พลิกเกมส์รับเพลเยอร์โลก เบรกส่งออกปาล์มน้ำมัน
สศก. ชี้อินโดนีเซียระงับส่งออกปาล์มน้ำมันเอื้อไทยน้อย ด้านเอกชน ชี้ อินโดนีเซียระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มแค่ชั่วคราว ส่งผลต่อราคาตลาดโลก เชื่อหลังสิ้นเดือนพ.ค.กลับมาส่งออกแน่ ส่วนไทยคาดราคาน้ำมันปาล์มจะปรับลดลงตามราคาตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง
สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบ(ซีพีโอ)ในตลาดโลกขณะนี้ ปรับขึ้นสูงมาก และมีแนวโน้มจะมากขึ้นกว่านี้ เป็นผลมาจากสงครามระหว่างรัสเซีย –ยูเครน ที่ไม่สามารถผลิตและส่งออกพืชพลังงานหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง เลปซีด เมล็ดทานตะวัน ในขณะที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นทำให้ค่าระวางเรือปรับขึ้นตาม
สถานการณ์ดังกล่าว ยังมีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มซีพีโอ ปรับขึ้นไปอีก ดังนั้นกลุ่มประเทศผู้เล่นรายใหญ่หรือเพลย์เยอร์ของโลก คือ อินโดนีเซีย ที่มีส่วนแบ่งตลาด 50 % หรือ 45 ล้านตัน มาเลเซีย 20 % หรือ 20 ล้านตัน และไทย เพียง 3 % หรือ 3 ล้านตัน จากปริมาณการค้าในตลาดโลก 75 ล้านตัน ดังนั้น การที่อินโดนีเซียปรับนโยบายระงับการส่งออก เพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกรายอื่นๆรวมถึงไทยด้วย
กฤช เอี่ยมฐานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการแปรรูปสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นการระงับส่งออกชั่วคราวเท่านั้น เพราะ การที่อินโดนีเซีย ระงับการส่งออก จะเสี่ยงต่อสต็อกในประเทศล้นและมีปัญหา อีกทั้งการประกาศนโยบายดังกล่าวของอินโดนีเซีย ทำให้กลุ่มผู้ใช้หวั่นวิตก ( Panic) ส่งผลดันราคาให้สูงขึ้นไปอีกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันปรับลดลงเป็นปกติแล้ว อย่างไรก็ตามการระงับการส่งออกของอินโดนีเซีย ทำให้มาเลเซียมีโอกาสส่งออกได้มากขึ้น
สำหรับไทย แม้จะได้รับโอกาสนั้น แต่เนื่องจากการผลิตของไทยมีสัดส่วนน้อยมากเพียง 3 ล้านตัน และส่วนใหญ่จะใช้บริโภคภายในประเทศ ประมาณ กว่า 2 ล้านตัน สต็อกประมาณ 2.5-3 แสนตันต่อเดือน โดยรัฐบาลสนับสนุนให้นำส่วนเกินไปใช้ผลิตไบโอดีเซล และส่งออก ประมาณ 2-3 แสนตันต่อปี ยกเว้นในปี 2564 ที่ส่งออกได้สูงสุด 6 แสนตัน เนื่องจากราคาภายนอกจูงใจ
โดยราคาปาล์มดิบที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ กิโลกรัม(กก.)ละ 10-11 บาทเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่เกษตรกรขายได้ กก.ละ 6 บาท แต่ต่ำกว่าราคาก่อนหน้านี้ที่เกษตรกรเคยขายได้สูงสุดที่กก.ละ 12 บาท เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก
สำหรับในปีนี้คาดว่าจะมีปาล์มดิบออกสู่ตลาดทั้งสิ้น 17.59 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4.76 % จะเป็นระดับที่พอดีกับความต้องการใช้ แต่จากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นทำให้ต้องเฝ้าระวังการ ขาดแคลน ซึ่งเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะสร้างสมดุล
กฤษดา ชวนะนันท์ อดีตนายกสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่อินโดนีเซียระงับส่งออกน้ำมันปาล์ม ทำให้ราคาน้ำมันปาล์ม(ซีพีโอ)ในตลาดโลกปรับขึ้นมากในช่วงแรกเพราะเป็นการซ้ำเติมราคาเนื่องจากสงครามรัสเซียและยูเครนทำให้น้ำมันทานตะวันหายไปจากตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็คาดการณ์ว่า น่าจะเป็นการระงับการส่งออกในระยะสั้นเนื่องจากได้รับแรงกดดันทางการเมืองภายในประเทศ โดยราคาน้ำมันปาล์มทั่วโลกปรับราคาสูงขึ้น ราคาในประเทศก็สูงขึ้นตามไปด้วยทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียต้องหามาตรการช่วยเหลือ ทั้งที่น้ำมันปาล์มในอินโดนีเซียไม่ได้ขาดแคลน ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่ามาตรการดังกล่าวคงใช้ได้ไม่ถึง 1 เดือนหรือสิ้นเดือนพ.ค.นี้จะปล่อยให้มีการส่งออกตามปกติ เพราะไม่เช่นนั้นปริมาณในประเทศก็จะล้น
จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกเริ่มปรับลงบ้างแล้ว ทำให้ปัจจัยราคาน้ำมันปาล์มในประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยช่วงนี้น่าจะอยู่ในช่วงขาลง ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มขวดก็ผลิตไปตามปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ออกมาที่ออกมามาก
“ขณะนี้สถานการณ์น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติไม่แพงมากเหมือนช่วงที่ผ่านมา ซึ่งต้องเข้าใจว่าราคาน้ำมันปาล์มเวลาที่จะปรับราคาต้องใช้เวลา และการซื้อขายก็เป็นการซื้อแบบล่วงหน้า สินค้าที่เข้าสู่โมเดิร์นเทรดจะใช้เวลา เพราะการซื้อสินค้าก็จะซื้อล่วงหน้า 1-2 เดือน ดังนั้นน้ำมันปาล์มขวดก็ยังเป็นสต็อกเก่าที่ราคาแพงอยู่ แต่จากนี้น้ำมันปาล์มขวดที่ผลิตออกมาใหม่ราคาน่าจะปรับลง”
วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ภายใต้นโยบายบริหารจัดการแบบวิน-วินโมเดล เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และเกษตรกรได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยต้องมีปริมาณน้ำมันปาล์มเพียงพอต่อการใช้ในประเทศและไม่เป็นข้อจำกัดในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งต้องมีการหารือกับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐเกษตรกรและผู้ประกอบการ