รัฐมนตรีเอเปค”เร่งเอฟทีเอ หนุน“รีจีนัลเทรด”โต200-400%
ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เตรียมดันเอฟทีเอเปค สู่เป้าหมายการเป็นเอฟทีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพิ่มมูลค่าการค้ากลุ่มเอเปค เพื่ม 200-400 % พร้อมชูโมเดล BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค
กลุ่มเอเปคหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐ และเวียดนาม สมาชิกทั้งหมดนี้กำลังแสดงศักยภาพทางการค้าผ่านเวทีการประชุมเอเปคที่กำลังจะเกิดขึ้นที่กรุงเทพ ประเทศไทย
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมเตรียมความพร้อมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค 2022 (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022) ว่า การประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้นจะมีการประชุมสำคัญ 2 ส่วน 1.คือการประชุมสุดยอดผู้นำหรือ เอเปค ซัมมิท ซึ่งจะมีการประชุมระดับนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำประเทศในช่วงเดือนพ.ย.นี้และ 2. การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าของเอเปค ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยจะเป็นประธานประชุม โดยมีเขตเศรษฐกิจการค้าที่จะเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งมีขึ้นในระหว่างวันที่ 19-22 พ.ค.นี้ รวม 4 วัน จะมีทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้า ภาคเอกชนและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค มีเป้าหมายสำคัญนเรื่องแผนงานการขับเคลื่อนเอเปคสู่การเป็นเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่จะเกิดขึ้นหลังจากโควิด-19 มีเป้าหมายว่าจะทำให้สำเร็จในปี 2040 ซึ่งถ้าทำสำเร็จ FTAAP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและ มีมูลค่าการค้ารวมกันสูงที่สุดในโลก ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของไทยในฐานะเป็นเจ้าภาพการประชุม
“ FTAAPE จะมีประชากรทั้งหมด 2,900 ล้านคน คิดเป็น38% ของประชากรโลก มีจีดีพีรวมกัน 52 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 1,768 ล้านล้านบาท คิดเป็น 62% ของจีดีพีโลก ซึ่งหากทำสำเร็จได้ในปี 2040 มูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศเอเปคจะเพิ่มขึ้น 200-400% โดยประมาณ”
นอกจากนั้นจะมีการขับเคลื่อนการใช้โมเดลทางเศรษฐกิจที่ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยคือ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ในการขับเคลื่อน SMEs โดยเฉพาะ Micro SMEsให้กลายเป็นฐานรากสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและกลุ่มประเทศเอเปคต่อไปอย่างยั่งยืน เพราะเป็นโมเดลที่จะทำให้ภาคการผลิตตั้งแต่เศรษฐกิจฐานราก Micro SMEs เดินหน้าไปสู่การผลิตทั้งสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติต่อไป
จุรินทร์ กล่าวว่า ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ไทยจะถือโอกาสนี้หารือแบบทวิภาคี 2 ประเทศกับทั้งสหรัฐ รัสเซีย คนาดา ญี่ปุ่นและจีนฮ่องกงต่อไปด้วย ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีประเทศสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมาร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพียง เช่น สหรัฐ รัสเซีย ญี่ปุ่น มีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่เข้าร่วมประชุมผ่านระบบซูม เนื่องจากเคร่งคัดเรื่องโควิด
สำหรับกำหนดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคที่สำคัญ ประกอบด้วย 3 วาระสำคัญ การหารือระหว่างผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) และรัฐมนตรีการค้าเอเปค ในเรื่องแผนงานการขับเคลื่อนเอเปคสู่การเป็นเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่จะเกิดขึ้นหลังจากโควิด-19 ต่อด้วยช่วงบ่ายจะเป็นการรับทราบความคาดหวังของผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ในเรื่องการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) ส่วนวันที่ 22 พ.ย. 2565 จะเป็น การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค(MRT) เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นจะมีการแถลงผลการประชุมทันที
ความพยายามของสมาชิกเอเปค กำลังอยู่บนความท้าทายที่ทุกเศรษฐกิจต้องเผชิญทางแยกระหว่างการปกป้องการค้าภายในหลังเศรษฐกิจบอบช้ำจากโควิด-19 หรือ การเปิดเสรีการค้าเพื่อเพิ่มโอกาสให้มากขึ้น เวทีMRTจะเป็นโอกาสหารือเพื่อพาภูมิภาคสู่เป้าหมายเขตการค้าเสรีที่ประเมินว่าหากประสบความสำเร็จก็จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันได้หลายร้อยเปอร์เซ็นต์