6 เดือน ไทยเบฟ โต! พิชิตโควิด โกย 1.4 แสนล้าน 'อาหาร-เครื่องดื่ม' ยอดพุ่ง

6 เดือน ไทยเบฟ โต! พิชิตโควิด   โกย  1.4 แสนล้าน 'อาหาร-เครื่องดื่ม' ยอดพุ่ง

ผ่านพ้นไป 6 เดือนแรก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) อาณาจักรเครื่องดื่มและอาหารของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ยังคงสร้างการเติบโตได้ดีในทุกหมวดหมู่สินค้า

โดยรายงานผลประกอบการของบริษัทไตรมาส 2 (ม.ค.-มี.ค.65) มียอดขายรวมมูลค่า 65,826 ล้านบาท เติบโต 10.7% สร้างกำไรสุทธิ 7,332 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.2% ขณะที่ภาพรวม 6 เดือน(ต.ค.64-มี.ค.65) ไฮไลท์ยอดขายรวมมูลค่า 142,942 ล้านบาท มีการเติบโต 8.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรก่อนหักภาษี(Ebitda)เพิ่มขึ้น 7.5% มูลค่า 28,242 ล้านบาท ส่งผลต่อ “กำไรสุทธิ” มูลค่า 18,365 ล้านบาท เติบโต 14.2%

ทั้งนี้ หมวดสินค้าใหญ่ “เบียร์” ทั้งไทยและเวียดนาม สร้างผลงานได้ดี กำไรมีการเติบโต เช่นเดียวกับธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่กำไรเติบโตถึง 31.5% เนื่องจากให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างเข้มข้น ส่วนธุรกิจร้านอาหารที่เผชิญสารพัดมาตรการจากภาครัฐ เพื่อสกัดไวรัสโควิด-19 เมื่อมีการผ่อนคลายภายหลัง ลูกค้ากลับเข้ามานั่งประทานที่ร้านได้(Dine in) ทำให้ธุรกิจร้านอาหารพลิกฟื้นกำไรโต 261.5%

ปัจจุบันไทยเบฟฯ มีสัดส่วนรายได้จาก

  • กลุ่มเครื่องดื่มสุรา 45.6%
  • เบียร์ 43.3%
  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 5.8%
  • อาหาร 5.4% ส่วน 

“กำไรสุทธิ” 

  • สุรา ทำเงินสูงสุด 75.3%
  • เบียร์ 21.1%
  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.6%
  • อาหารเพียง 1% เท่านั้น

เจาะลึกรายกลุ่มสินค้า ช่วงไตรมาส 2 สุรา ทำยอดขายรวม 29,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% กำไรสุทธิ 5,472 ล้านบาท ลดลง 3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน  กำไรที่ลดลง เพราะเผชิญภาวะ “ต้นทุน” การผลิตสินค้าสูงขึ้น ทั้งเป็นกากน้ำตาลหรือโมลาส บรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ฯ เบียร์ยอดขาย 28,580 ล้านบาท เติบโตถึง 20.3% และกำไรสุทธิ 1,614 ล้านบาท เติบโตถึง 234.9% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ยอดขาย 4,216 ล้านบาท เติบโต 8.5% กำไรสุทธิ 197 ล้านบาท ลดลง 0.5% 

ส่วนธุรกิจอาหารสร้างยอดขาย 3,903 ล้านบาท เติบโต 42.6% เนื่องจากปัจจัยร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการนั่งทานที่ร้านได้อีกครั้ง กำไรสุทธิ 49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141.5% เทียบช่วงเกียวกันปีก่อนซึ่ง “ขาดทุน” 118 ล้านบาท

เมื่อไตรมาส 2 ผลงานดี จึงส่งผลต่อภาพรวมครึ่งปีแรก กลุ่มสุรา สร้างยอดขายรวมมูลค่า 65,186 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% แต่กำไรสุทธิ “ลดลง” เล็กน้อย 0.4% เพราะราคาวัตถุดิบพุ่งกระทบต้นทุน ส่วนเบียร์ มียอดขาย 61,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% กำไรสุทธิ 3,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.2% ขณะที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทำยอดขายรวม 8,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.1% มีกำไรสุทธิ 438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.5%

ด้านธุรกิจอาหารมียอดขาย 7,688 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.6% ทำกำไรสุทธิ 168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 261.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่ง “ขาดทุน” 104 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงยอดขายเชิงมูลค่าที่ฝ่าวิกฤตโควิดเติบโต แต่ยอดขาย “เชิงปริมาณ” ที่สะท้อนการบริโภคของประชาชนสามารถเติบโตเช่นกัน โดยไตรมาส 2 ยอดขายสุราอยู่ที่ 172 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 4% จาก 165 ล้านลิตร ในปีก่อน เบียร์ 553 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 11.1% จาก 498 ล้านลิตร โซดา 9 ล้านลิตร ลดลง 14% จาก 10 ล้านลิตร เมื่อร่วมน้ำดื่มช้างและโซดาช้าง อยู่ที่ 16 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 6.8% จาก 15 ล้านลิตร

ส่วนเครื่องดื่มไม่มีแอลกฮอล์ 389 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 7.2% แบ่งบ่อยลงไป ชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิและเครื่องดื่มสมุนไพรจับใจ ยอดขาย 72 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 17.9% จาก 61 ล้านลิตร น้ำดื่ม 263 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 9.3% จาก 241 ล้านลิตร และเครื่องดื่มอัดลม แบรนด์เอส ฮันเดรดพลัส และซาสี่ 53 ล้านลิตร ลดลง 12% จาก 60 ล้านลิตร และอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลืแแร่ ฯ ยอดขายราว 1 ล้านลิตร ลดลง 8.8%

ขณะที่ 6 เดือนแรก ยอดขายเชิงปริมาณกลุ่มสุราอยู่ที่ 378 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 6.4% เบียร์ 1,208 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 5.5% โซดา 18 ล้านลิตร ลดลง 18.4% น้ำดื่มช้างและโซดาช้าง 37 ล้านลิตร เพิ่มขึ่น 36.4% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 763 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 7.5% แบ่งเป็น ชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิและเครื่องดื่มสมุนไพรจับใจ 146 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 17.6% น้ำดื่ม 512 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 9.1% แลเครื่องดื่มอัดลม แบรนด์เอส ฮันเดรดพลัส และซาสี่ 103 ล้านลิตร ลดลง 9.6% และอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ ฯ ยอดขายราว 2 ล้านลิตร ลดลง 21%

ด้านธุรกิจในต่างประเทศ กลุ่มสุราสร้างยอดขายเติบโต 3% แรงขับเคลื่อนสำคัญจากตลาดเมียนมา ซึ่งมีแกรนด์ รอยัลกรุ๊ป เป็นเบอร์ 1 ในตลาดอยู่แล้ว ส่วนธุรกิจเบียร์ยอดขายเติบโต 29% จากไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น(SABECO) ฟื้นทำตลาดอีกครั้ง หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการด้านโควิด-19 รวมถึงการเติบโตของ “โซดาช้างในตลาดจีน”