"กู้เงินออนไลน์" ต้องระวัง! เช็ควิธีกู้ผ่านแอปฯ รู้ไว้ไม่ถูกหลอก
ก่อนคลิก "กู้เงินออนไลน์" ผ่าน "แอปฯ เงินกู้" ต้องระวัง! อาจโดนหลอกโดยไม่รู้ตัว การกู้เงินง่ายๆ ผ่านแอปฯ นั้นทำได้ แต่ต้องคัดกรอง และรู้วิธีเช็คที่มาของแอปฯ ว่าเชื่อถือได้ไหม และเป็นแอปฯ กฎหมายหรือไม่?
ในยุคโควิดไม่ว่าใครก็หนีไม่พ้นสภาวะการเงินที่สั่นคลอน ชักหน้าไม่ถึงหลัง โดยเฉพาะช่วง "เปิดเทอมใหม่" แบบนี้ ผู้ปกครองที่มีลูกหลานวัยเรียน ยิ่งต้องการเงินสดไปใช้จับจ่ายซื้อสิ่งที่จำเป็น โดยหนึ่งในช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินสดได้ง่ายๆ ก็คือ การ "กู้เงินออนไลน์" ผ่าน "แอปฯ เงินกู้"
แต่เดี๋ยวก่อน! การกู้เงินผ่านแอปฯ ทำง่ายได้เงินไวก็จริง แต่ก็มักมีมิจฉาชีพแฝงตัวมาหลอกลวงประชาชนที่ระบาดหนักไม่แพ้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีโฆษณาตามโซเชียลมีเดียต่างๆ พร้อมข้อความชวนเชื่อ ที่มักจะระบุว่า "กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้"
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ประชาชนผู้กู้ต้องรู้จักสังเกตให้รู้เท่าทัน อย่าหลงเชื่อกลโกงของมิจฉาชีพ และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการ (แอปฯ เงินกู้) เหล่านั้น ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?
กรุงเทพธุรกิตออนไลน์ รวมรวมข้อควรระวัง และวิธีเช็คที่มาของแอปฯ เงินกู้ ที่ประชาชนต้องรู้ ก่อนจะตัดสินใจคลิก "กู้เงินออนไลน์" ผ่านผู้ให้บริการต่างๆ ดังนี้
1. แยกแยะให้เป็น! เลือก "แอปฯ เงินกู้" ถูกกฎหมาย
ยกตัวอย่างผู้ให้บริการ "แอปฯ กู้เงิน" 3 รูปแบบ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่าง
แอปฯ เงินกู้ในระบบ : ให้เงินกู้เต็มจำนวน อัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่ทางการกำหนด (ตามกฎหมายเงินกู้ ดอกเบี้ยมีอัตราไม่เกิน 15% ต่อปี)
แอปฯ เงินกู้นอกระบบ : มักให้เงินกู้ไม่เต็มจำนวน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อน แต่เมื่อคืนเงินกู้ต้องจ่ายเต็มจำนวนบวกกับดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด หากจ่ายช้าจะถูกข่มขู่ คุกคาม
แอปฯปลอม (มิจฉาชีพ) : มิจฉาชีพจะส่ง SMS มาให้กดลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอปฯ หรือให้แอดไลน์ แล้วให้ทำสัญญาเงินกู้ ขอหลักฐานพร้อมโน้มน้าวให้โอนเงินเป็นค่าค้ำประกัน หลอกให้โอนเงินเรื่อยๆ แต่สุดท้ายไม่ได้ให้กู้จริง
2. เช็คที่มาแอปฯ หากไม่แน่ใจ อย่าคลิก!
หากลองแยกแยะแล้ว ยังไม่แน่ใจว่าแอปฯ กู้เงินดังกล่าว เป็นผู้ให้บริการกู้เงินในระบบหรือเป็นมิจฉาชีพกันแน่ ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนใช้บริการ โดยมีวิธีการตรวจสอบ ดังนี้
- ตรวจสอบรายชื่อแอปฯ และชื่อผู้ให้บริการ โดยนำไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต สามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย คลิกที่ ตรวจสอบ Non-bank ที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ในหัวข้อ "เช็คแอปฯเงินกู้" ซึ่งจะแสดงรายชื่อแอปฯ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล และยังมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลังไว้ในที่เดียว
- ติดต่อสอบถามตามที่อยู่ / เบอร์โทรศัพท์ ของผู้ให้บริการเงินกู้ เนื่องจากบางครั้งมิจฉาชีพหรือแอปฯเงินกู้นอกระบบจะตั้งชื่อแอปฯ คล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือสวมรอยเข้ามาหลอกลวงเงิน
3. เลือกแหล่งดาวน์โหลดแอปฯ ที่ปลอดภัย
ต้องเลือกแหล่งดาวน์โหลดแอปฯ ที่เป็นทางการ เชื่อถือได้ โดยอาจติดต่อขอลิงก์ดาวน์โหลดแอปฯ จากบริษัทผู้ให้บริการโดยตรง และไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือที่ถูก jail break ในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อป้องกันภัยจากไวรัสหรือมัลแวร์ ที่สามารถล้วงขโมยข้อมูลส่วนบุคคลได้
4. อย่าลืมอ่านเงื่อนไขก่อน "กู้เงิน"
เมื่อตัดสินใจว่าจะกู้เงินผ่าน "แอปฯ เงินกู้" แล้ว อย่ารีบกู้จนลืมดูรายละเอียดที่จำเป็น เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืน
ที่สำคัญ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระของตนเองด้วย โดยควรกู้เท่าที่จำเป็น และรวมภาระผ่อนชำระหนี้ทุกก้อนต่อเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน เพื่อไม่เกินขีดความสามารถที่จะจ่ายหนี้คืนได้
---------------------------------------
อ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย, ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์