ผลกระทบของมาตรการ “ซีโร โควิด” ต่อเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจโลก
มาตรการ “ซีโร โควิด” ของจีนกำลังส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงใน 4 มิติ 1) กระทบกำลังซื้อโลก 2) กระทบปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานให้รุนแรงขึ้น 3) ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ และ 4) กระทบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก
ขณะนี้เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญความเสี่ยงหลายอย่าง ทำให้ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างไร โดยเฉพาะจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด 19 อย่างเข้มงวด หรือมาตรการ “ซีโร โควิด” (“zero-Covid” Policy) ที่กำลังส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
จีนในฐานะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลก การเติบโตของเศรษฐกิจจีนช่วยให้เศรษฐกิจโลกคึกคักไปด้วย อย่างไรก็ตามจากมาตรการ “ซีโร โควิด” หลายเมืองกำลังถูกล็อกดาวน์ มีการประเมินว่าขณะนี้ 87 เมืองจาก 100 เมืองใหญ่สุดของจีนถูกล็อกดาวน์ในระดับใดระดับหนึ่ง รวมถึงเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เมืองท่าสำคัญ อย่างเซี่ยงไฮ้ กวางโจว เทียนจิน เสิ่นเจิ้น โดยมีประชากรมากถึง 400 ล้านคนที่ถูกควบคุมให้อยู่ในที่พักทั้งแบบเด็ดขาดหรือให้ออกจากบ้านได้บ้าง แต่โดยรวมยังไม่สามารถออกไปทำงานได้ตามปกติ
ตัวอย่างเช่น เซี่ยงไฮ้ ที่ประชากรกว่า 26 ล้านคนถูกล็อกดาวน์ บริษัทเล็กใหญ่ทั้งของจีนและข้ามชาติอย่าง Apple และ Tesla ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ
ทั้งนี้ มาตรการ “ซีโร โควิด” ของจีนกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและโลกใน 4 มิติ
1.ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคภายในของจีนหดตัวจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ส่งผลต่อการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ กระทบเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ผลิตและส่งออกสินค้าให้จีน
นักวิเคราะห์จาก Nomura Holdings ประเมินว่าการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นครอบคลุมเมืองและพื้นที่ที่มีส่วนสัมพันธ์ต่อ GDP จีนถึง 40% คิดเป็นมูลค่า GDP 7.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บทวิเคราะห์จาก Allianz Research ณ 20 เม.ย. 2565 ประเมินว่า จากมาตรการ “ซีโร โควิด” ทำให้เศรษฐกิจจีนปีนี้ขยายตัวเหลือ 4.6% ลดลงจากการประเมินในรอบเดือน มี.ค. ที่คาดว่าขยายตัว 4.9% และหา
สถานการณ์ยืดเยื้อ เซี่ยงไฮ้ถูกล็อกดาวน์อีก 2 เดือนรวมถึงเมืองใหญ่อื่นๆ ด้วย GDP ของจีนปีนี้จะขยายตัวเหลือ 3.8% และในกรณีเลวร้ายสุด คือมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ GDP หดตัวซ้ำรอยไตรมาส 1 ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่จีนเจอผู้ป่วยโควิด GDP เสี่ยงขยายตัวเพียง 1.3%
สอดคล้องกับ Nomura ที่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้จากเดิมที่คาดว่าโต 4.3% เหลือโต 3.9% โดยคาดว่าในไตรมาส 2 เศรษฐกิจอาจขยายตัวเหลือ 1.8% เท่านั้น ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะขยายตัวที่ 4.4% ทั้งหมดนี้ล้วนห่างจากที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้ (เมื่อ มี.ค. 2565) ว่าอยากให้เศรษฐกิจจีนปีนี้โตที่ 5.5% ผลของเศรษฐกิจจีนที่หดตัวกระทบคู่ค้าจีนทั่วโลก
2.กระทบปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานให้รุนแรงขึ้น ผลของการล็อกดาวน์ทำให้โรงงานในจีนหลายแห่งหยุดดำเนินงาน หยุดผลิตสินค้า ไม่มีสินค้าส่งออก ท่าเรือหลายแห่งหยุดขนส่ง ท่าเรือที่ดำเนินการขนส่งก็ทำได้ล่าช้ากว่าปกติ ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่รอชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบต้นน้ำจากจีนเสี่ยงได้รับชิ้นส่วนเหล่านั้นช้าลง การขนส่งสินค้าที่ผ่านท่าเรือของจีนเสี่ยงใช้เวลากว่าถึงปลายทางนานขึ้น
