เปิดเหตุผล ลดส่วนผสมB100 ใน “น้ำมันดีเซล” ใครได้ประโยชน์?

เปิดเหตุผล ลดส่วนผสมB100 ใน “น้ำมันดีเซล” ใครได้ประโยชน์?

ปัจจุับน "กระทรวงพลังงาน" มีการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจากเดิมมี 3 เกรด คือ B10 (เกรดพื้นฐาน) B7 และ B20 (เกรดทางเลือก) ลดลงเหลือ B7 ชั่วคราวเกรดเดียว แต่ล่าสุดกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยแนวทางในการลดส่วนผสมลงอีก 2%

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากมติ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์วีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 ยังคงให้ตรึงราคาดีเซลไว้ลิตรละไม่เกิน 32 บาท เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนในวงกว้างแม้ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติให้กระทรวงพลังงาน สามารถปรับระดับช่วยเหลือราคาดีเซลโดยจะปล่อยเกินเพดานลิตรละ 30 บาท และรัฐบาลจะช่วยคนละครึ่งในวันที่ 1 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ยังใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลต่อ โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 ได้ขยับขึ้นดีเซลเป็นลิตรละไม่เกิน 32 บาท และขยับเพดานพยุงราคาไว้ไม่เกินลิตรละ 35 บาท พร้อมกับจะพิจารณาปรับขึ้นลิตรละ 1-2 บาท ในทุกสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่กบน.ยังไม่ปรับขึ้นดีเซลในสัปดาห์นี้ เนื่องจากราคาดีเซลสัปดาห์นี้ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงสัปดาห์ ทำให้การอุดหนุนราคาดีเซลของกองทุนน้ำมันแห่งชาติ ยังอยู่ในระดับเดิมไม่ได้ขึ้นสูงมากนัก จึงทำให้ยังคงราคาดีเซลไว้ที่ลิตรละไม่เกิน 32 บาทต่อไปอีก 1 สัปดาห์

 

การปรับลดสัดส่วนน้ำมันไบโอดีเซล (B100)

สำหรับแนวคิดในการปรับลดสัดส่วนน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ลงอีก 2% จากส่วนผสมของน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันยังมีสัดส่วนอยู่ที่ 5% โดยประชาชนที่ใช้น้ำมันดีเซลหน้าสถานีบริการน้ำมัน B5 อยู่ที่ลิตรละ 31.94 บาท นั้น เมื่อหากเทียบราคาดีเซลในขณะนี้ หากลดส่วนผสมลง 2% เหลือ B3 จริงๆ แล้วในส่วนเม็ดเงินจะไม่ได้มีผลแตกต่างเลย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปโดยจะต้องหารือกับคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) กระทรวงพาณิชย์ และประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณา ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ

“ส่วนตัวมองว่าการลดส่วนผสมไบโอดีเซลลงไม่ได้ช่วยในเรื่องราคาเลย เพราะหากส่วนผสม B100 ต่ำกว่า B4 แต่จะต้องเสียเงินเพิ่มในเรื่องของภาษีสรรพสามิตที่ต้องจ่ายแพงขึ้นมาอีกประมาณ25 สตางค์ รวมกับ VAT อีก ซึ่งยังไม่รวมกับที่กระทรวงการคลังลดภาษี 3 บาทให้จะครบกำหนดวันที่ 20 พ.ค. 2565 นี้”

แหล่งข่าว กล่าวว่า กระทรวงพลังงานทำงานรอบด้าน ทั้งหารือกับกระทรวงการคลัง หารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการโชคดีของกระทรวงพลังงานคือ นายสุพัฒนพงษ์ ดูแลทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง การหารือจึงง่ายขึ้น เรื่องปาล์มยอมรับว่าเหนื่อยมาก การลดสัดส่วนไบโอดีเซลลง 2% ไม่ได้ช่วยเรื่องราคาเลย เมื่อคำนวนจะลดลงลิตรละ 50 สตางค์ ประชาชนจะโดนเรื่องภาษีคือ

1. ภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นลิตรละ 24 สตางค์

2. ภาษีเทศบาล

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

อย่างไรก็ตาม จากการหารือซึ่งจริงๆ แล้วกระทรวงพลังงานก็ไม่อยากให้การลดสัดส่วนไบโอดีเซลไปก้าวก่ายกับกลุ่มผู้ผลิตปาล์มบริโภค ที่ขณะนี้ราคามันพืชเพื่อบริโภคที่มาจากปาล์มมีราคาสูงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลน หากเอาส่วนนี้ไปใช้ในน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคไม่ให้ราคาสูงมากไปกว่านี้ ก็ถือเป็นอีกเหตุผลที่ดี ถือเป็นเหตุผลที่อยากช่วยประชาชน เพราะต้องอย่าลืมว่าประเทศอินโดนีเซีย ห้ามส่งออก เพราะต้องเก็บไว้ใช้ในประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยก็สามารถส่งออกในส่วนนี้แทนได้

ส่วนปัจจัยที่ขาดแคลนคือ ช่วงเดือนพ.ย.2565 ถั่วเหลืองขาด จึงหันมาใช้ปาล์มเยอะขึ้นอีก เหมือนงูกินหาง

“แนวโน้มการปรับสัดส่วนไบโอดีเซลลงอีก 2% เป็นการชั่วคราวน่าจะได้รับการอนุมัติจากกบง. เพื่อทำให้ราคาน้ำมันพืช บริโภคลดลง จริงๆ แล้วประเทศไทยควรใช้น้ำมันไบโอดีเซลอยู่ที่ 5% หรือ B5 ในยามที่ปกติ แต่อย่างนี้คือเกิดวิกฤตลดลงมาที่ 3% ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราควรลดเพื่อพยุงราคาน้ำมันพืชให้ถูกลง ประชาชนใช้น้ำมันพืชเยอะ”      

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ราคาน้ำมันตลาดโลกยังมีความผันผวน กระทรวงพลังงานคงต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อสหภาพยุโรป (อียู) เข้าสู่ฤดูร้อนราคาจะลดลง แต่ยังมีวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ล่าสุดมีการประกาศชัยชนะและอาจยึดเมืองยูเครนเพิ่มเติม และอียูเตรียมแบนนำเข้าน้ำมันรัสเซียราคาจึงผันผวน ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่า จะทำให้แนวโน้มราคาน้ำมันยังคงทิศทางสูง ดังนั้น สัปดาห์หน้า หากราคาโลกยังทรงตัวระดับสูงการปรับที่ลิตรละ 33 บาท ก็มีโอกาสสูงเช่นกัน