นายกฯ เปิดงาน "Better Thailand" ชู 4 ประเด็นฝ่าวิกฤติ - ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด
นายกฯ เปิดงาน Better Thailand ถามมา-ตอบไป ชู 4 ประเด็น ดึงการค้าการลงทุน ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพ ดึงต่างชาติศักยภาพสูงลงทุน เร่งฟื้นประเทศหลังโควิด-19 ชี้ประเทศไทยมีความหวังฝ่าวิกฤติ
วันนี้ (19 พ.ค.)พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวเปิดงานเสวนา “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม”ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ว่าในขณะนี้แม้ประเทศไทยจะเจอกับเรื่องวิกฤติซ้อนวิกฤติ ไม่ว่าจะจากโรคโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงเกิดความแตกแยก ทางความคิดมากมายแค่ไหนก็ตาม รัฐบาลก็ยังเดินหน้าพัฒนาประเทศ อย่างต่อเนื่อง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ โครงการ EEC การศึกษา เป็นต้น
โดยภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ประเทศไทยเองต้องมีการลงทุน และเตรียมความพร้อมที่จะเติบโต ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ 4 เรื่อง ได้แก่
1. เทคโนโลยีดิจิทัล โดยในช่วงวิกฤติโควิด–19 ผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น อย่างก้าวกระโดด ทั้งการทำธุรกรรม และการให้บริการรูปแบบต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ / ตลอดจน การเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) การค้า e-Commerce และการใช้ Digital Banking ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว / จากการที่รัฐบาลได้มีการวางรากฐาน “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้น / และจากแนวคิด National e-Payment ส่งเสริมให้เกิด “สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society) รัฐบาลได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบาย และมาตรการต่างๆ จนประสบผลสำเร็จ
โครงข่าย 5G ที่รัฐบาลได้วางไว้ จะสามารถรองรับการพัฒนา ต่อยอดในระบบอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
2.อุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน ประเทศไทยได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) โดยมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608 (ค.ศ.2065) เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในระดับโลก ในการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26
นอกจากนี้ การตั้งเป้าหมายดังกล่าว จะทำให้ลดความเสี่ยงจากการถูกกีดกันทางการค้า และเพิ่มโอกาสที่จะเข้าร่วมในเวทีการค้าได้มากขึ้น เนื่องจากเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะถูกใช้เป็นเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ ที่มีความสำคัญมากกว่าข้อตกลงทางการค้า (FTA) ในอนาคต ขณะนี้เราก็ได้เห็นแล้ว จากการที่สหภาพยุโรปประกาศเก็บภาษีคาร์บอนบางรายการ สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าใหญ่ของไทยก็จะมีการเก็บภาษีคาร์บอนในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงในการผลิต ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องใช้โอกาสเร่งพัฒนา และประยุกต์ใช้นวัตกรรม คิดค้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มุ่งใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
ส่วนภาคพลังงาน การผลิตไฟฟ้า รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างพลังงานลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงไฟฟ้าต่างๆ เพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงขยายแนวคิดการใช้ พลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานทดแทนในทุกภาคส่วน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ส่วนเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) รัฐบาลกำหนดแผนที่จะผลิตรถยนต์ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ของการผลิตในปี 2573 ทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถบัส และรถบรรทุก โดยมีแผนระยะสั้นและระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม ตลอดจนออกมาตรการสนับสนุน สร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า อีกด้วย
3.นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ที่มุ่งเน้นการใช้ความหลากหลายของทรัพยากรที่ไทยมีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ควบคู่การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย และมรดกทางวัฒนธรรม” (Soft Power) “5F” คือ (1) Food-อาหาร (2) Film-ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ (3) Fashion-การออกแบบแฟชั่นไทย (4) Fighting-ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (5) Festival-เทศกาลประเพณีไทย มาสร้าง “มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” จากระดับท้องถิ่นสู่เวทีระดับโลก
และ 4.รัฐบาลได้กำหนดมาตรการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย เพื่อให้มาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของประเทศไทย และส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการในประเทศ โดยชาวต่างชาติที่มีศักยภาพนี้ คือ กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง หรือเป็นผู้มีทักษะสูง เช่น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง และกลุ่มผู้เกษียณอายุ จากต่างประเทศ ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว เช่น การออกวีซ่าของผู้พำนักระยะยาว การประกาศใบอนุญาตทำงาน และการศึกษาโครงสร้างเพื่อจัดตั้ง OSS : One Stop Service ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีศักยภาพสูงให้เข้ามาในประเทศไทย
ทั้งนี้รัฐบาลมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะนำความสุขกลับมาสู่พี่น้องชาวไทยโดยเร็ว แต่วิกฤติเหล่านี้เป็นวิกฤติโลก เป็นเรื่องที่เราไม่ได้ก่อ หรือจะทำให้จบด้วยตัวเราเองได้ สิ่งที่รัฐบาลสามารถให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ คือ ประเทศไทยในวันนี้ ยังมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ดี พร้อมรับมือกับวิกฤติที่ยืดเยื้อได้ มีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ และมีอุตสาหกรรมสำหรับรองรับ คนรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียนทุกด้าน ดังที่ผมได้กล่าวมาให้ท่านรับทราบ
“ในการเสวนาครั้งนี้ จะมีคำตอบในสิ่งเหล่านี้ จากรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น บางครั้งในยามวิกฤติ ไม่ว่ารัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลหน้า อาจจะทำงานไม่ทันใจก็ขอให้เข้าใจ เห็นความจริงใจ “ทุกคน” มุ่งมั่นแก้ปัญหา ตั้งใจทำงาน ขอเพียงให้อดทน ร่วมมือ ร่วมใจกัน ไม่ใช่เวลาแห่งความขัดแย้ง หรือบ่อนทำลายชาติบ้านเมือง...เพราะนี้ คือ “ประเทศไทยของเรา” แผ่นดินนี้ ยังมีสิ่งที่งดงาม และอนาคตที่ดีๆ รอพวกเรา และลูกหลานอยู่” นายกรัฐมนตรี กล่าว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์