"ทอท."พร้อมเคลื่อนองค์กร ปรับรับการบินผ่านจุดต่ำสุด
อุตสาหกรรมการบิน ภายหลังไทยประกาศมาตรการใหม่ ผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว สามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีการตรวจโควิด-19 ใดๆ เพิ่มเติม นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565
จุดเปลี่ยนสำคัญทางธุรกิจที่นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.มาฉายภาพให้ได้เห็นถึงอนาคตจากนี้ ว่า หากย้อนความถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเดือน ม.ค.2563 ที่อู่ฮั่นประกาศปิดเมือง แต่ในปีนั้นภาพรวมธุรกิจของ ทอท.ได้ผ่านช่วงเวลา 4 เดือนทองคำ ของฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ที่ปกติจะเริ่มในเดือน ต.ค. - ม.ค.ของทุกปี ส่งผลให้ผลประกอบการในปี 2563 แม้ว่าโควิด-19 จะทำพิษร่วม 8 เดือน แต่ ทอท.ยังสามารถทำกำไรได้ถึง 4 พันล้านบาท
โดยการย้อนความในประเด็นนี้แสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาทองคำของไฮซีซั่นนั้นมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจการบินอย่างมาก ขณะที่ในปี 2564 ทอท.มีผลประกอบการขาดทุน 1.4 หมื่นล้านบาท และในปี 2565 เนื่องจากมาตรการปลดล็อคการเข้าประเทศ มีผลใช้ในวันที่ 1 พ.ค.2565 แน่นอนว่าไม่ทันช่วงไฮซีซั่นที่ผ่านมาแล้ว ดังนั้นคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานในปีนี้จะยังคงติดลบ
“ปีนี้เราจบแล้วในแง่ของผลประกอบการปีงบประมาณ เพราะผ่านช่วงพีคของการเดินทางไปแล้ว ตัวเลขผู้โดยสารในปัจจุบันอยู่ที่ 19 ล้านคน ซึ่งประมาณการต่อปีเราประเมินไว้ที่ 62 ล้านคน ดังนั้นปีนี้แน่นอนว่าผู้โดยสารจะขยายตัวมากกว่าปีก่อนแน่นอน จากฐานที่มีต่ำ เพราะเราถือว่าเปิดประเทศแบบ 99% แล้ว ถือว่าเราผ่านจุดต่ำสุดแล้วแน่นอน แต่มาไม่ได้หมายความว่าปีนี้จะลั้ลลาได้ เพราะผู้โดยสารเพิ่งเข้ามาเพียง 19 ล้านคนและเลยช่วงพีคทางการท่องเที่ยวมาแล้ว”
นิตินัย กล่าวต่อว่า การปรับมาตรการเข้าประเทศครั้งนี้ จะส่งผลบวกต่อตารางบินฤดูหนาว ช่วงไฮซีซั่นสิ้นปีนี้แน่นอน เพราะในช่วงเดือน พ.ค.ของทุกปี จะเป็นช่วงที่สายการบินวางแผนตารางบินฤดูหนาวและทำคำขอเปิดเส้นทางบินเข้ามา ดังนั้นตารางบินฤดูหนาวปีนี้ที่จะเริ่มระหว่างเดือน ต.ค.2565 - มี.ค.2566 มีสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และ ทอท.ประเมินว่าอีก 2 ปีนับจากนี้ จะเป็นช่วงฟื้นตัวของอุตสาหกรรม และกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2568
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตาในช่วงฟื้นตัวอุตสาหกรรมการบิน 2 ปีนี้ คือความพร้อมของซัพพลายเออร์ เพราะการกลับมาเปิดทำการบิน หรือประกอบกิจการ ก็ต้องมาลุ้นด้วยว่าจะคุ้มทุน หรือ Break even หรือไม่ ซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมพร้อมที่จะกลับมาประกอบกิจการเหมือนกันหรือไม่ บริษัททัวร์จะกลับมาหรือยัง ดังนั้นไฮซีซั่นนี้เชื่อว่าทุกสายการบินมีแผล แต่จะกลับมาใช้โอกาสนี้เปิดให้บริการ ดังนั้นสิ่งที่น่ากลัวในช่วงฟื้นฟูนั่นคือความพร้อมของซัพพลายเออร์
