"สนธิรัตน์" เชื่อม 2 แสนองค์กรชุมชน หนุนแนวคิด "สัมมาชีพ" ฟื้นประเทศ
"สนธิรัตน์" หนุนแนวคิด "สัมมาชีพ" พลิกฟื้นประเทศ เตรียมเชื่อมองค์กรชุมชน 2 แสนแห่ง เข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มความเข้มแข็งชุมชน เผยพร้อมผลักดันการเมืองด้วยปัญญา เพื่อสร้างสมดุลการเมือง ไม่กังวลได้เสียง 5-10 เสียง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวในหัวข้อ "LFC กับเครือข่ายที่เข้มแข็ง สังคม ชุมชนและอนาคตประเทศ" ว่า สัมมาชีพหมายถึงการทำให้ชุมชนมีรายรับมากกว่ารายจ่าย โดยสังคมไทยไม่มีสัมมาชีพเพราะเป็นหนี้ครั้งใหญ่จากการเป็นโลกของวัตถุนิยมที่สร้างความอ่อนแอให้คนข้างล่างอยากมีเหมือนคนข้างบน
สัมมาชีพ คือ การประกอบอาชีพโดยสุขจริต แต่ต้องสร้างการเชื่อมโยงให้ประชาชนได้พ้นจากการเป็นหนี้ ซึ่งถือเป็นบุญครั้งใหญ่ที่จะทำให้คนพ้นจากหนี้
"ผมเข้ามาการเมืองและมาถึงทุกวันนี้ได้เพราะมูลนิธิสัมมาชีพ คนที่จะเป็นตัวเปลี่ยนประเทศไทย ต้องถอยและก้าวออกไปคิด วันนี้สัมมาชีพถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะ น.พ.ประเวศ มีเรื่องยิ่งใหญ่วาง 8 มิติวางแผนบริหารและสังคม นี่คือการตกผลึกครั้งสุดท้ายของ น.พ.ประเวศ"
สัมมาชีพจะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศครอบคลุม 8 มิติ คือ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา สุขภาพและประชาธิปไตย โดยมีการผลักดันมาตลอดโดยใช้สัมมาชีพเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งจะรับภาระที่จะขับเคลื่อนที่ น.พ.ประเวศ ฝากความหวังไว้
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2516 และปี 2519 ได้ทิ้งมรดกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยช่วงทศวรรษ 2520 เกิดสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา ต่อมาในทศวรรษ 2530 เกิดองค์กรเพื่อการพัฒนาทางสังคม แต่จุดเปลี่ยนใหญ่อยู่ที่ปี 2540 เพราะเมื่อเกิดการพัฒนาถึงสุดโต่งจึงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งคล้ายกับครั้งนี้ที่เจอวิกฤติโควิดแล้วประเทศพังอีกครั้ง
"วันนี้ประเทศไทยแย่มากและถ้าผู้บริหารประเทศไม่เท่าทันกับวิกฤตินี้ กำลังเข้าสู่มุมอับแล้วไม่มีใครได้ผลที่ดี"
ทั้งนี้ หลังปี 2540 เกิดองค์กรหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรตระกูล ส.ที่เป็นที่มาจากสมัชชาสาธารณสุขแห่งชาติ (สช.) เช่น สำนักงานหลักประสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) รวมถึงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ThaiPBS ที่มาจากแนวคิดของ น.พ.ประเวศ ที่มีส่วนร่วมเพื่อความหวังของอนาคต
นอกจากนี้ในปี 2540 ธนาคารโลกช่วยเหลือประเทศที่ล่มสลาย รวมถึงประเทศไทยที่ล่มสลายพังทั้งระบบ โดยธนาคารโลกให้เงินประเทศไทย 1 ก้อน และใช้กองทุนลงทุนเพื่อสังคม (Social Investment Fund) มาดำเนินการ เป็นตัวพลิกประเทศไทยด้วยเงิน 10,000 ล้านบาท สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและสร้าง NGO เต็มประเทศ
"ผมกำลังศึกษาสิ่งเหล่านี้เพราะประเทศไทยตอนนี้คล้ายปี 2540 โดยเฉพาะการจัดการหนี้ทั้งประเทศที่เป็นศัตรูของสัมมาชีพ ซึ่งประเทศไทยมีสิ่งที่ดีจากองค์การต่างๆเหล่านี้ ผมรวบรวมองค์กรเพื่อสังคมทั่วประเทศและประสานองค์กรเหล่านี้รวม 200,000 องค์กร ประกอบด้วย กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 80,000 แห่ง รวมถึงกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนจะทำให้ประเทศไทยสู้กับประเทศอื่นได้"
ทั้งนี้ การสร้างความเข้มแข็งของประเทศจะต้องสร้างความเข้มแข็งจากชุมชน โดยการเมืองและราชการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนไม่ได้ เพราะทำได้เฉพาะการกำกับดูแลและการสร้างแรงจูงใจ ซึ่งไม่มีการสร้างความสำเร็จของชุมชนสำเร็จจากภาคราชการ ในขณะที่ภาคเอกชนมีข้อจำกัดในการลงไปช่วยเหลือชุมชน
ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาจากการเลือกตั้งทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ซึ่งมีการเลือกตั้งที่ใช้เงินมากที่สุดเลือกผู้มีอำนาจมาเป็นผู้บริหาร อปท.มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งสะท้อนว่าท้องถิ่นอยู่ภายใต้อำนาจทุนมากที่สุด
"ปัจจัยทางการเมืองพวกผมจะทำหน้าที่ดีที่สุด ผมจะได้ 5-10 เสียงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลใจ แต่ขอปักหมุดทางการเมืองไว้เพื่อสร้างสมดุลทางการเมือง พวกผมลำบากเพราะไม่มีทุนแบบเขา ไม่ได้ทำการเมืองแบบเขา แต่ทำการเมืองด้วยปัญญา จะทำการเมืองที่สร้างสมานฉันท์ในประเทศ"
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้มานำเสนอแนวคิดการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งฟังแล้วต้องการให้นายสมคิดเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี จะได้คุยกันรู้เรื่อง ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้านายเก่า แต่การเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา