ไรมอนแลนด์รุกน่านน้ำใหม่ดาต้าเซ็นเตอร์รับนิวอีโคโนมี
1 ปีหลังจาก “กรณ์ ณรงค์เดช” นั่งเก้าอี้บริหารไรมอน แลนด์ได้รีแบรนด์ปรับโลโก้และภาพลักษณ์ให้ทันสมัยรับแผนขยายฐานลูกค้าผ่านกลยุทธ์ “Branded Residence” ที่นำมาสร้างความต่างจากคู่แข่ง พร้อมประกาศก้าวรุกสู่น่านน้ำใหม่ “ดาต้าเซ็นเตอร์” รับ นิวอีโคโนมี!
กรณ์ ณรงค์เดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง ทิศทางต่อจากนี้ไปบริษัทจะให้ความสำคัญกับการนำ Branded Residence มาสร้างความแตกต่างเกิดความมั่นใจที่มี Hotel Brand เข้ามาบริการตามมาตรฐานโรงแรมระดับโลก ซึ่งจะช่วยให้การใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยสะดวกสบายยิ่งขึ้น ด้วยบริการต่าง ๆ ที่สำคัญทำให้ราคาพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้น 10-15% เมื่อเทียบกับโครงการที่ไม่มี Branded Residence ที่สำคัญได้ดาต้าเบสของลูกค้าทั่วโลกเข้ามาเป็นฐานลูกค้าใหม่
ดังนั้นการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม 70-80% ของ ไรมอนแลนด์ จะเป็น Branded Residence อีก 20-30% จะเป็นแบรนด์ของไรมอนแลนด์ ล่าสุดทางบริษัทได้มีการพัฒนาโครงการ โรสวูด (ROSEWOOD) วิลล่า บริเวณ กมลา ภูเก็ต จำนวน 14 หลัง มูลค่า7,800 ล้านบาท
“จากแนวโน้มที่ตลาดลักชัวรีกลับมาดีขึ้น การดึงลูกค้าต่างชาติให้กลับมาซื้อคอนโดมิเนียม ซึ่งหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ การทำคอนโดมิเนียมที่เป็น Branded Residence เพราะการขายให้กับลูกค้าต่างชาติที่ไม่เคยมาประเทศไทยมาก่อน หรือเคยมาแต่ไม่รู้จัก ไรมอนแลนด์ มาก่อน การที่มีแบรนด์อย่างโรสวูด มาช่วยสร้างความมั่นใจ และตอบโจทย์ความให้กับลูกค้าได้มาก ข้อดีของ Branded Residence คือ ลูกค้าไม่ค่อยกังวลเรื่องแบบ ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นมาก"
ช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ได้เดินทางและไม่ได้จับจ่ายใช้สอย เกิดดีมานด์อั้นมาซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น รวมทั้งลูกค้า ที่เติบโตมากขึ้นคือ “เศรษฐีประเทศเพื่อนบ้าน” ไม่ว่าจะเป็น พม่า กัมพูชา เวียดนาม และลาว ที่เข้ามาซื้อ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันกรุงเทพฯ ถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ ที่ลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาจับจ่ายใช้สอย อยากมีบ้านหลังที่สองในกรุงเทพฯ ทำให้ตลาดลักชัวรีกลายเป็นตลาดที่น่าจับตามอง!
กลยุทธ์ที่สอง การลดความเสี่ยงและต้นทุนจากการซื้อที่ดินที่ปัจจุบันราคาสูงขึ้น โดยการพัฒนาแบรนด์ให้แข็งแรงพร้อมกับร่วมทุนกับเจ้าของที่ดินแทนที่จะซื้อที่มาพัฒนาเปลี่ยนมาเป็นการร่วมทุนกับเจ้าของที่ในการพัฒนาโครงการ
กลยุทธ์ที่สาม วางแผนเปิดตัวโครงการทุกปีเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสร้างรายได้ จากที่ผ่านมา บริษัทประสบปัญหาในการรับรู้รายได้ เนื่องจากพัฒนาแต่โครงการแนวสูงทำให้ระยะเวลาการรับรู้รายได้ยาวทำให้เกิดช่องว่างในการรับรู้รายได้ระหว่างปี ดังนั้น 5-10 ปีจากนี้ “ทุกปี” จะต้องมีโครงการใหม่เข้ามาไม่เฉพาะโครงการแนวสูงอย่างเดียวแต่รวมถึงโครงการแนวราบ วิลล่า ฯลฯ เพื่อให้มีการรับรู้รายได้ระหว่างปี เป็นการวางแผนการเปิดตัวโครงการให้สอดคล้องกับการรับรู้รายได้ระยะยาว
และกลยุทธ์ที่สี่ ก้าวสู่การทำธุรกิจแบบเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขยายฐานธุรกิจผู้นำผู้ให้การบริการพื้นที่การเก็บรักษาข้อมูล ด้วยการลงทุนในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อรองรับกระแส นิวอีโคโนมีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
“ธุรกิจใหม่ดาต้าเซ็นเตอร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน ธุรกิจนี้เติบโตแบบก้าวกระโดดเพราะทุกบริษัทต้องใช้ฐานข้อมูลยิ่งมีโควิด ดาต้าเซ็นเตอร์ ยิ่งโตขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ บริษัทจึงร่วมกับ Nautilus Data Technologies จากสหรัฐ ซึ่งเป็นกรีนดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก ที่ใช้ที่เทคโนโลยีจากน้ำมาทำให้คอมพิวเตอร์เย็นลงแทนที่จะใช้เครื่องปรับอากาศ ตอบรับกระแส ESG ที่ค่าใช้จ่ายลดลงจากระบบเดิมถึง 20% และใช้พื้นที่เล็กลง ที่สำคัญเป็นธุรกิจที่ใชะระยะเวลาก่อสร้างเร็วใช้เพียงแค่ 18 เดือนสามารถรับรู้รายได้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2566 และรับรู้รายได้ในปี 2567 ”
สำหรับเป้าหมายในปีนี้ คาดการณ์ว่า จะมีรายได้2,200 ล้านบาทมาจากการโอนโครงการเอสเทลล์ สุขุมวิท 26 ที่จะเริ่มในไตรมาส 3 ส่วนยอดขายปีนี้อยู่ที่ 7,200 ล้านบาท ที่จะมาจากการขายสต็อกของโครงการ เทตต์สาทร ทเวลฟ์ รวมถึงโครงการโรสวูด ที่ กมลา ภูเก็ต มูลค่า 7,800 ล้านบาท และอีก2 โครงการที่อยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าปลายปีนี้เสร็จ จะเป็นโครงการคอนโดที่เป็น Branded Residence ที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่น ที่สุขุมวิท มูลค่าโครงการ 5,500 ล้านบาท ส่วนอีกโครงการเป็นบ้านแนวราบ ที่พัฒนาเอง
กลยุทธ์ดังกล่าวเป็นการวางรากฐานให้ไรมอนแลนด์ มีความแข็งแกร่งในธุกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรีและอัลตราลักชัวรี พร้อมขยายฐานไปสู่อสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบใหม่ เพื่อก้าวเป็นผู้นำตลาดในการก้าวสู่ธุรกิจนิวอีโคโนมี ถือเป็น ความท้าทายใหม่ของผู้บริหาร