พิษ ’น้ำมัน’ แพงดันเงินเฟ้อพุ่ง 4.65%!

พิษ ’น้ำมัน’ แพงดันเงินเฟ้อพุ่ง 4.65%!

กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 4.65% ผลกระทบจากราคาน้ำมัน ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ห่วงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียดันเงินเฟ้อพุ่งต่อ คาดการณ์ทั้งปีกรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 4-5%

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ระบุ ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 105.15 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.65% เมื่อเทียบกับ
เดือนเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรส่งผลต่อห่วงโช่อุปทานการผลิต การค้า และการขนส่ง ราคาสินค้าและบริการในประเทศจึงปรับสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม ราคาต้นทุนหรือราคาหน้าโรงงานของไทยที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิตที่สูงขึ้นถึง 12.8% ยังไม่ส่งผ่านไปยังราคาขายปลีกมากนัก เนื่องจากมาตรการของภาครัฐ และความต้องการที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19

สำหรับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคม 2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับมาตรการตรึงราคาและการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ได้สิ้นสุดลงในเดือนเมษายนและปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และการปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันไดของก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ในเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2565 รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ 

นอกจากนี้ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และพันธมิตร และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

สำหรับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ปี 2565 คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4-5% ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% โดยมีสมมติฐานจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 90-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อดอลลาร์