ศึกกงสี 'โตทับเที่ยง' ยืดเยื้อ ชิงอาณาจักรปุ้มปุ้ย
มหากาพย์ความขัดแย้งกงสี "โตทับเที่ยง" เจ้าของอาณาจักร “ปุ้มปุ้ย” โรงแรม ที่ดินในกรุงเทพฯและจังหวัดตรัง ส่อเค้าขัดแย้งต่อ หลัง "สุธรรม" พี่คนโตตั้งโต๊ะสรุปผลคดี ทันทีที่จบงานแถลงข่าว "สุรินทร์" ออกแถลงการณ์ แจ้งข้อเท็จจริงอีกด้าน ระบุมีข้อมูลบางประการคลาดเคลื่อน
“สุธรรม” ผนึกน้อง-ทายาท “โตทับเที่ยง” เปิดใจแถลงสรุปผลคำพิพากษาศาลฎีกาธุรกิจครอบครัว หลังต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมนาน 6-7 ปี ย้ำไม่มีใครแพ้ ทุกคนชนะหมด พร้อมจัดทัพกลับเข้าไปบริหารอาณาจักร “ปุ้มปุ้ย” ด้าน “สุรินทร์” ออกโรงแจงข้อเท็จจริง ย้ำตนและครอบครัวยังถือหุ้นปุ้มปุ้ย ส่วนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังไม่ตกเป็นของกงสี ส่อร้าวฉานต่อ
ถือเป็นหนึ่งในมหากาพย์ความขัดแย้งของธุรกิจครอบครัวหรือกงสีตระกูล “โตทับเที่ยง” ที่มีอาณาจักรปลากระป๋องปุ้มปุ้ย ภายใต้บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด(มหาชน) ธุรกิจโรงแรมในจังหวัดตรัง 2 แห่ง จำนวนห้องพักราว 400 ห้อง และที่ดินอีกหลายแปลงทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดตรัง
ทั้งนี้ ปมความขัดแย้งธุรกิจกงสีเกิดขึ้น และนำไปสู่การดำเนินการยื่นฟ้องร้องต่อศาลแพ่งธนบุรี เมื่อพ.ย.ปี 2559 เมื่อ นายสุธรรม โตทับเที่ยง กับพวกรวม 9 คนโจทก์ กับ นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ที่ 1 กับพวกนวม 6 คนจำเลย ข้อหา กรรมสิทธิ์ เรียกทรัพย์คืน ขอแบ่งทรัพย์(กงสี)
ตลอดเวลาระยะเวลา 6 ปีที่โจทก์และจำเลยได้ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ล่าสุด คำพิพากษาศาลฎีกา ยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้ง 6 คน ที่ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัททั้ง 19 บริษัทไว้แทนกงสี ซึ่งบริษัทกงสีทั้ง 19 บริษัท โอนหุ้นในบริษัทให้ นายสุธรรม โตทับเที่ยง กับพวกรวม 9 คน ได้แก่ 1.นางสาวจุรี โตทับเที่ยง 2.นางจุฬา หวังศิริเลิศ 3.นางจุรัตน์ มะนะสุทธิ์ 4.นายสลิล โตทับเที่ยง 5.นางสาวสุนีย์ โตทับเที่ยง 6.นางสาวศิริพร โตทับเที่ยง 7.นายเสริมสันต์ สินสุข 8.นายไกรลาภ โตทับเที่ยง 9.นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง คนละ 1 ส่วน ใน 10 ส่วน ของหุ้นแต่ละบริษัท
ในส่วนของที่ดิน ยกคำขอที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้ง 9 และจำเลยที่ 1 มาแบ่งกันคนละ 1 ใน 10 ส่วน หรือหุ้นทั้ง 19 บนริษัท ตลอดจนที่ดินสิ่งปลูกสร้าง เป็นกรรมสิทธิ์รวมของธุรกิจครอบครัวหรือกงสีตระกูลโตทับเที่ยง
นายสุธรรม โตทับเที่ยง ประธานกรรมการ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด(มหาชน) หรือปุ้มปุ้ย ในฐานะพี่คนโตของตระกูลโตทับเที่ยง พร้อมบรรดาน้องๆและทายาทเจนเนอเรชั่น 2 อีกราว 20 ชีวิต ตั้งโต๊ะแถลงข่าวสรุปผลคำพิพากษา
“ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีธุรกิจครอบครัวหรือกงสีโตทับเที่ยงแล้ว ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ ทุกคนชนะหมด ด้วยความเป็นธรรมที่ได้รับมา ในสิ่งที่ตนเองควรจะได้ สิ่งไหนที่ไม่ใช่ย่อมไม่ได้ และความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย เป็นตามที่ปรากฎ”
