นักเศรษฐศาสตร์หวั่น เฟดขึ้นดอกเบี้ย ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกดิ่ง

นักเศรษฐศาสตร์หวั่น เฟดขึ้นดอกเบี้ย ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกดิ่ง

นักเศรษฐศาสตร์ชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ย ลดคิวอีเป็นไปตามคาด “ซีไอเอ็มบี” จับตาเงินไหลออก เก็งกำไรพุ่ง แนะกนง.ทบทวนขึ้นดอกเบี้ย ไม่ต้องรอเศรษฐกิจฟื้นเหนือก่อนโควิด “ทีทีบี”หวั่นเงินไหลออกแรง “อีไอซี” ห่วงเฟดขึ้นดอกเบี้ยฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอ

นักเศรษฐศาสตร์หวั่น เฟดขึ้นดอกเบี้ย ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกดิ่ง       การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ที่เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา ลงมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% สู่ระดับ 0.75-1.00% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

      นอกจากนี้ เฟดมีแผนลดงบดุลหรือลดการซื้อทรัพย์สินทางการเงินในตลาดการเงินตั้งแต่ มิ.ย.ที่ 47,500 ล้านดอลลาร์ และลดต่อ ก.ค.-ส.ค.โดยมีเป้าลดอย่างน้อย 95,000 ล้านดอลลาร์ และจะลดเพิ่มขึ้นมากกว่า 95,000 ล้านดอลลาร์ใน ก.ย.เพื่อสู้แรงกดดันเงินเฟ้อที่ตัวสูงต่อเนื่องที่กระทบเศรษฐกิจสหรัฐรุนแรง

     แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า “กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงในไตรมาสแรก แต่การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ของภาคธุรกิจยังคงมีความแข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อยังคงดีดตัวขึ้น 

      นอกจากนี้ การที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เศรษฐกิจเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะทำให้ปัญหาชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานมีความรุนแรงขึ้น นอกเหนือจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน และเหตุการณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ทำให้เกิดแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มถ่วงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”

ซีไอเอ็มบีไทยชี้เทรนด์บาทยังอ่อนค่า 

   ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า กรณีที่เฟด มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.50% และลดการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือคิวอีน้อยกว่าที่ตลาดคาด สะท้อนการไม่ได้ใช้ยาแรง

      และส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป ในการทำนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า เหล่านี้ถือว่าเป็นปัจจัยที่คลายความกังวลของนักลงทุน ว่าดอกเบี้ยอาจไม่ได้เร่งแรง จนทำให้เสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

      ซึ่งหนุนให้เห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และมีเงินทุนไหลเข้าในสินทรัพย์เสี่ยงไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามแม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเงินบาทจะเปลี่ยนทิศระยะยาว

     ดังนั้นทิศทางเงินบาทอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยคาดไตรมาส 2 ปีนี้ เงินบาทอาจอ่อนค่าไปสู่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าน้อยกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า

      อย่างไรก็ตามต้องติดตามว่า เงินทุนไหลเข้าว่าจะลากยาวมากน้อยแค่ไหน เพราะวันนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากประเด็นรัสเซีย น้ำมัน เงินเฟ้อ ทำให้ตลาดเงินผันผวนต่อเนื่อง

       แต่ที่น่าห่วงคือการเก็งกำไรของต่างชาติ ที่จับตาเกี่ยวกับการตอบสนองด้านการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.ไทย เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นต้องดูท่าทีของกนง.ว่าคิดเห็นอย่างไร

      ทั้งนี้มี 4 ปัจจัยสำคัญ ที่เป็นตัวกดดันแบงก์ชาติ ในการปรับทิศดำเนินนโยบายการเงินระยะข้างหน้า ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ เงินไหลออกอย่างรวดเร็ว และเสถียรภาพตลาดการเงินสั่นคลอน

แนะขึ้นดอกเบี้ยไม่ต้องรอศก.ฟื้นเต็มที่

     นายอมรเทพ กล่าวว่า แบงก์ชาติอาจไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเหนือระดับก่อนโควิด-19 ก็ได้หากเห็นสัญญาณของเงินเฟ้อสูง เสี่ยงทำให้เกิดพฤติกรรมเก็งกำไรที่มากขึ้น และเสี่ยงทำให้ตลาดไทยมีความเสี่ยงจากเงินไหลออก

      ซึ่งหากเกิดสัญญาณความเสี่ยงที่กระทบต่อเสถียรภาพ แบงก์ชาติอาจส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปีและเร็วกว่าคาดได้

      “หากแบงก์ชาติฝืนขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อเร่งแรง เงินไหลออกแรงจนทำให้บาทอ่อนค่าแรง หรือมีพฤติกรรมเก็งกำไรจนยากที่จะควบคุมแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยแบบนี้ อาจยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยได้ และกดดันกำลังซื้อครัวเรือนให้ยิ่งแผ่ว ลามไปกระทบต่อการจ้างงานการบริโภคต่อเนื่อง”

กสิกรไทยจับตาดอกเบี้ยไตรมาส3

     ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การค่อยๆขึ้นดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้ถือเป็นการเดินอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ตลาดมั่นใจว่า ดูแลเงินเฟ้อได้ และจะเห็นเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในมิ.ย.

       ดังนั้นคาดว่า ณ สิ้นก.ค. อาจเห็นดอกเบี้ยสหรัฐไปแตะระดับ 2% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับที่เฟดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

       ทั้งนี้หากเงินเฟ้อลดลง อาจเห็นเฟดหยุดการใช้นโยบายการเงินตึงตัว อาจขึ้นดอกเบี้ยเพียงรอบเดียวในมิ.ย.นี้ หรืออาจขึ้นแค่ 0.25% หลังจากมิ.ย. แล้วจบ เพื่อสร้างความชัดเจน ในการเดินไปสู่เป้าหมายอย่างระมัดระวัง

       สิ่งที่ต้องติดตาม คือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง หลังเปิดประเทศ 1 พ.ค. ว่าตัวเลขท่องเที่ยวดีขึ้นหรือไม่ หากดีขึ้นและเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและมีสัญญาณเข้าสู่ภาวะปกติได้ ก็อาจเป็นช่องให้ กนง. กลับมาพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยได้ในไตรมาส 3 ปีนี้

     “ฟันด์โฟลด์ไม่น่าห่วง เพราะท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวครึ่งปีหลัง จะเป็นตัวตัดสินว่าบาทจะอ่อนค่าหรือแข็งค่า หากท่องเที่ยวดี บาทอาจกลับมาแข็งค่าสู่ระดับ 32.50 บาทในปลายปี จากวันนี้ที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ”

     อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างๆต้องไม่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น หลังดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของเฟด แม้จะเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวบ้าง แต่ไม่ถึงกับทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย ไม่เช่นนั้นนโอกาสการกลับมาขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ในปีนี้อาจต้องเปลี่ยนอีก

ทีทีบีหวั่นเงินไหลออก

     ดร.นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และการลดคิวอีถือว่าบริหารความคาดหวังตลาดได้ดี แม้จะไม่ได้แรงเหมือนตลาดคาด

    แต่มองไปถึงสิ้นปีนี้ คาดว่าดอกเบี้ยสหรัฐก็ยังคงขึ้นไปสู่ระดับ 2.50% ดังนั้นก็สะท้อนว่าเฟดยังไม่เปลี่ยนทิศในการดำเนินนโยบายการเงิน

     ดังนั้นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยสหรัฐ ที่ถ่างมากขึ้น จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดรอบนี้ จะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลออกมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

    ผลที่ตามมาคือ เงินบาทที่จะอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่วนจะอ่อนค่ากว่านี้หรือไม่ มองว่ายังมีโอกาสอ่อนต่อได้ จากการส่งสัญญาณของเฟดที่จะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในเดือนมิ.ย. 0.50%

    ดังนั้นเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าไปสู่ 35-36.00 บาทได้ เช่นเดียวกับอดีตที่เฟดเคยมีการขึ้นดอกเบี้ย และลดคิวอี ที่เงินบาทอ่อนค่าไปถึง 36.30บาทต่อดอลลาร์

      นัยสำคัญต่อประเทศ จำเป็นต้องถ่วงหน้ำหนัก 2 ด้านในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเฟดหรือไม่ หากขึ้นดอกเบี้ยตามเฟดแล้ว จะลดเงินเฟ้อได้หรือไม่ จะควบคุมเงินเฟ้อและคาดการณ์เงินเฟ้อได้หรือไม่ เพราะเงินเฟ้อวันนี้มาจากปัจจัยภายนอก

     ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และไทยต่างกันมาก เศรษฐกิจสหรัฐ ฟื้นตัวขึ้นไปทะลุก่อนโควิด-19 แล้ว แต่เศรษฐกิจยังคงใช้เวลาในการกลับไปฟื้นตัวเหมือนกับก่อนเกิดโควิด

    อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ดังนั้นมองว่า ยังไม่ใช่เวลา ในการปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินผ่านการขึ้นดอกเบี้ย

อีไอซีคาดกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก

    ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า เฟดส่งสัญญาญขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.50% ทำให้ดอกเบี้ยปลายปีไปสู่ 2.5-2.75% ซึ่งเชื่อว่า จะไม่นำไปสู่การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐในปีนี้

