที่ 24.87  ล้านบาท





 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)  กล่าวว่า ราคาหุ้นน้ำมันปาล์ม ปรับตัวขึ้นทั้งกลุ่ม หลังจา  ผู้นำอินโดนีเชีย ประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม โดยจะมีผลบังคับใช้
ในวันที่ 28 เม.ย. เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ

ทั้งนี้ อินโดนีเชียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก 

โดยส่งผลให้ในวันนี้  (25 เม.ย.) ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกพุ่งขึ้นทันที 4-5% โดยในช่วงเช้าราคาพุ่งขึ้นทะลุ 6,700 ริงกิตต่อตัน สูงสุดในรอบ 1 เดือน หลังจากที่ราคาน้ำมันปาล์มเคยขึ้นไปสูงสุดราว 7,200 ริงกิตต่อตัน เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  

ด้าน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โกลเบล็ก ระบุว่า อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งโลก การที่อินโดนีเซียประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มจะกระทบต่อผู้บริโภคทั่วโลกไม่เพียงแต่ในอินโดนีเซีย

เนื่องจากน้ำมันปาล์มถือเป็นน้ำมันพืชที่มีการบริโภคมากที่สุด และมีการใช้ในการผลิตสินค้าหลายประเภท เช่น บิสกิต มาร์การีน ช็อกโกแลต และน้ำยาซักผ้า ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียเคยประกาศระงับส่งออกน้ำมันปาล์มในเดือนมกราคม ก่อนที่จะยกเลิกประกาศดังกล่าวในเดือนมีนาคม

จากประเด็นดังกล่าว ส่งผลบวกต่อผู้ผลิตน้ำมันปาล์มในไทย ส่งผลให้ราคาขายและอัตราการทำกำไรปรับตัวดีขึ้น โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์ ได้แก่ VPO, LST, UVAN และ UPOIC

ด้านนายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย ประเมินว่า การระงับการส่งออกของน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียน่าจะเป็นประเด็นชั่วคราวคล้ายกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา 

“คาดว่าประมาณ 1 เดือนสถานการณ์น่าจะกลับมาปกติ เพราะรายได้จากการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียสูงถึงเดือนละ 3 พันล้านดอลลาร์ หรือปีละ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์”

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มนี้ในไตรมาสแรกน่าจะออกมาดี เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นจากปลายปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เกือบ 5,000 ริงกิต ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระหว่าง 6,700-6,800 ริงกิต 

“แต่การที่กำไรของหุ้นกลุ่มนี้จะขยับไปสูงกว่านี้ ราคาน้ำมันปาล์มอาจจะต้องสูงไปกว่านี้อีก ซึ่งเราอาจต้องเห็นราคาน้ำมันดิบกลับไประดับ 100-120 ดอลลาร์ หรือน้ำมันปาล์มยังคงขาดแคลนต่อเนื่องทั้งปี” 

ทั้งนี้ Reuters คาดว่าผลผลิตปาล์มในปีนี้จะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะจากสองประเทศหลัก คือ อินโดนีเซีย คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.4% เป็น 48.5 ล้านตัน ขณะที่มาเลเซีย คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.9% เป็น 18.8 ล้านตัน 

ในมุมกลับกัน การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันปาล์มทำให้ผู้ที่ใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ผลิตขนม ยาสระผม เช่น BJC และ TKN รวมถึงธุรกิจขนส่งน้ำมันปาล์ม อย่าง AMA