กูรูแนะก้าวใหม่ “ไมซ์ไทย” ชี้ APEC 2022 ปักหมุดไทยแผนที่โลก “ประชุมอินเตอร์”
“ทีเส็บ” และพันธมิตรชี้ก้าวใหม่ "ไมซ์ไทย" ต้องเข้าใจเทรนด์ความคาดหวังใหม่ๆ ของผู้บริโภค และสร้างแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้ตอบโจทย์คุณค่าในใจกลุ่มนักเดินทาง ขณะที่การเป็นเจ้าภาพ "APEC 2022" พ.ย.นี้ หนุนปักหมุดไทยเป็นจุดหมายปลายทางการจัดประชุมนานาชาติบนแผนที่โลก
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดมุมมองในการเสวนาพิเศษหัวข้อ "New Chapter of Thailand MICE” เนื่องในวันจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ (MICE Day) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า หลังการประกาศผ่อนคลายการเข้าประเทศของรัฐบาล ยกเลิกระบบ Test & Go มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา คาดการณ์ว่าจะมีนักเดินทางต่างชาติเข้ามามากขึ้น ทีเส็บเล็งเห็นว่าความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยสู่อนาคต
จากการศึกษาผลงานวิจัยในต่างประเทศถึงเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคนิวนอร์มัล (New Normal) พบว่าสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง แบ่งได้เป็น 5 รูปแบบ ดังนี้
1. Phygital (Physical + Digital) ความคาดหวังของผู้เข้าร่วมงานที่ต้องการเชื่อมโยงการจัดงาน ณ สถานที่จริงและออนไลน์ทั้งสองรูปแบบเข้าด้วยกัน
2. A Safe Space ความคาดหวังด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยที่สูงขึ้นตลอดการเข้าร่วมงาน เพราะถึงแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แต่ผู้คนก็ยังคงกังวลกับการกลับมาแพร่ระบาดของโรค
3. Embedded Wellness ความคาดหวังให้ผู้ประกอบการใส่ใจและตระหนักถึงสุขภาพกายและใจของผู้เข้าร่วมงานเป็นหลัก
4. Omnibility ความคาดหวังของผู้เข้าร่วมงานถึงความเสมอภาค โดยผู้ประกอบการควรต้องออกแบบด้วยแนวคิดอารยสถาปัตย์ เช่น สถานที่ที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้วีลแชร์
5. Brand Butlers ความคาดหวังที่จะได้รับประสบการณ์ที่ตรงใจและดียิ่งขึ้น จากการเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดจากการเข้างานหรือใช้บริการในอดีต
“สิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ของอนาคตที่อุตสาหกรรมไมซ์จะต้องให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาให้เกิดขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้จัดงานและนักเดินทางไมซ์"
โดยขณะนี้ในต่างประเทศเริ่มมีแอปพลิเคชัน หรือ นวัตกรรมใหม่ที่มาช่วยบริหารจัดการการเดินทาง สำรองที่นั่งสายการบิน จองโรงแรม หรือ การให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มที่มีความต้องการเป็นพิเศษ เช่น ผู้พิการ ฯลฯ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการดูแลนักเดินทางผ่านระบบออนไลน์ตามข้อมูลที่แสดงความต้องการเป็นรายบุคคลได้มากขึ้นแล้ว
ในประเทศไทยก็เริ่มมีสตาร์ทอัพที่กำลังพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ขึ้นมารองรับเช่นกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างความประทับใจ และกระตุ้นให้เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง
ด้านนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไมซ์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ และ APEC คือเวทีสำคัญทางด้านการจัดประชุม การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานในเดือนพฤศจิกายน 2565 จะมีการประชุมของคณะกรรมการและคณะทำงานต่างๆ มากกว่า 60 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 20,000 คน เป็นการประชุมในด้านต่างๆ ที่สำคัญทั้งการพาณิชย์ อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน รวมถึงการประชุมคู่ขนานของภาคธุรกิจ ควบคู่กับการประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งมีการวางแผนจะจัดการประชุมตลอดทั้งปีให้สอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศ และกระจายสถานที่จัดประชุมไปตามภูมิภาคต่างๆ
“APEC 2022 ถือเป็นงานประชุมทางกายภาพเป็นครั้งแรกหลังจากช่วงโควิดเริ่มคลายตัว งานนี้จะเป็นจุดสนใจที่ทำให้ประเทศไทยขึ้นไปอยู่บนแผนที่โลก และเข้ามาอยู่บนจอเรดาร์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ด้วยเขตเศรษฐกิจรวมกัน คิดเป็น GDP มากถึงจำนวนครึ่งหนึ่งของโลก”
อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวต่อไปว่า การเป็นเจ้าภาพงานประชุม APEC ของไทย มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนภูมิภาค APEC สร้างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในยุคหลังโควิด 19 ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง สู่สมดุลยั่งยืน โดยมีแนวคิด BCG Economy Model เป็นพื้นฐาน ส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมถึงการสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจในการเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้
นายดลชัย บุณยะรัตเวช ผู้เชี่ยวชาญการสร้างแบรนด์และผู้วางแผนภาพลักษณ์ไมซ์ไทย กล่าวว่า การจะทำให้ไมซ์ไทยเดินสู่ก้าวใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมและมีความยั่งยืน ต้องวางกลยุทธ์แบรนด์ให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งก่อนที่จะมีการสร้างกลยุทธ์ แบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยสำหรับตลาดต่างประเทศ “THAILAND MICE: Meet the Magic” ได้มีการศึกษาถึงความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมาย และพบว่าผู้บริโภคยุคนิวนอร์มัลมีสิ่งที่คาดหวังจากไมซ์ประเทศไทย 3 ประการ คือ ความน่าเชื่อถือ (Trustworthy) ความจริงใจ (Sincerity) และความเป็นไทย (Authenticity)
ดังนั้นการสร้างแบรนด์ไมซ์ประเทศไทยเพื่อให้ชัดเจนในความรู้สึกของกลุ่มนักเดินทางต่างชาติ จะต้องมีการยกระดับคุณค่าที่มีอยู่ให้สูงขึ้น และทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ระดับโลก ซึ่งต้องประกอบด้วยคุณค่าที่โดดเด่นของตนเอง และคุณค่าที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ไมซ์ประเทศไทยมีคุณค่าในการเป็นนักประสานความคิดที่ดีมาก ด้วยพรสวรรค์ ทรัพยากรที่หลากหลาย และความยืดหยุ่นในการทำงานของไทยที่สามารถประสานตามความต้องการของนักเดินทางไมซ์จากธุรกิจที่หลากหลาย และส่งต่อคุณค่าที่โดนใจให้คู่ค้า นักเดินทางไมซ์ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจึงสามารถสร้างเสน่ห์ที่แตกต่างให้กับธุรกิจของตัวเองได้ในประเทศไทย ซึ่งหาไม่ได้จากที่อื่น
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีทั้งซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องวัฒนธรรม อาหาร ศิลปะ ฯลฯ แต่ยังรวมถึงอุปนิสัยความเป็นธรรมชาติของคนไทย และฮาร์ดพาวเวอร์ (Hard Power) ได้แก่ โครงสร้างสาธารณูปโภคที่ดีมีมาตรฐาน ระบบโลจิสติกส์ เทคโนโลยีทัสมัย ฯลฯ ที่ผสมผสานกันได้อย่างสมดุลอยู่ในเมืองไทย ทำให้สามารถสร้างสรรค์งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเดินทางไมซ์ในแต่ละธุรกิจได้อย่างมีเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย ผมเชื่อว่านี่คือก้าวใหม่ของไมซ์ประเทศไทย ในการเป็นพันธมิตร สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับธุรกิจผ่านการผสมผสานความคิด สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมไมซ์รูปแบบต่าง ๆ ให้มีมนต์ขลังที่ไม่จบสิ้น เป็นเสน่ห์เฉพาะของเราซึ่งจะหาได้ในประเทศไทยประเทศเดียว
ทั้งนี้ นายจิรุตถ์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ทีเส็บวางแผนการสื่อสารแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยสำหรับตลาดต่างประเทศ ที่จะเปิดตัวครั้งแรกในงาน IMEX Frankfurt 2022 วันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ให้เข้าถึงจำนวนการรับรู้กลุ่มเป้าหมายต่างประเทศ 25 ล้านคน เพื่อกระตุ้นตลาดต่างประเทศเต็มที่ ตอบรับการเปิดประเทศของรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ตัวเลขนักเดินทางไมซ์ของ 2 ไตรมาสแรก เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้คือเป็นนักเดินทางไมซ์ภายในประเทศทั้งหมด 2.3 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 7,598 ล้านบาท
และในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี คาดการณ์ว่าจะมีนักเดินทางไมซ์ต่างชาติเข้ามาประมาณ 130,000 ราย จำนวนรวมนักเดินทางไมซ์ทั้งไทยและต่างชาติ รวม 6,130,000 ราย คิดเป็นรายได้ 28,400 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าปี 65 ที่วางไว้ในระดับ Best Case