สุดปัง! ชาวสะบ้าย้อยงัด 'กาละแมกาแฟ' ดึงดูดลูกค้า

สุดปัง! ชาวสะบ้าย้อยงัด 'กาละแมกาแฟ' ดึงดูดลูกค้า

“กาละแมกาแฟสูตรโบราณบ้านห้วยบอน” กลุ่มสตรีฯปั้นแบรนด์ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน อ.สะบ้าย้อย จุดกำเนิด “โรบัสต้า” กาแฟไทย

ลงใต้ไปที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลาไปดูผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าสนใจมากๆ นั่นคือ “กาละแมสูตรกาแฟโบราณ” ฝีมือของกลุ่มสตรีบ้านห้วยบอน หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ที่ต่อยอดธุรกิจชุมชนที่มีฐานสำคัญเรื่องของกาแฟมาสร้างจุดขาย  โดยที่อำเภอสะบ้าย้อย เป็นที่รู้กันว่าที่นี่เป็นแหล่งปลูกกาแฟโรบัสต้าแห่งแรกของประเทศไทย  ล่าสุดผลิตสินค้าสุดปัง “กาละแมรสกาแฟ”หรือ“กาละแมสูตรกาแฟโบราณ”ที่รสชาติอร่อยเลิศจากจุดกำเนิดกาแฟไทย

 

“วิภา ขะเรมะนัน” รองประธานกลุ่มกาแฟสูตรโบราณบ้านห้วยบอน บอกว่า ชาวบ้านได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มกาแฟสูตรโบราณฯเพื่อร่วมอนุรักษ์พื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าแห่งแรกของประเทศไทยไว้ ซึ่งมีการนำเข้ามาจากมาเลเซียเมื่อปี 2447ซึ่งในอดีตได้รับความนิยมมากและเริ่มหายไปเนื่องจากเกษตรกรหันมาปลูกยางพาราแทน และเมื่อเวลาผ่านไปกาแฟกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ชาวบ้านจึงร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ปลูกกาแฟดั้งเดิมและยกระดับเป็นสินค้าชุมชนซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก

 

กระทั่งได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาในรูปแบบของ “กาละแมรสกาแฟ” โดยทุกขั้นตอนมีการใช้วัตถุดิบจากพื้นที่โดยเฉพาะส่วนผสมของกาแฟ ที่เริ่มตั้งแต่การคั่วกาแฟสดแล้วนำมาผสมกับกาละแมที่มีส่วนผสมหลัก เช่น แป้งข้าวเหนียว น้ำตาลโตนด กะทิ นำขึ้นตั้งไฟเคี้ยวหรือกวนจนเนื้อผสานกันจะได้กาละแมที่มีกลิ่นหอม

กาแฟและเนื้อนวลละมุนลิ้นถูกอกถูกใจผู้บริโภคขึ้นแท่นเป็นสินค้าใหม่ที่ขายคู่กับกาแฟต้นตำรับฯ

 

และเพื่อให้สอดรับสังคมปัจจุบัน ทางกลุ่มได้เปิดขายผ่านช่องทางออนไลน์กลุ่มกาแฟสูตรโบราณบ้านห้วยบอน หรือหากใครสนใจสั่งออเดอร์มาก่อนได้เพราะทางกลุ่มฯเน้นรักษาคุณภาพ ความสดใหม่นั่นเอง ส่วนราคาจำหน่ายกาละแมกิโลกรัมละ 200 บาท แบบกล่องๆ ละ 50 บาท ขณะที่กาแฟบดละเอียดพร้อมชงจำหน่ายในราคาถุงละ 60 บาท

 

ล่าสุดหน่วยงานส่วนท้องถิ่นต่างๆเล็งเห็นถึงความสำคัญนี้จึงได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนชาวบ้านให้สามารถสร้างงานสร้างอาชีพได้อย่างยั่งยืน เช่น หน่วยงานในพื้นที่จัดประชุมสัมมนาก็มักจะจัดผลิตภัณฑ์ขึ้นโต๊ะให้ลิ้มลอง รมถึงจัดเป็นของฝากที่ระลึก และจัดหางบประมาณในด้านต่างๆเข้ามาสนับสนุนสร้างองค์ความรู้ให้กับกลุ่มฯเพื่อพัฒนาศักยภาพ ทั้งรูปแบบผลิตภัณฑ์และรสชาติให้เป็นที่แพร่หลาย รวมถึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆและได้เร่งปลุกจิตสำนึกชุมชนหันมาอนุรักษ์และอุดหนุนสินค้า