ททท.เร่งปั๊มเครื่องยนต์ “ท่องเที่ยว” ชูซอฟท์เพาเวอร์ “5F” พร้อมลุยโรดโชว์

ททท.เร่งปั๊มเครื่องยนต์ “ท่องเที่ยว” ชูซอฟท์เพาเวอร์ “5F” พร้อมลุยโรดโชว์

“ททท.” เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวเต็มสูบ ดันซอฟต์เพาเวอร์ “5F” ฟู้ด-แฟชั่น-ฟิล์ม-ไฟต์ (มวยไทย)-เฟสติวัล พร้อมนำทัพเอกชนร่วมงานโรดโชว์-เทรดโชว์ทั่วโลก หวังสร้างรายได้ปี 65 แตะ 1.3-1.8 ล้านล้าน เผยสถิติต่างชาติเที่ยวไทย 1 ม.ค.-25 เม.ย. ยอดสะสม 7.1 แสน มากกว่า 64 ทั้งปี

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้หารือกับภาคเอกชนท่องเที่ยว ภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติผ่อนปรนมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ยกเลิกระบบ Test & Go มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

เปรียบเสมือน "การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบเต็มรูปแบบ" เพื่อทำแผนกระตุ้นการท่องเที่ยว กำหนดกรอบการทำงานและเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 ให้เป็นไปตามเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ที่จำนวน 5-15 ล้านคน เมื่อรวมกับรายได้ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศตามเป้าหมาย 160 ล้านคน-ครั้ง จะสร้างรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศตลอดปีนี้ที่ 1.3-1.8 ล้านล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ภาคท่องเที่ยวไทยต้องสู้กับความท้าทายรอบด้าน ทั้งประเทศคู่แข่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดุเดือดและเข้มข้น รวมถึงปัจจัยเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในระยะฟื้นตัว มีเรื่องของสถานการณ์เงินเฟ้อ การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลต่อการปรับขึ้นของราคาสินค้าบางชนิด นอกจากนี้ค่าครองชีพในประเทศสูงขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวประสบปัญหาต้นทุนการให้บริการสูงขึ้นเนื่องจากภาวะแย่งชิงแรงงาน ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ

“ททท.จึงตั้งเป้านำนักท่องเที่ยวคุณภาพในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย.นี้ เข้ามาไม่น้อยกว่าเดือนละ 3 แสนคน ขณะที่ไฮซีซั่น ต.ค.-ธ.ค. ตั้งเป้านำนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ล้านคน โดยเตรียมนำภาคเอกชนท่องเที่ยวออกโรดโชว์ทั่วโลก เป็นการเดินหน้าส่งเสริมการขายในตลาดที่สำคัญทั้งระยะใกล้และระยะไกลอย่างเข้มข้น”

 

ชูซอฟต์เพาเวอร์5Fดึงต่างชาติเที่ยวไทย

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนกลยุทธ์การตลาดต่างประเทศปี 2565 ททท.เตรียมพลิกโฉมการท่องเที่ยวสู่มิติใหม่ โดยวางกลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยการสร้างคุณค่าและประสบการณ์การท่องเที่ยวมิติใหม่จากสินค้าท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น แตกต่างจากคู่แข่ง ผ่านวัฒนธรรมความเป็นไทยหรือ “ซอฟต์เพาเวอร์” (Soft Power

โดยกำหนดสินค้าท่องเที่ยว “5F” ได้แก่ Food วัฒนธรรมการกิน อาทิ ข้าวเหนียวมะม่วง, Fashion แฟชั่นเครื่องแต่งกายแบบไทย, Film ภาพยนตร์หรือซีรีส์, Fight มวยไทย และ Festival การละเล่นในเทศกาลที่สำคัญ

 

บุก5ตลาดเป้าหมาย“เอเชีย-โอเชียเนีย”

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า ททท.จะบุก 5 ตลาดเป้าหมายของตลาดระยะใกล้ ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งมีการอนุญาตให้เที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศกลับมาทำการบินได้ตามปกติ มีการยกเลิกมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ไม่ต้องมีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ก่อนเดินทาง สำหรับผู้ได้รับวัคซีนแล้ว และไม่ต้องกักตัวเมื่อกลับมาถึง และไม่ต้องมีประกันการเดินทางเป็นหลักฐานในการเดินทางเข้าประเทศ โดยภาคเอกชนได้เสนอให้เพิ่มน้ำหนักในการทำตลาดบังคลาเทศและปากีสถาน

ทั้งนี้ ททท.เตรียมนำเอกชนท่องเที่ยวเข้าร่วมงานเทรดโชว์ส่งเสริมการขายระดับนานาชาติ (International Trade Shows) ในภูมิภาค ปีนี้แบบ B2B เพื่อสร้างการรับรู้ ความเชื่อมั่น และยอดขาย อาทิ งาน SATTE ประเทศอินเดีย วันที่ 18-20 พ.ค. งาน Thai Travel Mart Plus 2022 วันที่ 8-10 มิ.ย. ณ โรงแรมอังสนา ลากูน่า ภูเก็ต และงาน ITB Asia 2022 ประเทศสิงคโปร์ วันที่ 19-21 ต.ค.

ด้านกิจกรรมส่งเสริมตลาดแบบ B2C ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทำโปรโมชั่นร่วมกับสายการบิน ทัวร์โอเปอเรเตอร์ ทัวร์เอเย่นต์ และบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTAs : Online Travel Agents) ครอบคลุมตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness) กลุ่มพักผ่อนทั่วไป (Leisure) กลุ่มกอล์ฟ กลุ่มคู่แต่งงาน กลุ่มดิจิทัลนอแมด กลุ่มครอบครัว กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) กลุ่มขับรถหรู (Luxury Car) และกลุ่มปั่นจักรยาน

 

ดึงทัวริสต์ “ใช้จ่ายเวลา” ซึมซับประสบการณ์ใหม่

นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ททท. กล่าวว่า ในวาระที่ปี 2565 เป็นปีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย หรือ “Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters” ททท.ตีโจทย์คำว่า New Chapters คือการเฟ้นหาวิธีใหม่ๆ ในการทำตลาดดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้แนวคิด “Time is The New Currency”

ด้วยการเจาะกลุ่มที่ต้องการใช้จ่ายเวลาในประเทศไทย เพื่อซึมซับประสบการณ์ใหม่จากการท่องเที่ยว ได้ใช้เวลาตามใจตัวเองเพื่อทำสิ่งที่มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่ม Bleisure หรือทำงานไปด้วยเที่ยวไปด้วย กลุ่ม Remote Workers กลุ่มมิลเลนเนียลส์ กลุ่มครอบครัวและเด็ก กลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ และต้องการประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบลักชัวรี กลุ่มท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เน้นสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวในท้องถิ่น กลุ่มเกษียณอายุ และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

ลุยโรดโชว์-เทรดโชว์ตลาดระยะไกล

ทั้งนี้ ททท.มีแผนร่วมงานส่งเสริมการขายสำคัญๆ ที่เคยทำ อาทิ งาน ILTM Latin America วันที่ 3-6 พ.ค. ที่กรุงเซาเปาโล บราซิล มีกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวระดับลักชัวรี, งาน German Virtual Mart วันที่ 11-12 พ.ค. เป็นงานรูปแบบออนไลน์ เป้าหมายคือนักท่องเที่ยวกลุ่มเลเชอร์, งาน ATM 2022 และ Amazing New Chapters Roadshow to The Kingdom of Saudi Arabia วันที่ 9-12 พ.ค. และ 15-17 พ.ค. ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย เป้าหมายคือนักท่องเที่ยวกลุ่มเลเชอร์