นายสุธรรม เท้าความประวัติครอบครัวโตทับเที่ยง มีพี่น้องทั้งสิ้น 10 คน ส่วนการก่อร่างสร้างธุรกิจทำมาแล้วราว 50 ปี ขณะที่การปลุกปั้นบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาลกว่า 40 ปีที่แล้ว สร้างการเติบโต และขยายธุรกิจจนมี 19 บริษัทอยู่ภายใต้อาณาจักร
ระหว่างการสร้างธุรกิจ น้องแต่ละคนยังมีอายุน้อย เมื่อเติบโตจึงเข้ามาช่วยสืบสานกิจการครอบครัว ทั้งการวางรากฐานโรงงานปลากระป๋องปุ้มปุ้ยให้มีมาตรฐานด้านสาธารณสุข ดูแลการตลาด การเงิน บัญชี เป็นต้น
เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ทำให้นายสุธรรม น้องๆ รวมถึงทายาท ไม่ได้บริหารธุรกิจครอบครัวเป็นเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมา
เมื่อมีคำพิพากษาของศาล สิ่งที่เกิดขึ้นกับกิจการกงสีโตทับเที่ยง คือ เดือนส.ค.2564 คณะกรรมการบริหารชุดเดิมที่เป็นบุคคลสำคัญ ได้ลาออกทั้งหมด และคณะทำงานของนายสุธรรม ได้เข้าไปดำเนินการต่อตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย.2564
“ผมกลับเข้าไปกุมบังเหียนธุรกิจต่อในฐานะประธานกรรมการ ทั้งที่ควรเกษียณแล้ว เมื่อความจำเป็นบังคับ จึงต้องร่วมไม้ร่วมมือกันกับคนในครอบครัวเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการบริการหรือบอร์ด ซึ่งทุกคนล้วนมีความสามารถทั้งบริหารธุรกิจอาหาร โรงแรม ดูแลการเงิน บัญชี การตลาด”
นอกจากพี่น้องโตทับเที่ยงกลับเข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัว ยังมีทายาทอีกราว 20 ชีวิต กลับเข้ามาช่วยงานในฝ่ายต่างๆด้วย เช่น ไกรลาภ โตทับเที่ยง ดูฝ่ายโรงงาน สุวรรณี โตทับเที่ยง ดูฝ่ายจัดซื้อ ชุตมา โตทับเที่ยง ดูฝ่ายกิจการภายใน เป็นต้น
“ธุรกิจต้องเดินหน้าต่อ เรานำสิ่งที่ยุติลงวันนี้มาเป็นกำลังใจ เป็นแรงผลักดัน เพื่อมุ่งสู่จุดหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าปัจจุบัน”
สำหรับธุรกิจครอบครัวโตทับเที่ยง มี บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาลหรือปุ้ม เป็นธุรกิจหลัก ซึ่งปี 2564 สร้างรายได้รวมกว่า 1,600 ล้านบาท มีกำไรสุทธิกว่า 33 ล้านบาท แม้บริษัทจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ที่ผ่านมาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว(SP) ซึ่งขั้นตอนการปลดเครื่องหมายดังกล่าวเป็นหน้าที่ของตลาด ซึ่งบริษัทจะดำเนินตามขั้นตอนและระเบียบตลาดเพื่่อกลับไปเทรดให้เร็วที่สุด คาดเป็นปีหน้า ขณะที่ 30 เม.ย.นี้ บริษัทจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านระบบออนไลน์ เพื่อพิจารณางบการเงินปี 2564
ด้านนายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความฝ่ายนายสุธรรมและพี่น้องโตทับเที่ยง กล่าวว่า นับจากศาลฎีกามีคำพิพากษา ขั้นตอนจากนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการยื่นขอบังคับคดีภายใน 30 วัน แต่ตนได้ให้คำปรึกษาแก่โจทก์ทั้ง 9 ว่าจะยังไม่ดำเนินการเรื่องดังกล่าว พร้อมแนะนำให้เชิญนายสุรินทร์ มาประชุม หารือกัน เพื่อรับฟังและระบายความขัดแย้งให้หมดไป มุ่งประคองบริษัทให้อยู่ได้ต่อไป
“นโยบายของธุรกิจครอบครัวคือการสืบสาน ต่อยอด คำนึงถึงธุรกิจทั้งหมด โดยจะไม่เพิ่มความขัดแย้งของแต่ละฝ่าย ดังนั้นการบังคับคดีจึงไว้ดำเนินการภายหลัง”
อย่างไรก็ตาม หลังการแถลงข่าวของนายสุธรรม น้องๆ รวมถึงทายาทโตทับเที่ยง ได้มีแถลงการณ์จากนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ออกมาทันที
ใจความระบุว่า จากการแถลงข่าวของนายสุธรรม โตทับเที่ยง กับพวก มีความคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง ทําให้ข้าพเจ้า(สุรินทร์ โตทับเที่ยง)กับครอบครัวได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง
ทั้งนี้ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคมรับทราบข้อมูลอีกด้าน ดังนี้
1. คดีกรรมสิทธ์ิรวมหรือธุรกิจครอบครัวตระกูลโตทับเที่ยง ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษาให้กลุ่มข้าพเจ้าและกลุ่มนายสุธรรมฯ โอนหุ้นที่แต่ละคนถืออยู่ใน บริษัทต่าง ๆ จํานวน 19 บริษัท โดยนําหุ้นมารวมกันแล้วแบ่งหุ้นคนละ 1 ส่วนใน 10 ส่วน สาหรับบริษัท จำนวน 19 บริษัทน้ัน เกือบทั้งหมดปัจจุบัน ไม่ได้ประกอบการ จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตนและครอบครัว
2.ศาลฎีกาไม่ได้มีคำพิพากษาว่าหุ้นใน บมจ. ผลิตภณัฑ์อาหารกว้างไพศาล ที่ตนและครอบครัวมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น เป็นกงสีที่ต้องโอนคืนให้แก่นายสุธรรมฯ กับพวกที่เป็นโจทก์ ดังนั้น ตนและครอบครัวจึงยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท
3.สำหรับที่ดินตามฟ้องทั้งหมดในจังหวัดตรังและที่กรุงเทพมหานคร ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ยกคำขอที่นายสุธรรมฯ กับพวก ขอให้นายสุรินทร์ฯ กับพวก จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด และเมื่อศาลฎีกามีคาพิพากษายืนตามคาพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นผลให้ที่ดินตามฟ้องไม่ใช่ที่ดินกงสีที่นายสุธรรมฯกับพวกที่เป็นโจทก์จะใช้สิทธิอ้างความเป็นเจ้าของได้ ดังนั้นเนื้อหาจาการแถลงข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามคําพิพากษาศาลฎีกา
4. จุดเริ่มต้นข้อพิพาทเกิดจากการที่ข้าพเจ้าและผู้บริหารบริษัทไม่ยินยอมให้บุคคลกลุ่มหน่ึง แสวงหาประโยชน์จากบมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล ได้มีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาให้บุคคลและนิติบุคคลที่ร่วมกันแสวงหาประโยชน์ดังกล่าวชดใช้เงินให้แก่บริษัท ซึ่งข้าพเจ้าและผู้ถือหุ้นยัคงติดตามว่าคณะกรรมการของบริษัทชุดปัจจุบัน จะรักษาผลประโยชน์ของบริษัท โดยดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคาพิพากษาหรือไม่
5. ตลอดระยะเวลาที่มีข้อพิพาท แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นคุณกับข้าพเจ้าและครอบครัวหลายคดีข้าพเจ้าไม่เคยแถลงข่าวให้ร้ายบุคคลในสกุลโตทับเที่ยง ตลอดชีวิตการทำงานของข้าพเจ้า มีความตั้งใจ ทำคุณประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นจังหวัดตรัง
“การให้ข่าวของข้าพเจ้าในคร้ังน้ีไม่ได้มุ่งประสงค์ที่จะตอบโต้นายสุธรรมฯ กับพวก แต่ต้องการให้สื่อมวลชนได้ทราบข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาถูกต้องครบถ้วน”