ปศุสัตว์เร่งหาแนวทางลดต้นทุนผลิต ‘ฉุด’ ราคาหมู

ปศุสัตว์เร่งหาแนวทางลดต้นทุนผลิต ‘ฉุด’ ราคาหมู

“ปศุสัตว์เข้มคุมโรคหมูในวงจำกัด เน้นยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงปลอดโรค ร่วมหาแนวทางลดต้นทุนการผลิต และแก้ไขราคาหมูในระยะยาว”

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์คุมสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในวงจำกัด สำรวจจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและจำนวนสุกร เร่งช่วยเหลือเกษตรกรสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตและแก้ปัญหาราคาหมูในระยะยาว นั้น

กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถควบคุมสถานการณ์โรค ASF ได้ในวงพื้นที่จำกัด

จากการสำรวจข้อมูลจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและข้อมูลประชากรสุกรในช่วงเมษายน 2565 ในประเทศไทย พบว่า

  • มีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 109,942 ราย
  • มีสุกรทั้งหมด 10,296,405 ตัว

- สุกรแม่พันธุ์ คงเหลือในระบบการผลิตจำนวน 1,055,499 ตัว จังหวัดที่มีจำนวนสุกรมากที่สุด คือ

  1. ราชบุรี
  2. ลพบุรี
  3. ชัยนาท
  4. บุรีรัมย์
  5. ปราจีนบุรี ตามลำดับ

- สุกรขุน จำนวน 9,005,141 ตัว จังหวัดที่มีจำนวนสุกรมากที่สุด คือ

  1. ราชบุรี
  2. กาญจนบุรี
  3. สุพรรณบุรี
  4. ลพบุรี
  5. พัทลุง ตามลำดับ

ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าจำนวนแม่พันธุ์ในระบบการผลิตค่อนข้างไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ยังเป็นแรงจูงใจในการเลี้ยงสุกร สำหรับจำนวนสุกรขุนลดลง เนื่องจากหลายปัจจัยด้านต้นทุนการเลี้ยงทั้งค่าพันธุ์ ค่าอาหารสัตว์ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมัน ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่มีผลต่อการเลี้ยงสุกร โดยเมื่อนำมาคิดเป็นผลผลิตสุกรขุนที่ออกสู่ตลาดเฉลี่ยเดือนละ 1.5 ล้านตัว (เฉลี่ย 6 เดือน) ซึ่งยังเพียงพอต่อความต้องการตลาดเพื่อการบริโภคในประเทศ ที่คาดการณ์ไว้เดือนละประมาณ 1.50 ล้านตัว 

สำหรับประเด็นแนวทาง ลดต้นทุนอาหารสัตว์ ล่าสุดวันนี้ (2 พ.ค.65) คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และคณะกรรมการนโยบายอาหาร มีข้อสรุปเพื่อดูแลปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอภายในประเทศและการผลิตอาหารสัตว์ โดยให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้สะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น และส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มาชดเชยส่วนที่ขาดในปัจจุบัน ยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิมกำหนดไว้ใน 3 เดือน คือ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565 ในการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนเป็นการชั่วคราวก่อน เพิ่มโควต้านำเข้าข้าวโพดจากเดิมกำหนดไว้ 54,700 ตัน เป็นไม่เกิน 600,000 ตัน และจะมีผลให้ลดภาษีนำเข้าข้าวโพดจากอัตรา 20% เป็น 0% เป็นการชั่วคราว ส่วนการนำเข้าช่องทางอื่นๆ ตามปกติ กระทรวงพาณิชย์จะช่วยจับคู่ธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอในประเทศ โดยสามารถนำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ทั้งหมดข้างต้น มีปริมาณรวมกันไม่เกิน 1,200,000 ตัน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึง 31 กรกฎาคม 2565 เพื่อชดเชยส่วนที่ยังขาดให้มีเหลือพอใช้หนึ่งเดือน และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ฝ่าย เพื่อติดตามประเมินการผลดำเนินการทั้งหมดและสามารถเสนอให้ทบทวนหรือปรับปรุงมาตรการเพื่อความเหมาะสม

​อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวได้ให้ปศุสัตว์ทุกพื้นที่เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรในการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาการเลี้ยงสุกรให้มีระบบปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อควบคุมโรคและลดผลกระทบความเสียหาย และได้ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือทำโครงการ Lanna Sand Box เป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่นำร่องในระบบบริหารจัดการการเลี้ยงสุกรให้ปลอดจากโรค ASF ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนการผลิตสุกรให้เพียงพอต่อการบริโภคในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภายใต้ระบบมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มสุกรและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมปศุสัตว์ได้กำหนดแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรสามารถนำสุกรกลับมาเลี้ยงใหม่ได้อย่างยั่งยืน และมีแผนการเพิ่มผลผลิตสุกรพันธุ์ดีเพื่อจำหน่ายให้แก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะรายย่อย-รายเล็กอีกด้วย ทั้งนี้หากต้องการข่าวสารเพิ่มเติม หรือ พบสุกรที่สงสัยว่าป่วยหรือตายด้วยโรคระบาด หรือด้วยอาการผิดปกติไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือผ่านทางแอพพลิเคชั่นมือถือ “DLD 4.0” หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 063 225 6888 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง