ย้อนรอย “STA-STGT” ในวันที่โควิดคลี่คลาย
“ขาลง” ที่แท้จริงของ “2 ดาวเด่น” หุ้นถุงมือยางยุคโควิด-19 ! จาก “รุ่ง” สู่ “ร่วง” สารพัดปัญหาถาโถมทั้ง ราคา-ยอดขายทรุด ฉุด “มนต์ขลัง” STA-STGT จืดจาง... ที่ครั้งหนึ่งเคยฮอตฮิตในเหล่านักลงทุน “สร้างกำไร” เป็นกอบเป็นกำ ลุ้นผลดำเนินงานกลับมาเสน่ห์แรง ออร่าโดนใจได้หรือไม่…?
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) เพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก !! และจากตัวเลขการระบาดที่เร็วและไม่มียารักษา ประกอบกับมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะต้องป้องกันตัวเองและสกัดกั้นเชื้อโรคดังกล่าวจากคนข้างนอกประเทศ ด้วยมาตรการปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) !!
ส่งผลให้ “สินทรัพย์เสี่ยง” โดยเฉพาะ “หุ้น” อยู่ในอาการ “ตกใจกลัว” (แพนนิก) สะท้อนผ่านความผันผวน ดัชนีหุ้นอยู่ในช่วงขาลง กระดานหุ้นแดง ราคาหุ้นส่วนใหญ่ทรุดหนัก ! ทว่า มีหุ้น “2 แม่ลูกคู่หนึ่ง” กลับคึกคักสวนทางหุ้นตัวอื่นๆ ในตลาด อย่าง บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA และ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ที่ประกอบธุรกิจ “ถุงมือยางพารา” ผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการ (ดีมานด์) ของทั่วโลกเข้ามาระดับสูงมากในจังหวะนั้น
สะท้อนผ่านนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด “ถุงมือยาง” ขายดิบขายดีจากความต้องการทั่วโลก ผลักดันยอดขายทั่วโลกเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” หลังกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันเพื่อใช้ป้องกันเชื้อโรค จนสินค้าขาดตลาดเนื่องจากผลิตไม่ทัน ส่งผลให้ราคาถุงมือยางเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดหนักๆ ส่งผลให้ STGT ในฐานะผู้ผลิตถุงมือยางยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของโลก และเบอร์ 1 ของไทย ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ
จากธุรกิจที่อยู่นอกตลาดหุ้นกลายมาเป็นธุรกิจที่เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทย สะท้อนผ่านหุ้น STGT กลายเป็นหุ้นที่นักลงทุนเฝ้าจับตามองตั้งแต่ยังไม่เข้าตลาด และเมื่อถึงวันลงเทรดในสนามจริงก็ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง เปิดซื้อขายวันแรก (เทรด) วันแรก 2 ก.ค. 2563 อยู่ที่ 55.25 บาท เพิ่มขึ้น 62.5% จากราคาไอพีโอ 34 บาท !!
หากดูย้อนหลังผลประกอบการปี 2562-2564 พบว่า หุ้น STA-STGT มีผลประกอบการเติบโตก้าวกระโดด โดย หุ้น STA มี “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ -148.54 ล้านบาท 9,531.21 ล้านบาท และ 15,846.70 ล้านบาท และ หุ้น STGT มีกำไรสุทธิ 634.30 ล้านบาท 14,400.87 ล้านบาท และ 23,704.16 ล้านบาท
“มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” (มาร์เก็ตแคป) ปี 2563-2564 หุ้น STA อยู่ที่ 40,704 ล้านบาท และ 47,616 ล้านบาท หุ้น STGT มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 108,587.28 ล้านบาท และ 86,613.66 ล้านบาท ตามลำดับ
สารพัดปัจจัยบวก ทำให้หุ้น STA-STGT ดึงดูด “กองทุน-นักลงทุนรายใหญ่” โดยเฉพาะหุ้น STGT ที่นักลงทุนต้องเก็บหุ้นดังกล่าวเข้าพอร์ตเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ยุคโควิด สะท้อนผ่านรายชื่อ เหล่ากองทุนทั้งไทยและต่างชาติถือหุ้น รวมทั้งนักลงทุนรายใหญ่อย่าง “เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์”
สะท้อนผ่าน ราคาหุ้นค่อยๆ ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง โดยขึ้นไปทำ “จุดสูงสุด” ของปี 2563 ที่ 94.50 บาท เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 ต่อมาบริษัทตัดสินใจแตกพาร์จากหุ้นละ 1 บาท เป็น 0.50 บาท เริ่มเทรดพาร์ใหม่เมื่อต้นปี 2564
และอีกไม่นานเริ่มมีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง กลายเป็นปัจจัยบวกรอบใหม่ ดันราคาหุ้นขึ้นไปทำออลไทม์ไฮที่ราคาพาร์ใหม่ 49 บาท เมื่อช่วงเดือนพ.ค. 2564
เมื่อธุรกิจพลิกเติบโต "โดดเด่น” จากปัจจัยบวกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น เมื่อมนต์ขลังของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ความต้องการถุงมือยางที่เคยสร้างกำไรให้เป็นกอบเป็นกำ ก็ต้องมีอันสะดุดลงบ้าง !! สะท้อนผ่านผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 ทั้ง STA-STGT ไม่แตกต่างกันเลย... โดย STA มีกำไรสุทธิ 1,509.01 ล้านบาท ลดลง 74.67% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5,958.50 ล้านบาท ขณะที่ STGT มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,052.71 ล้านบาท ลดลง 89.53% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 10,051.56 ล้านบาท จากกำไรสุทธิระดับหมื่นล้านบาทลดลงสู่ระดับพันล้านบาท !!
โดยหลังจากทางการแพทย์มีการพัฒนา “วัคซีนโควิด-19” ออกมารักษาผู้ป่วย ส่วนเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่ขณะนี้กลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลก ไม่ได้รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลตา ทำให้สถานการณ์โรคระบาดผ่อนคลายลงไปมาก จนกดดันราคาหุ้น STGT ร่วงหนัก ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2564 และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2565
ด้านราคาหุ้นแม่ STA ไม่ต่างกับหุ้นลูก ราคาเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมาโดยตลอด ช่วงไหนถ้าลูกดีขายถุงมือยางได้เยอะก็จะส่งผลบวกกลับมาที่หุ้นแม่ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยราคาหุ้น STA ขึ้นไปทำออลไทม์ไฮที่ 56.75 บาท เมื่อต้นเดือนมี.ค. 2564 ก่อนค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูแผนธุรกิจฉบับใหม่ของ ทั้ง 2 บริษัท (STA-STGT) ว่าจะสามารถพยุงสถานการณ์ยอดขายถุงมือยางลดลงได้หรือไม่ โดย STA มั่นใจว่ายอดขายยางธรรมชาติปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ ประกอบกับราคายางยังทรงตัวในระดับสูง รวมทั้งมีการรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ปลูกกัญชง ขณะที่ STGT จะมีการลงทุนต่อยอดในธุรกิจใหม่ๆ จากธุรกิจเดิม