     ผลกระทบที่ตามมา จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้ มีส่วนเชื่อมโยงกับตลาดการเงิน ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ผูกกับตลาดเงินโลกอาจเพิ่มขึ้นได้ เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมในระยะข้างหน้าให้เพิ่มขึ้นได้

     ขณะเดียวกัน การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจชะลอตัวลง และอาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของประเทศอื่นๆ

    รวมถึงไทยให้ชะลอตัวลงมากกว่าสหรัฐได้ จากความเปราะบางที่มีอยู่ ดังนั้นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายจากการชะลอตัวมีมากขึ้น

     ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของไทย มองว่าจะเห็นกนง.ปรับทิศนโยบายการเงินได้ ก็ต่อเมื่อเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง แต่วันนี้ภาวะนี้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะเงินเฟ้อมีสัญญาณลดอุณภูมิความร้อนแรงลงแล้ว

กรุงไทยจับตาเงินทุนไหลเข้า 

    นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามหลังจากการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด คือ เงินทุนเคลื่อนย้าย ที่มีโอกาสไหลเข้าภูมิภาคและไทยมากขึ้น

    สะท้อนการท่องเที่ยวของภูมิภาคและไทยที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ซึ่งเป็นตัวหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังนั้นอาจหนุนให้เงินไหลเข้าไทยเพื่อเก็งกำไรจากข่าวดีดังกล่าวต่อเนื่อง  

     ดังนั้นประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่ามาก อาจอ่อนค่าไปถึง 34-34.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่อาจไม่ได้ไปไกลถึง 36 บาทต่อดอลลาร์ หากท่องเที่ยวฟื้นตัว ซึ่งน่าจะหนุนให้ภาพของเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นในครึ่งปีหลัง

     “คาดว่าดอกเบี้ยไทยปีนี้ไม่ขึ้น แต่จะขึ้นปีหน้าอย่างช้าๆ เพราะวันนี้ไม่มีตัวหนุนให้ไทยต้องปรับนโยบายการเงิน เงินเฟ้อก็เริ่มลดลง แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ ประเด็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าว่าจะเพิ่มขึ้นต่อหรือไม่ จะเป็นของแพงระลอก2หรือไม่ หลังมีแผนปรับราคาก๊าซหุงต้มขึ้นต่อเดือน 15 บาท แต่มองว่าไม่ใช่ประเด็นที่เร่งให้แบงก์ชาติต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย”  

  นักเศรษฐศาสตร์หวั่น เฟดขึ้นดอกเบี้ย ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกดิ่ง แบงก์ชาติเตือนตลาดเงินผันผวนต่อ

      ด้านนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  
เปิดเผยว่า ผลการประชุมของ Fed เมื่อคืนนี้ เป็นไปตามความคาดหมายของผู้ร่วมตลาด

    และมีความชัดเจนขึ้นว่าธนาคารกลางให้ความสำคัญกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในจังหวะที่ไม่เร็วและแรงกว่าที่ตลาดจะรับได้ ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายในภูมิภาคเอเชียและไทยเป็นไปตามปกติ

    สำหรับตลาดไทยวันนี้ มีเงินทุนไหลออกเล็กน้อย (ออกจากตลาดหุ้น 181 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร 2,001 ล้านบาท)
     อย่างไรก็ตาม ตลาดก็อาจจะผันผวนจากปัจจัยอื่นได้เช่นกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลกและความล่าช้าของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศใหญ่

    ดังนั้นผู้ที่ค้าขายระหว่างประเทศควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ

เงินเฟ้อ”เม.ย.แตะ4.65%

     นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน เม.ย.2565 เท่ากับ 105.15 เพิ่มขึ้น 4.65% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง จากที่เคยสูงขึ้นในเดือน ก.พ.-มี.ค.ทำสถิติสูงสุดรอบ 13 ปี เนื่องจากฐานปีก่อนสูง 

     ส่วนเงินเฟ้อรวม 4 เดือนปี 2565 (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 4.71% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 102.57 เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.2565 และเพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.2564 และรวม 4 เดือนเพิ่มขึ้น 1.58%

    “อัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย.นี้ ยังเป็นผลมาจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยหลัก รวมถึงราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ที่สูงขึ้น และยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ และประเทศพันธมิตรที่มีต่อรัสเซียด้วย”

      นายรณรงค์ กล่าวว่า เงินเฟ้อเดือน พ.ค.2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูง และการเลิกตรึงราคาดีเซลที่ปล่อยให้ขึ้นแบบขั้นบันได จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้า

    และยังมีการสูงขึ้นของก๊าซหุงต้ม รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ และยังมีผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ

     ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0-5.0% ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการคาดการณ์นี้ยังไม่รวมถึงการเลิกตรึงราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท