เปิด 10 ข้อมูล ‘แรงงานไทย’ ยุควิกฤติของแพง-ค่าแรงถูก

เปิด 10 ข้อมูล ‘แรงงานไทย’  ยุควิกฤติของแพง-ค่าแรงถูก

เปิด 10 ข้อมูล - ผลสำรวจแรงงานไทย ยุคปัจจุบันที่ข้าวของแพง แต่ค่าแรงขั้นต่ำยังไม่เพิ่มขึ้น พบแรงงานส่วนใหญ่ยังขาดหลักประกันทางรายได้ 99% ของแรงงานมีหนี้สิน 31.1% หันกู้หนี้นอกระบบ และมีภาระต้องนำเงินรายได้ 17% ไปใช้หนี้สิน แรงงานในภาคบริการยังห่วงเรื่องตกงาน

วันที่ 1 พ.ค.ของทุกปี ตรงกับวันแรงงานสากล ที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยจะได้ระลึกถึงความสำคัญของแรงงานที่เป็นส่วนสำคัญของประเทศ มีส่วนในการสร้างเศรษฐกิจและสังคม สร้างชาติให้มีการพัฒนารุ่งเรืองด้วยหยาดเหงื่อ ความรู้ ความสามารถ และทักษะที่มี 

ในปี 2565 ข้อเรียกร้องของแรงงานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับค่าครองชีพ และรายได้ทั้งการเรียกรองขอให้รัฐบาลเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และขอให้ดูแลค่าครองชีพไม่ให้ปรับสูงขึ้นจนเกินไป 

อย่างไรก็ตามในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นมาหลายปี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่แรงงานไทยต้องเผชิญในยุคที่เรียกว่า "ข้าวของแพง ค่าแรงถูก"พราะค่าแรงที่แรงงานส่วนใหญ่ได้รับมักไม่พอต่อการดำรงชีพ ขณะที่ข้อมูลที่ "กรุงเทพธุรกิจ" รวบรวมจากเอกสารข้อมูลร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และ  และผลสำรวจเกี่ยวกับแรงงานไทย ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระหว่างวันที่ 18 – 24 เม.ย.2565 โดยเป็นการสำรวจแรงงานทั่วประเทศ  สามารถรวบรวมข้อมูลจำนวน

10 ข้อของแรงงานไทยซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ 

1.Gen Y จะเป็นกลุ่มแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ ประชากรวัยแรงงานส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีบทบาทโดดเด่นในอนาคตจะเป็นกลุ่มประชากรเจนเนอเรชั่นวายที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2523 – 2543 ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล และมีทัศนคติและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากคนรุ่นก่อน โดยมีคุณลักษณะในการปรับตัวในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เน้นความยืดหยุ่นและความสมดุล ระหว่างการท างานและการใช้ชีวิตส่วนตัว เพื่อตอบสนองความต้องการและความสนใจของตนมากกว่า

2.แรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ มีสัดส่วนที่สูงถึง 53.7% ของแรงงาน ทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและผู้ที่ทำงานอิสระเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เป็นครั้งคราว รวมทั้งสถานการณ์โควิดทำให้รูปแบบการทำงานปรับเปลี่ยนไป

3.แรงงานภาคเกษตรไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น มีความเสี่ยงมากขึ้นจาก ภัยพิบัติธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง อุทกภัย และวาตภัย รวมถึงการระบาดของโรคที่เกิดกับพืชและสัตว์ ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรที่เกิดจากการผลิตสินค้าตามฤดูกาลและเศรษฐกิจโลก

4.แรงงานไทยจำนวนมากขาดหลักประกันทางรายได้ ในปี 2563 มีจำนวนแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมหรือสวัสดิการของรัฐจำนวน 22 ล้านคน (57%ของแรงงานทั้งหมด) แรงงานกลุ่มนี้ขาดแคลนหลักประกันทางรายได้เมื่อต้องเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือว่างงาน แม้ว่าแรงงานนอกระบบจะมีทางเลือกในการเข้าร่วมระบบการออม เพื่อการเกษียณภาคสมัครใจที่ภาครัฐร่วมจ่ายสมทบเพื่อช่วยสร้างหลักประกันทางรายได้ ในวัยสูงอายุ แต่มีผู้เข้าร่วมเพียง 35% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด

