"BA" ขาดทุนดำเนินงาน 826 ล้าน Q1/65 เล็งตั้ง "กองทรัสต์สนามบิน" เพื่อระดมทุน
สายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” หรือ BA ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2565 ขาดทุนจากการดำเนินงานเท่ากับ 826.6 ล้านบาท ชี้การท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น เล็งการตั้ง “กองทรัสต์สนามบิน” เพื่อระดมทุน
บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2565 มีรายได้รวม 1,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานเท่ากับ 826.6 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบกับปี 2564 เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 22.3%
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคการตลาดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศของประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ซึ่งถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และปัญหาการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ แต่ทางภาคอุตสาหกรรมการบินทุกภูมิภาคทั่วโลกก็ยังมีอัตราเติบโตใตทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีรายได้รวม 1,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.1% เทียบกับปี 2564 รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจสายการบิน และธุรกิจสนามบิน ซึ่งเพิ่มขึ้น 208.8% และ 206.9% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 บริษัทฯ ได้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางการบินหลัก เพื่อรองรับการกลับมาเดินทางของนักท่องเที่ยว หลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อาทิ กรุงเทพฯ-สมุย กรุงเทพฯ-ภูเก็ต กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-ลำปาง สมุย-ภูเก็ต สมุย-อู่ตะเภา ภูเก็ต-อู่ตะเภา และกรุงเทพฯ-พนมเปญ
ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2565 มีจำนวนผู้โดยสาร 4 แสนคน และจำนวนเที่ยวบินเท่ากับ 5,037 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 145.8% และ 104.4% เทียบกับปี 2564 ตามลำดับ และมีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 63.5% และมีราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 2,469.6 บาท เพิ่มขึ้น 31.3%
บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานเท่ากับ 826.6 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบกับปี 2564 เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นในอัตรา 22.3% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนขายและบริการ ซึ่งได้แก่ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน และค่าบริการผู้โดยสาร
“การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ได้แก่ การเปิดให้บริการเที่ยวบินพิเศษเฉพาะผู้โดยสารซีลรูท (Sealed Route) ในเส้นทางกรุงเทพฯ – ภูเก็ต วันละ 2 เที่ยวบิน เพื่อสนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ การให้บริการเที่ยวบิน Vaccinated Travel Lane (VTL) ในเส้นทาง สมุย-สิงคโปร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามกำหนด โดยไม่ต้องกักตัว และการจัดตั้งบริษัท กรุงเทพ รีทแมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เพื่อเตรียมการระดมทุนโดยการจัดตั้งกองทรัสต์อสังหาริมทรัพย์จากธุรกิจสนามบิน” นายพุฒิพงศ์กล่าว