ผู้บริหารระดับสูงของ Huawei เตือนว่ามาตรการ “ซีโร โควิด” จะสร้างความเสียหายระดับร้ายแรงต่อห่วงโช่การผลิตทั่วโลก เช่น ในกรณีของเซี่ยงไฮ้ ที่เป็นที่ตั้งของบริษัทด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมจำนวนมาก หากยังต้องปิดต่อไป เสี่ยงกระทบอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นกัน ได้แก่ ของใช้ในบ้าน เสื้อผ้า แม้กระทั่งชุดชั้นใน
ทั้งนี้มีการประมาณการว่าชิ้นส่วนวัตถุดิบจากจีนที่ทั่วโลกพึ่งพาอยู่คิดเป็นมูลค่าถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 5 ประเทศที่พึ่งพามากสุด ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม อินเดีย และเยอรมนี ส่วนไทยอยู่อันดับ 8
3.ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก ปัจจุบันผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภท ตลอดจนน้ำมันและเชื้อเพลิงแพงขึ้น กระทบต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าทั่วโลกอยู่แล้ว
แต่มาตรการ “ซีโร โควิด” ของจีนที่ทำให้โรงงานในจีนถูกปิด หรือแม้ผลิตได้แต่ส่งออกไม่ได้ ทำให้โลกเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบที่จีนเป็นเจ้าตลาด ซ้ำเติมต้นทุนการผลิตสินค้าทั่วโลกให้แพงขึ้น
Allianz Research ประเมินว่า เฉพาะจากปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานจากมาตรการ “ซีโร โควิด” ในจีนอย่างเดียว จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาและยุโรปไตรมาส 3 ปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 0.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยังไม่นับปัจจัยอื่นๆ
4.กระทบอุตสาหกรรมการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ มาตรการ “ซีโร โควิด” ทำให้รัฐบาลจีนจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศของชาวจีน เพื่อลดความเสี่ยงนำเข้าผู้ติดเชื้อใหม่ มีการประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หายไปคิดเป็นเม็ดเงินมากถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งก่อนโควิดเป็นจุดหมายที่นิยมของชาวจีนได้รับผลกระทบมากสุด ซึ่งแน่นอนรวมถึงไทยด้วย
ทั้งนี้แม้การเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกเริ่มกลับมา จากการที่หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่การขาดนักท่องเที่ยวจีนไป ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับไปสู่จุดเดิมก่อนเกิดโควิดลำบาก ทั้งนี้ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือออสเตรเลีย ที่แต่เดิมได้รายได้จากนักศึกษาจีนจำนวนมาก ขณะนี้ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการ “ซีโร โควิด” ไปด้วย
การหดตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการ “ซีโร โควิด” เป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งนอกจากเหตุผลเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ธนาคารโลกและ IMF ปรับลด GDP คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ลง จาก 4.1% เหลือ 3.2%
อ้างอิงจาก National Bureau of Statistics ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนขยายตัว 4.8% อย่างไรก็ตามในแถลงการณ์ ได้ระบุถึงความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนในอนาคต ที่มีโอกาสผันผวนสูง ทั้งนี้ไม่ใช่จากมาตรการ “ซีโร โควิด” อย่างเดียว แต่จากปัญหาอื่น เช่น วิกฤตหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่แต่เดิม ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของจีน
สำหรับประเทศไทย เราเสี่ยงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนในทุกมิติที่กล่าวข้างต้น เนื่องจากเราส่งสินค้าไปจีนมาก ทั้งพึ่งพาสินค้าประเภทวัตถุดิบจากจีนสูง ตลอดจนพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนคิดเป็นสัดส่วนสำคัญ ทั้งหมดนี้ทำให้ไทยหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้อย่างแน่นอน
มาตรการ “ซีโร โควิด” และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ รัฐบาลและผู้ประกอบการไทยจึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด