ชิงเดือดตลาดยา 2 แสนล้าน คาดปีนี้โต 3-5% ร้านเฟรนไชส์บี้ร้านยารายเล็ก
สมาคมเภสัชกรรมชุมชน เผยตลาดยาไทยแตะปีละ 2 แสนล้านบาท ชี้โรงพยาบาลเป็นลูกค้ารายใหญ่ 2 ใน 3 เผยร้านยาต่างจังหวัดเพิ่มสัดส่วนแตะ 70% ศูนย์วิจัยกสิกรคาดปีนี้โต 3-5% ระบุสังคมสูงวัยหนุน รพ.รัฐซื้อยาเพิ่ม ด้านร้านยาเฟรนไชส์ขยายตัวต่อเนื่อง แย่งตลาดร้านยารายย่อย
ภาพรวมตลาดยาปี 2565 มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทและมีแนวโน้มโต 3-5% กลุ่มธุรกิจหลายรายหันมาเล่นตลาดร้านขายยามากขึ้น ปัจจุบันมีอยู่ราว 17,000 แห่ง คาดผู้เล่นรายใหม่รวมทั้งเภสัชกรจบใหม่ ซึ่งมีปีละกว่า 2,000 หันมาคนสนใจทำธุรกิจตลาดร้านขายยาที่โตต่อเนื่อง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้บริโภคกว่า 30-40% เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับยามูลค่าการนำเข้ายาปี 64 ขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 13.0%
การปรับมาตรฐานร้านยาให้เป็นไปตาม มาตรฐานของการบริการที่ดีทางเภสัชกรรม หรือ Good pharmacy practice (GPP) เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน โดยเฉพาะร้านยาประเภท ข.ย.2 ประมาณ 1,000 แห่ง ต้องจ้างเภสัชกรประจำ และทำตามมาตรฐานเพื่อขยับสู่ร้านยา ข.ย.1 ทำให้มีผู้เล่นรายใหม่รวมทั้งเภสัชกรจบใหม่ ซึ่งมีปีละกว่า 2,000 คน สนใจทำธุรกิจตลาดร้านขายยามากขึ้น
เภสัชกร สมพงษ์ อภิรมย์รักษ์ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพรวมร้านยาแผนปัจจุบันในปี 2557 มีประมาณ 19,000 แห่ง และในปี 2562 ขยับจำนวนขึ้นมาเป็น 20,000 กว่าแห่ง แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านโควิด-19 มาจนถึงปี 2565 เหลือร้านขายยาอยู่ราว 17,000 แห่ง
ส่วนหนึ่งมีผลมาจาการการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานร้านยาในปี 2565 ซึ่งมี (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดระยะเวลาผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ.2556 ตาม Good pharmacy practice (GPP) คือ มาตรฐานของการบริการที่ดีทางเภสัชกรรม
โดยสร้างมาตรฐานให้ร้านยามีมาตรฐานเท่ากันทั้งบุคลากร สถานที่ การเก็บรักษายา วิธีการที่ให้บริการประชาชน ในพื้นที่ที่เหมาะสม อุณหภูมิยาที่ถูกต้อง รวมถึงการส่งมอบยาอันตรายต้องผ่านมือเภสัชกร โดยเฉพาะยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน โดยให้เวลา 8 ปี ในการปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 25 มิ.ย.2565
หลังจากนี้ ร้านขายยาต้องได้มาตรฐานทั้ง 5 หมวด คือ สถานที่ อุปกรณ์ บุคลากร การควบคุมคุณภาพยา และการปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ประกอบกับโควิด-19 ระบาดล่าสุด ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ณ เม.ย.2565 ร้านขายมามีอยู่ 17,000 แห่ง ลดลงจากปี 2562 ที่มีอยู่ 20,000 กว่าแห่ง
ปี2564ตลาดยาปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมมูลค่าตลาดยาปี 2565 ทั้งหมดราว 2 แสนกว่าล้านบาท โดยกว่า 2 ใน 3 อยู่ในส่วนของโรงพยาบาลในปี 2563 ในส่วนของร้านยาติดลบ 11% โรงพยาบาลติดลบ 1% ขณะที่ปี 2564 มีการปรับตัวดีขึ้น ร้านยาเติบโต 11% และโรงพยาบาลเติบโต 6%
สำหรับสัดส่วนของร้านยาในกรุงเทพมหานครต่อร้านยาต่างจังหวัดปี 2560-2564 มีการปรับตัว จากกรุงเทพมหานคร 40% ต่างจังหวัด 60% เปลี่ยนสัดส่วนเป็นร้านในกรุงเทพมหานคร 30% และต่างจังหวัด 70% เนื่องจากเภสัชกรบางคนกลับต่างจังหวัดไปเปิดร้านเอง เห็นได้ชัดใน จ.ภูเก็ต มีร้านยาที่ปิดตัวลงมาก แต่เภสัชกรที่อยู่ในส่วนของการท่องเที่ยวก็กลับมาเปิดร้านมากขึ้น ถือเป็นข้อดีในการบริการประชาชนในพื้นที่
แยกคุมร้านยา 3 ประเภท
สำหรับประเภทของร้านยา ได้แก่ ร้านขายยาปัจจุบัน (ข.ย.1) ขายยาอันตราย หรือ ยาควบคุมพิเศษบางประเภทที่อนุญาตให้เภสัชกรร้านยาขายได้ ซึ่งยาควบคุมพิเศษต้องมีใบสั่งแพทย์ ร้านต้องมีเภสัชกร
ถัดมา คือ ร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ (ข.ย.2) ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ คือ เภสัชกร แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล หรือผู้ผ่านการอบรม ไม่จำเป็นต้องมีเภสัชกร
และร้านขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จ สำหรับสัตว์ (ข.ย.3) ควบคุมการขายโดยเภสัชกร หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้น 1 หรือชั้น 2 ประจำอยู่ตลอดเวลาที่เปิดทำการ
ปัจจุบันมีการควบคุมไม่ให้เปิด ข.ย.2 เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ มาตรฐาน GPP ยาจะให้ผ่านมือเภสัชกรเท่านั้น ดังนั้น การเปิดร้าน ข.ย.2 ซึ่งไม่ใช่เภสัชกรก็เปิดไม่ได้ คาดว่าจะลดลงเหลือต่ำกว่า 1,000 แห่ง ทำให้ร้านเหล่านี้ เริ่มปรับตัวมาจ้างเภสัชกร เปลี่ยนเป็น ข.ย.1 หรือเปลี่ยนไปขายสินค้าอื่น เช่น สมุนไพร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีประเภทขายส่งยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.4) ซึ่งมีราว 400-500 แห่งทั่วประเทศ เป็นใบอนุญาตอีกรูปแบบหนึ่งในการขายส่งให้กับร้านขายยาให้คลินิก หรือร้านขายยา
ขยายตัวรับเภสัชกรจบใหม่
เภสัชกรสมพงษ์ กล่าวว่า จากการที่เห็นว่าธุรกิจต่างๆ เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดร้านร้านยามากขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นข้อดี เนื่องจาก 1 ปี มีการผลิตเภสัชกร ราว 2,000 คน แต่งานของภาครัฐไม่สามารถตอบสนองการบรรจุได้ เพราะภาครัฐรับได้ประมาณ 400-500 ตำแหน่ง ซึ่งทำให้เภสัชกรส่วนหนึ่งเปิดร้านเอง หรือในภาคการตลาดเชนใหญ่ๆ ที่เปิดร้านยาและรับเภสัชกร เป็นการจ้างงานเภสัชกรให้อยู่ประจำ และสุดท้าย คือ ประชาชนได้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม อยากรณรงค์ให้เภสัชกร ปฏิบัติงานที่ร้านยาตามป้ายที่แขวนไว้ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนในการใช้ยาและขอให้ประชาชนพยายามเลือก และถามหาเภสัชกรเมื่อรับบริการ หากพบว่าร้านขายยาไม่มีเภสัชกรสามารถแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
“เนื่องจากการแข่งขันในตลาดชุมชนเมืองค่อนข้างสูง เราจะเห็นประโยชน์อย่างหนึ่ง คือ เภสัชกรรุ่นใหม่มีการปรับตัวอยากจะเปิดร้านเองและเริ่มขยายตัวไปรอบนอก ในชุมชน ท้องถิ่นที่อยู่ ยิ่งผนวกกับการเจอเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทเลฟามาซี จะเป็นประโยชน์ในการให้คำปรึกษาเรื่องยาดูแลคนไข้ผ่านทางไกล โลกมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร ทำให้เราใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารและให้บริการด้านยากับประชาชนได้มากขึ้น”เภสัชกร สมพงษ์ กล่าว
คาดธุรกิจยาปีนี้โต3-5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน สวนทางกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมยาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องสำคัญของธุรกิจ Healthcare ซึ่งมีแนวโน้มเติบโต สะท้อนจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมดของผู้บริโภคกว่า 30-40% เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับยา โดยมูลค่าการนำเข้ายาของไทยในปี 2564 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 13.0% จากปี 63 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการนำเข้ายาเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19
แม้สถานการณ์การระบาดจะมีสัญญาณดีขึ้น จนอาจทำให้ความต้องการยาดังกล่าวปรับตัวลดลง แต่ในทางกลับกันก็อาจทำให้คนไข้ไทยกลุ่มเดิมที่รักษาโรคทั่วไป และคนไข้ต่างชาติบางกลุ่มทยอยกลับมาใช้บริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น
ในขณะที่คาดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีนี้ ปัจจัยข้างต้นน่าจะยังหนุนให้มูลค่าตลาดยาในประเทศปี 2565 อยู่ที่ 2.33-2.38 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 3.0-5.0% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ขยายตัว 2.5%
ลูกค้า รพ.รัฐ-ร้านยาเฟรนไชส์โต
นอกจากนี้ คาดว่าการจำหน่ายยาผ่านช่องทางโรงพยาบาลรัฐ น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่จะพึ่งพิงสวัสดิการรักษาพยาบาลของภาครัฐเป็นหลัก
ขณะที่ร้านค้าขายยารายย่อยต้องเผชิญการแข่งขันจากการเติบโตของร้านขายยาแฟรนไชส์และการขยายจุดจำหน่ายยาของห้างค้าปลีก
ทั้งนี้ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายสำหรับยาต้นตำรับ (Original Drugs) ต่อยาชื่อสามัญ (Generic Drugs) มีสัดส่วนประมาณ 45:55 ของค่าใช้จ่ายยาในประเทศทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดยาในประเทศน่าจะเป็นโอกาสของผู้ผลิต/นำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากมูลค่าตลาดยากว่า 70% ของมูลค่าตลาดยาทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ
ดังนั้น หากไทยต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่คุณภาพและมาตรฐานของการผลิต การสร้างความเชื่อมั่นหรือการยอมรับให้กับผู้ใช้ ตลอดจนการทำการตลาดให้หันมาใช้ยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยอาจจะเริ่มจากยาชื่อสามัญที่ไทยพอจะมีศักยภาพในการผลิตได้ ในขณะที่ยาต้นตำรับ อาจยังต้องพึ่งพาการนำเข้า เนื่องจากต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาที่ใช้ระยะเวลานานและเงินลงทุนสูง