ฝากภารกิจ "ผู้ว่าฯ กทม." คนใหม่ ยกระดับ "กรุงเทพฯ" แชมป์เมืองท่องเที่ยวโลก!
ด้วยชื่อเสียงของประเทศไทย และ “กรุงเทพฯ" มหานครที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนมากที่สุดในโลก! จะรักษาจุดแข็งนี้อย่างไร ในฐานะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ท่ามกลาง “คู่แข่ง” ที่พร้อมช่วงชิงขุมทรัพย์นักท่องเที่ยวทั่วโลกหลังโควิด-19 ที่นานาประเทศทยอย “เปิดเมือง” ต้อนรับการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง
ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ผลสำรวจของมาสเตอร์การ์ด พบว่า มีชาวต่างชาติมาเยือนและพักค้างคืนในกรุงเทพฯ ราว 22.78 ล้านคนในปี 2561 สะท้อนว่า "กรุงเทพฯ" คือเมืองสุดยอดจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลกที่นักท่องเที่ยวต้องการมาเยือนและพักแรมมากที่สุด เป็นการครองอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 6 ปี นับจากปี 2555 และเป็นการครองอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
ในจังหวะที่มหานครกรุงเทพ กำลังนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง "พ่อเมือง" คนใหม่ วันที่ 22 พ.ค. นี้ ภาคเอกชนท่องเที่ยว บริการ และไมซ์ (MICE : การจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ต่างฝาก “การบ้าน” ถึง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่” ว่ายังมีโจทย์หินด้านท่องเที่ยวและบริการให้ต้องแก้อีกมาก เพื่อยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็น “เมืองน่าเที่ยว” ในทุกๆ มิติ!
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า “กรุงเทพฯ” เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก ที่ผ่านมาอาจพึ่งบริบทหรือจุดขายหลักเรื่อง “ความหลากหลาย” แต่ในมุมผู้ประกอบการโรงแรมมองว่าสามารถพัฒนากรุงเทพฯได้มากกว่านี้!
“ที่ผ่านมายังไม่เห็นภาพชัดเจนว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมภาคท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง จึงอยากเห็นการเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการตลาด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการโปรโมทดึงนักท่องเที่ยวมากกว่านี้”
ส่วนแนวทางสำคัญอื่นๆ ที่ต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เข้ามาลงมือทำอย่างเร่งด่วนคือ “การพัฒนาภาคท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ด้วยการช่วยกันสร้างทั้งองคาพยพและระบบนิเวศ สร้างสมดุลระหว่างดีมานด์กับซัพพลาย นอกจากนี้ “สิ่งแวดล้อม” เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากๆ เช่นกัน โดยเฉพาะปัญหามลพิษ (Pollution) ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางและความประทับใจขณะเดินทางของนักท่องเที่ยว
“จริงๆ แล้วกรุงเทพฯมีวัฒนธรรมในเมืองหรือ Urban Culture ที่ดีมาก เพราะไม่ได้มีแค่แหล่งชอปปิงและวัฒนธรรม ยังมีซอฟท์เพาเวอร์ด้านต่างๆ อย่างอาหาร รวมไปถึงโซนแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ มีแกลอรี่ศิลปะให้ได้เข้าชมกัน แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนอาจมองกรุงเทพฯเป็นเมืองทางผ่าน (By Pass) ก่อนไปเที่ยวเมืองอื่นๆ ในไทย ไม่ได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศเหล่านี้ ทั้งที่มีข้อดีจำนวนมาก”
สำหรับ “จุดอ่อน” ของกรุงเทพฯที่ไม่อยากให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม และต้องการให้ผู้ว่า กทม.คนใหม่เร่งแก้ไขคือ “ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว” รวมถึงความสะอาดของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ การบริหารจัดการความหนาแน่น (Capacity Management) ของผู้คนในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม รองรับการกลับมา “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ” อีกจุดที่ต้องการให้เร่งดำเนินการคือยกระดับการจัดระบบการเดินเรือสาธารณะเพื่อผลักดัน “การท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่งมีเสน่ห์เป็นพื้นฐาน ให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
บุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) มองว่า มองว่าปัจจุบัน “ดีเอ็นเอ” ของกรุงเทพฯยังค่อนข้างแกว่ง! เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก เช่น เมืองในประเทศญี่ปุ่นที่มี “ซิตี้ ดีเอ็นเอ” (City DNA) ชัดเจนมาก เป็นโมเดลที่สามารถนำไปต่อยอดการจัดอีเวนท์ เทศกาล และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้
ขณะที่เมืองในเกาหลีใต้ ดีเอ็นเอของเมืองเกิดจากการสร้างใหม่ เช่น ปูซาน เป็นเมืองที่มีภาพลักษณ์ชัดเจนเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ดอกผลเกิดจากการทุ่มโปรโมทงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองปูซานนานนับสิบปีจนติดตลาดโลก
“ส่วนตัวมองว่าอยากเห็นกรุงเทพฯมีดีเอ็นเอเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกาะเทรนด์สีเขียวเข้าไว้”
ไม่ว่าจะจัดงานเทศกาลหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขอให้ยึดโยงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เช่น มิติของโลว์-คาร์บอน ทำให้เป็นเมืองสะอาด เพื่อลดภาระของเมือง และอยากให้เพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาสวนสาธารณะให้เป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตของคนเมือง ดูได้จากประเทศญี่ปุ่นที่โดดเด่นเรื่องสวนสาธารณะมาก จนนักท่องเที่ยวต่างชาติบรรจุให้เป็นหนึ่งในโปรแกรมที่ต้องไปเยือน
“นี่คือโจทย์สำคัญที่อยากให้ผู้ว่าการ กทม.คนใหม่เข้ามาพัฒนา เพราะกรุงเทพฯมีต้นทุนด้านวัฒนธรรมที่ดีมากๆ อยู่แล้ว แต่ยังขาดมิติความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
ด้านศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ NCC ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากมิติสีเขียวและการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio, Circular and Green) มาพัฒนากรุงเทพฯให้เป็นเมืองน่าอยู่แล้ว ในมุมผู้บริหารธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนักธุรกิจที่เดินทางมาในประเทศไทย อยากให้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะด้าน “เทคโนโลยี” เช่น ให้บริการ ฟรี ไว-ไฟ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อผลักดันภาพลักษณ์ให้เป็น “เมืองแห่งความทันสมัย”
เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่กรุงเทพฯ ต้องมี ซึ่งจะช่วยรักษาอันดับความเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกเอาไว้!