งาน EDGE Travel Leaders Network 2022 วันที่ 12-15 มิ.ย. ที่เมืองออโรรา รัฐโคลาราโด สหรัฐ เป้าหมายคือนักท่องเที่ยวกลุ่มเลเชอร์, งาน Proud Experiences 2022 Trade Show วันที่ 27-29 มิ.ย. ที่นิวยอร์ก สหรัฐ เป้าหมายคือกลุ่ม LGBTQ+, งาน Amazing Thailand Roadshow to Denmark & Sweden 2022 วันที่ 22-25 ส.ค. ที่เดนมาร์กและสวีเดน เป้าหมายคือนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวและมิลเลนเนียลส์, งาน ILTM North America วันที่ 19-22 ก.ย. ที่เม็กซิโก เป้าหมายคือนักท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรี และปิดท้ายด้วยงานเทรดโชว์ใหญ่ WTM London 2022 วันที่ 7-9 พ.ย. ที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร เป้าหมายคือกลุ่มเลเชอร์

 

ย้อนรอย 14 เดือนผ่อนคลาย ‘เปิดประเทศ’

นายยุทธศักดิ์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่รัฐบาลไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยรวม 427,869 คน โดยช่วง 6 เดือนแรก ม.ค.-มิ.ย. เปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยงต่ำที่ขอวีซ่าประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa : STV) กักตัว 14 วัน มี 40,447 คน เดือน ก.ค. ซึ่งเป็นเดือนแรกของการเปิดโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และ “สมุย พลัส โมเดล” พำนักในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ 14 วัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 18,056 คน

เดือน ส.ค. ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และส่วนขยาย (7+7 วัน) ไปยังพื้นที่กระบี่และพังงา มีนักท่องเที่ยว 15,105 คน เดือน ก.ย. มี 12,237 คน ก่อนที่เดือน ต.ค.จะมีการลดระยะเวลาพำนักในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์เหลือ 7 วัน มีนักท่องเที่ยว 20,272 คน

กระทั่งเดือน พ.ย. รัฐบาลเดินหน้านโยบาย “เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” เปิดให้นักท่องเที่ยวลงทะเบียนผ่านระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) พร้อมรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go จำกัดประเทศต้นทาง และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เมื่อมาถึง พบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 91,255 คน เพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่าในเดือน ธ.ค. เป็น 230,497 คน ก่อนการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะทำให้กระแสการเดินทางสะดุด รัฐบาลจำเป็นต้องระงับการลงทะเบียนนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go ชั่วคราว ตั้งแต่ 22 ธ.ค.2564-31 ม.ค.2565

 

ทัวริสต์เที่ยวไทยสะสม 7.13 แสนคน

เข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2565 แม้จะมีการระงับลงทะเบียน Test & Go แต่นักท่องเที่ยวที่ลงทะเบียนไว้แล้วยังคงเดินทางเข้าไทยในเดือน ม.ค. 133,903 คน และเมื่อรัฐบาลกลับมาเปิดระบบลงทะเบียน Test & Go รอบใหม่ 1 ก.พ. กำหนดให้ตรวจ RT-PCR 2 ครั้งในวันแรกและวันที่ 5 ทำให้ตลอดเดือน ก.พ. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 152,954 คน

ก่อนที่เดือน มี.ค. ปรับการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 เป็นวิธี Self-ATK มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 210,836 คน และ 1-25 เม.ย. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 215,490 คน หลังยกเลิกแสดงผลตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง เริ่ม 1 เม.ย. ทำให้ตั้งแต่ 1 ม.ค.-25 เม.ย. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยสะสม 713,183 คน มากกว่าจำนวนตลอดทั้งปี 2564

และจากข้อมูลนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย ณ วันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา รวบรวมจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และระบบไทยแลนด์พาส  มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยสะสมช่วงเกือบ 6 เดือน นับตั้งแต่เปิดรับนักท่องเที่ยว Test & Go วันที่ 1 พ.ย.2564 - 26 เม.ย.2565 จำนวน 1,030,821 คน โดย 5 อันดับแรก คือ สหราชอาณาจักร 91,692 คน เยอรมนี 90,362 คน รัสเซีย 76,598 คน สหรัฐ 65,511 คน และฝรั่งเศส 58,121 คน

ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ลงทะเบียนในระบบไทยแลนด์พาส ยอดสะสมคำขอลงทะเบียนอยู่ที่ 2,135,679 คน และมียอดผู้ได้รับการอนุมัติ 1,503,408 คน