Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 2 May 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 2 May 2022

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังความต้องการใช้น้ำมันจีนถูกกดดันจากมาตรการล็อคดาวน์ ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบรัสเซียมีแนวโน้มลดลง จากมาตรการคว่ำบาตร

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 100-110 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 104-114 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล                

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 2 May 2022

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (2-6 พ.ค. 65)

ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ต่อเนื่องที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และการปิดบางพื้นที่ในกรุงปักกิ่ง เพื่อให้ประชาชนเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงหนุนจากปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรัสเซีย ที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเนื่องจากผู้ซื้อกังวลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ตลาดจับตานโยบายการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคพลัสในการประชุมวันที่ 5 พ.ค. โดยตลาดคาดว่าทางกลุ่มโอเปคพลัสจะยังคงการเพิ่มกำลังการผลิตตามแผนเดิม  
             

 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

-  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในจีนยังคงรุนแรง หลังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดรัฐบาลจีนประกาศล็อคดาวน์และให้ประชาชนราว 22 ล้านคนในเมืองเฉาหยาง กรุงปักกิ่งเข้ารับการตรวจหาเชื้อ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธนาคารกลางจีนจึงมีแผนที่จะเพิ่มมาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งไปที่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการมาตรการล็อคดาวน์ ขณะเดียวกันจีนจะส่งเสริมการพัฒนาตลาดการเงินให้แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

-  กระทรวงเศรษฐกิจรัสเซีย (Economy Ministry) คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันของรัสเซียในปี 65 มีแนวโน้มปรับลดลงราว 17% แตะระดับ 433.8 – 475.3 ล้านตันต่อปี (8.7 – 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ที่ 524 ล้านตัน เนื่องจากหลายชาติบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ทำให้ผู้ซื้อหลายรายหลีกเลี่ยงการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย เนื่องจากกังวลผลกระทบ โดยปริมาณการผลิตน้ำมันรัสเซียเริ่มลดลงในเดือน มี.ค. 65 และลดลงกว่า 7.5% ในช่วงกลางเดือน เม.ย. 65 

-  ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรัสเซียมีแนวโน้มลดลง หลัง Exxon Mobil ประกาศ Force majeure ที่โครงการ Sakhalin-1 เพราะประสบปัญหาในการหาเรือบรรทุกน้ำมันและประกันภัยเรือ เนื่องจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย โดยโครงการ Sakhalin-1 ส่งออกน้ำมันราว 273,000 บาร์เรลต่อวัน ไปยังเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นต้น
 

- ตลาดน้ำมันดิบยังได้แรงหนุนจากอุปทานที่ตึงตัว เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและชาติพันธมิตร หรือกลุ่มโอเปคพลัส ยังคงประสบปัญหาในการเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้า ขณะที่ตลาดคาดว่าการประชุมกลุ่มโอเปคพลัสในวันที่ 5 พ.ค. ทางกลุ่มยังคงเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน มิ.ย. ตามแผน ที่ระดับ 432,000 บาร์เรลต่อวัน โดยหลายฝ่ายคาดว่ากลุ่มโอเปคพลัสจะปฏิเสธการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามข้อเรียกร้อง ล่าสุดความร่วมมือในการลดกำลังการผลิต (OPEC+ Compliance) ในเดือน มี.ค. อยู่ที่ระดับ 157% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ ที่ 132% ตามรายงานของรอยเตอร์ 

- ท่อส่งน้ำมัน Caspian pipeline consortium หรือ CPC กลับมาดำเนินการเต็มกำลังอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้คาซัคสถานเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันดิบได้อีกครั้ง หลังได้รับความเสียหายจากพายุก่อนหน้านี้ โดยท่อส่งน้ำมัน CPC เป็นท่อขนส่งน้ำมันราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (1-2% ของกำลังการผลิตน้ำมันโลก) จากแหล่งผลิตในคาซัคสถาน และรัสเซีย ซึ่งส่งออกไปยัง Novorossiysk-2 บริเวณทะเลดำ 

- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลัง Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2 แท่น แตะระดับ 695 แท่น ณ สัปดาห์สิ้นสุด 22 เม.ย. นับเป็นการเพิ่มขึ้น 5 สัปดาห์ต่อเนื่อง สอดคล้องกับกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ที่คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.0 – 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันดิบรัสเซียที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร 

- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน เม.ย. ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯที่จะตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งตลาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยราว 0.5%  

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 – 29 เม.ย. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 6.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 104.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 7.02 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 109.34 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 105.29 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากราคาได้รับแรงกดดันจากการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ในจีน ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด อย่างไรก็ตามตลาดยังคงกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบที่อาจจะตึงตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร