รัฐ - เอกชน ชูพลังงานทดแทนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ภาครัฐ และเอกชนร่วมเสวนาในหัวข้อสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ เผยถึงการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วน การหาโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อลดโลกร้อน เพิ่มพลังงานสะอาด เยียวยาระบบนิเวศน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ร่วมเสวนาในงาน “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ในหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ” ระบุว่า จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ประเทศไทย ได้ประกาศการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ net zeroในปี 2065 การที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้นจะต้องขัดกับปัญหาขยะ มลพิษ การจัดการน้ำเสีย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามที่ประกาศไว้ได้ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องได้รับการสนับสนุนทั้งเรื่องเงินทุน เทคโนโลยีและการเสริมสร้างศักยภาพให้กับคนในประเทศ
ด้านปลัดกระทรวงพลังงาน กุลิศ สมบัติศิริ ระบุ ปี 2564 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่อากาศ 247 ล้านตัน ปริมาณ 2 ใน 3 มาจากภาคพลังงานการผลิตไฟฟ้า 36% ภาคขนส่ง 28% ภาคอุตสาหกรรม 31% ที่เหลือ 5% มาจากภาคเกษตรกรรม เนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในขณะที่ภาคขนส่ง 96% ยังคงใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล การที่ไปถึงเป้าหมายการลดคาร์บอนได้ต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต้องหันกลับมาที่พลังงานหมุนเวียนกระตุ้นให้ใช้มากขึ้น
ด้านประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ ปตท. อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ระบุ กลุ่ม ปตท.ตั้งเป้าในการมุ่งสู่ net zeroให้เร็วกว่าที่ประกาศไว้ส่วนจะเป็นเมื่อใดภายในปีนี้ จะมีการประกาศออกมา เนื่องจากต้องสร้างความมั่นใจว่าเมื่อประกาศออกมาแล้วจะมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน และทำได้จริง ในเบื้องต้นตามแผนจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้มากที่สุดใช้พลังงานให้คุ้มค่ามากที่สุด นำพลังงานที่เคยปล่อยทิ้งกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการปรับการลงทุนในธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในอนาคต ธุรกิจถ่านหินจะขายทิ้งให้หมดภายในปีนี้ จะไม่ขยายโรงกลั่นน้ำมันแต่หันมาทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อผลิตน้ำมันที่ลดมลพิษให้มากขึ้น ส่วนก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนการไปสู่พลังงานทดแทนจึงยังจะขยายต่อไป ส่วนพลังงานทดแทนอย่างพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์จะลงทุนมากขึ้นโดยตั้งเป้าภายในปี 2030 จะมีธุรกิจพลังงานทดแทนในพอร์ตการลงทุนเท่ากับ 12,000 เมกะวัตต์ไฟฟ้า
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์