ญี่ปุ่น โปรไทยฮับชัพพลายเชน รับห่วงจุดอ่อนค่าแรงแพง
ญี่ปุ่น ชี้ 2 ข้อไทยดึงดูดการลงทุน "ซัพพลายเชน-ศูนย์กลางประเทศลุ่มน้ำโขง" ย้ำ ญี่ปุ่นพร้อมลงทุนไทย หนุนโมเดลเศรษฐกิจBCG ห่วงแรงงานแพงทำการลงทุนไทยถอย
ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่ง จากจำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยเกือบ 6,000 บริษัท คิดเป็น 1 ใน 3 ของการลงทุนต่างชาติทั้งหมดในประเทศไทย และญี่ปุ่นยังเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆของไทยโดยการค้าระหว่างกันเฉลี่ยในช่วง 5 ปี(พ.ศ.2560-2564 )มีมูลค่าถึง 56,640 ล้านดอลลาร์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงการสัมมนาเชิงนโยบาย “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ามิติใหม่ไทย-ญี่ปุ่น" เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 135 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
สินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ส่วนสำคัญทำให้การค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นเติบโตมากคือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นหรือ JTEPA ,ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น หรือ AJCEP และล่าสุดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEPที่ครอบคลุมทั้งเรื่องสินค้าและบริการ
“ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าจะเป็นความร่วมมือในมิติใหม่ที่สอดรับกับสถานการณ์โลก เช่น โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่สอดรับยุทธศาสตร์สีเขียวของญี่ปุ่นซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น พลังงานสะอาด ยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อัจฉริยะ ดิจิทัล สุขภาพและการแพทย์”
ฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ)กล่าวว่า ไทยมีจุดแข็งทั้งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย เป็นฮับของซัพพลายเชน ที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้ประกาศข้อริเริ่มการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นนโยบายการลงทุนใหม่ของญี่ปุ่น โดยเน้นการเป็นหุ้นส่วนร่วมสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนด้วย นวัตกรรม
ภูมิภาคเอเชียโดยรวม ซึ่งเน้นการแก้ปัญหาทางสังคมที่กลุ่มประเทศเอเชียรวมถึงประเทศไทยประสบอยู่ โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อนำนวัตกรรมมาสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พร้อมกับจับมือประเทศคู่ค้าเพื่อร่วมสร้างอนาคตของภูมิภาค
“ไทยมีอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งเป็นจุดแข็ง เป็นฮับซัพพลายเชน และยังตั้งอยู่ศูนย์กลางลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งเพิ่มการดึงดูดของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นจะสนับสนุนการลงทุนด้านเครื่องจักรเพื่อเพิ่มความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทาน และการสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้เพื่ออุตสาหกรรมขั้นสูง ให้กับบุคลากรของไทยผ่านสถาบันการศึกษาต่างๆ “
ทั้งในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก(เอเปค) ที่จะแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างภาครัฐ-เอกชน-วิชาการ ในการดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ร่วมมือกับไทยในดำเนินการเรื่องให้ประสบความสำเร็จ ขณะที่ RCEP จะสร้างมูลค้าการค้าการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศเพิ่มมากขึ้น
ซาซากิ โนบุฮิโกะ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นหรือเจโทร (JETRO) กล่าวว่า บริษัทญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 1.5 เท่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งขณะนี้ไทยกับญี่ปุ่นกำลังเผชิญความท้าทายทั้งในปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความท้าทายด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน(Digital Transformation ทรานฟอร์มเมชั่น การพัฒนาทักษะแรงงาน และสุขภาพ
“เทรนด์เรื่องของธุรกิจสีเขียวหรือการลดคาร์บอนกลายเป็นกระแสโลกจึงเป็นความท้าทายด้านเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง โดยไทยชูประเด็น เศรษฐกิจสีเขียวหรือBCG ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมจะร่วมมือการลงทุนและการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้”
ทาเคโอะ คาโตะ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ(JCC) กล่าวว่า จากผลการสำรวจความคิดเห็นนักธุรกิจญี่ปุ่นพบว่าปัญหาที่เป็นอุปสรรคคือ ราคาวัตถุดิบและต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ส่วนปัญหาการลงทุนในไทยนั้นเรื่องสำคัญคือ ปัญหาค่าแรงงานมีราคาแพง รวมทั้งการเก็บภาษีแรงงาน ซึ่งขณะนี้ หอการค้าญี่ปุ่นฯ ได้นำเสนอปัญหาเพื่อให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไข
ทั้งนี้นักลงทุนญี่ปุ่นและไทยจะร่วมกับผลักดันการทำธุรกิจแบบ BCGซึ่งสอดคล้องกับโมเดลหลักในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022: MRT) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 19 – 22 พ.ค. นี้ และนักลงทุนญี่ปุ่นยังสนใจลงทุนในธุรกิจ Health Care หรืออุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ล่าสุด หอการค้าญี่ปุ่นได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลเร่อง BCG และอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ แล้ว
ทาเคทานิ อัตสีชิ ประธานเจโทร ประจำกรุงเทพฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อดีในเรื่องของการที่มีคู่ค้าทางเศรษฐกิจมาก ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่ได้ดีกว่าประเทศอาเซียนอื่นๆในเรื่องของค่าแรงของแรงงาน อย่างไรก็ตามในอนาคตคาดว่านักลงทุนญี่ปุ่นจะเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมด้านการบริการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชย์จาก RCEP