กรุงไทยคาด ธปท. ‘ตรึง’ ดบ.แม้เงินเฟ้อเกินเป้า

กรุงไทยคาด ธปท. ‘ตรึง’ ดบ.แม้เงินเฟ้อเกินเป้า

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย พูน พานิชพิบูลย์ ระบุ ตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างที่ตลาดได้กังวลในช่วงก่อนหน้า

โดยเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ตามคาดและประกาศแผนการลดงบดุลเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายนนี้ ก่อนจะเพิ่มอัตราการลดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในเดือนกันยายน 

นอกจากนี้ ประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปมากอย่างที่ตลาดกังวลในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ประธานเฟดระบุว่า เฟดอาจสามารถขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่เฟดให้ความสำคัญในตอนนี้

แรงหนุนจากการคลายความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นถึง +3.19% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +2.99% ซึ่งนับเป็นการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังรับรู้ผลการประชุมเฟดที่ร้อนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี

ด้านตลาดหุ้นยุโรป รายงานผลประกอบการบริษัทที่ออกมาแย่กว่าคาด และความกังวลปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีนที่อาจกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ได้กดดันให้ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลง -0.96% นำโดยหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่ส่วนใหญ่มีรายได้หลักมาจากจีน เช่น  Hermes , Kering 

ส่วนในฝั่งเอเชีย มองว่าผลกระทบจากการใช้มาตรการ Zero COVID ของทางการจีน เพื่อควบคุมการระบาดโอมิครอนจะกดดันให้ภาคการบริการซบเซาหนัก

ในส่วนของไทยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายน อาจชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนสู่ระดับ 5.4% หลังราคาสินค้าพลังงานทรงตัว ทว่าราคาอาหารส่วนใหญ่อาจปรับตัวสูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ระดับ 2.0% 
โดยคาดว่าระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย จะยังไม่กดดันให้ ธปท. ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางอื่นๆ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ายังไม่ได้กระจายเป็นวงกว้าง

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ตาม แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทยังคงอยู่ เช่น ความไม่แน่นอนของสงครามที่จะกดดันสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์อังกฤษ หากยุโรปตัดสินใจคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย หรือ รัสเซียยุติการส่งออกพลังงานไปยังยุโรป 

นอกจากนี้ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ก็มีโอกาสที่จะกดดันสกุลเงินฝั่งเอเชียและทำให้ นักลงทุนยังไม่รีบกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น EM Asia ในระยะสั้น ทำให้มองว่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์