โดย ทอท.เตรียมความพร้อมส่วนของธุรกิจที่จะสนับสนุนการบิน จากการขับเคลื่อนผ่าน 3 บริษัทลูก ได้แก่
- บริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AVSEC
- บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOTGA
- บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอเรเตอร์ จำกัด (AOT TAFA Operator Co.,Ltd : AOTTO)
“บริษัทลูกเหล่านี้เราไม่ได้จัดตั้งมาเพื่อเข้าไปซัพพอร์ตอุตสาหกรรมการบินแทนคนอื่น แต่ทำเพื่อหากเกิดกรณีที่ซัพพลายเชนเกิดล้มหายจากวิกฤติต่างๆ เราก็พร้อมเข้าไปสนับสนุนอุตสาหกรรม แต่ถ้าซัพพลายเชนเขายังรอดเราก็จะไม่เข้าไปแข่งขัน เราเตรียมพร้อมเพื่อทดแทนหากเกิดเหตุถ้าใครช็อตขึ้นมา เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมสะดุด”
ขณะเดียวกัน ทอท.ยังเตรียมเข้าไปบริหาร 3 ท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่รับโอนมาจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญของการเพิ่มจุดยุทธศาสตร์ด้านการบิน โดยการเข้าไปรับบริหาร 3 ท่าอากาศยานแห่งใหม่ ได้แก่ กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ จะเป็นผลบวกต่อการวางกลยุทธ์เชื่อมโยงเส้นทางการบิน เปิดตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการบินตรงไปยังหัวเมืองภูมิภาค
โดยตามแผนงานเบื้องต้น คาดว่าภายในเดือน พ.ค.นี้จะสามารถนำเสนอแผนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติเข้ารับบริหารท่าอากาศยาน หลังจากนั้นระหว่างเดือน พ.ค. - ก.ค. 2565 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะดำเนินการออกใบรับรองท่าอากาศยานสาธารณะ โดยนำร่องในส่วนของท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานอุดรธานีก่อน หลังจากนั้นจะทยอยดำเนินการในท่าอากาศยานบุรีรัมย์
ซึ่ง ทอท.คาดการณ์ว่าระหว่างเดือน พ.ค. - ก.ค.นี้ จะทำงานคู่ขนานระหว่างรอการออกใบรับรองท่าอากาศยานสาธารณะ เร่งเข้าไปดำเนินการรับช่วงต่องานบริหารจาก ทย. เป็นการถ่ายโอนงาน พิจารณารับบุคลากรของ ทย.เข้ามาร่วมงาน และเริ่มดำเนินการประเมินวงเงินลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน อาทิ ระบบคัดกรองผู้โดยสาร ระบบเช็คอิน เป็นต้น หลังจากนั้นในเดือน ส.ค.2565 คาดว่าจะสามารถเข้าไปบริหารท่าอากาศยานแห่งใหม่
อีกทั้ง ทอท.ยังเตรียมแผนรองรับการแข่งขันจากรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี 2569 ซึ่งจะเป็นโครงข่ายขนส่งที่ตอบโจทย์ผู้โดยสารในเรื่องของเวลาการเดินทาง ส่งผลให้ในช่วงฟื้นธุรกิจนั้น นอกจาก ทอท.จะเพิ่มขีดความสามารถผ่านการเข้ารับบริหารท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มโครงข่ายด้านการบินแล้ว ยังเร่งพัฒนาระบบเทคโนโลยี อำนวยความสะดวกผู้โดยสาร และทั้งหมดนี้ คืออีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องเตรียมรับมือภายหลังฝ่าวิกฤติโควิด-19