5. 99% ของแรงงานไทยมีหนี้สิน จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ผลสำรวจของ ม.หอการค้าฯล่าสุดพบว่า 99% ครัวเรือนของแรงงานไทยในปัจจุบันมีหนี้สินโดยหนี้สินจำนวนนี้เพิ่มขึ้นมาตามลำดับตั้งแต่ปี 2562 – 2565 จาก 95% มาเป็น 99% ในปีล่าสุด โดยสัดส่วนของการกู้ยืมแบ่งเป็นหนี้ในระบบ 68.9% และหนี้นอกระบบ 31.1%

 

6.แรงงานไทยใช้เงินรายได้ 17% ไปจ่ายหนี้รายเดือน จากผลการสำรวจของ ม.หอการค้าฯพบว่าค่าใช้จ่ายรายเดือนของแรงงานไทยในปัจจุบันมีรายการค่าใช้จ่ายในส่วนที่สูงที่สุดคือภาระการผ่อนจ่ายหนี้สิน รวมผ่อนสินค้า/ยานพาหนะ คิดเป็นสัดส่วน 17.4%ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด รองลงมาคือค่าอาหารและเครื่องดื่ม 16.3% ค่าเลี้ยงดูบุตรหลาน รวมถึงการจ่ายค่าเล่าเรียน 12.7 %ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

7.แรงงานไทย 67.7% ไม่มีเงินออม ผลสำรวจของม.หอการค้าฯพบว่า แรงงานไทยส่วนใหญ่ ในสัดส่วนประมาณ 67.7% ไม่มีการออมเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ส่วนแรงงานที่มีเงินออมที่มีอยู่ 32.3% เป็นแรงงานที่มีเงินออม แต่เงินออมของแรงงานในปี 2565 อยู่ที่เฉลี่ย 601.5 บาทต่อคนต่อเดือน ลดลงจากปี 2564ที่แรงงานมีการออมเงินเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 896.93 บาทต่อคนต่อเดือน

8.แรงงานไทยส่วนใหญ่มีเงินออมรองรับการตกงานได้ 3 เดือน แรงงานส่วนใหญ่ 76.7% ให้ข้อมูลว่าจากเงินออมที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่เกิน 3 เดือนหากต้องออกจากงาน ส่วนอีก 17.3% บอกว่าจะดำเนินชีวิตได้ 4 – 6 เดือน และที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ 10-12 เดือน นั้นมีเพียง 3% ของแรงงานทั้งหมดเท่านั้น

9.แรงงานไทยห่วงเรื่องเศรษฐกิจ และราคาสินค้าในอนาคต ผลสำรวจของม.หอการค้าฯพบว่าประเด็นที่แรงงานไทยให้ความเป็นห่วงหรือมีความกังวลใจมากที่สุดในขณะนี้คือเรื่องของเศรษฐกิจ โดยมีแรงงานที่แสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้ถึง 55% และที่กังวลเรื่องของราคาสินค้าในอนาคตมีกว่า 50% โดยต้องการให้รัฐบาลรีบแก้ไขในเรื่องนี้เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องค่าครองชีพ 

10.แรงงานไทยในภาคบริการ และร้านอาหารยังกังวลว่าจะตกงาน ในปี 2565 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากโควิด -19 การจ้างงานต่างๆเริ่มกลับมาปกติมากขึ้น แต่จากผลสำรวจแรงงานพบว่าแรงงานภาคบริการ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว ยังมีความเห็นว่าตนเองมีโอกาสในการ ตกงานปานกลางถึง มากที่สุด ในสัดส่วน 65%