เจาะดีลสูงสุดในรอบ 6 ปี ของ Pfizer กับนวัตกรรมรักษาไมเกรน
ดีลควบรวมกิจการระหว่าง "Pfizer และ Biohaven" จะเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปีของ Pfizer แต่จากการประมาณการของบริษัท SVB Securities ที่ดำเนินธุรกิจวาณิชธนกิจเฉพาะอุตสาหกรรม Healthcare และ Technology
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา บริษัท Pfizer ประกาศควบรวมกิจการ Biohaven Pharmaceuticals คิดเป็นมูลค่าราว 1.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าควบรวมสูงที่สุดในรอบ 6 ปีของ Pfizer และเทียบเท่าสถิติมูลค่าการควบรวมสูงสุดในปี 2021 อีกด้วย
โดย Biohaven เป็นบริษัทผู้ผลิตยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคทางระบบประสาท โดยบริษัทมีความชำนาญในการพัฒนายาที่ช่วยยับยั้งสาร CGRP อันเป็นสาเหตุของอาการไมเกรนที่มีผู้ป่วยกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก หรือราว 15% ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งการควบรวมนี้ Pfizer จะมีสิทธิ์ทำการตลาดยากลุ่ม CGRP เท่านั้น โดยคาดว่าจะสร้างยอดขายเพิ่มจากการควบรวมได้สูงสุดถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มยอดขายอีก 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2030 หรือคิดเป็นรายได้ทั้งไตรมาส 1 ของปี 2022
หากเรากล่าวถึงโรคไมเกรนนั้น อาจจะรู้สึกว่าเป็นโรคทั่วไปธรรมดาที่คงจะซื้อยารักษาที่ไหนก็ได้ เพราะด้วยความที่เราอาจคุ้นเคยชื่อนี้มานาน แต่ถ้าบอกว่ามนุษย์เพิ่งค้นพบยาสำหรับรักษาไมเกรนโดยเฉพาะ หรือ Specific Drugs เช่น ยาตระกูล Triptans นั้นเพิ่งถูกค้นพบเมื่อช่วงปี 90 นี้เอง แม้ว่าโรคไมเกรนจะถูกกล่าวมากว่า 1,500 ปี ก่อนคริสตกาลก็ตาม แต่ยาตระกูล Triptans มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ เพราะตัวยามีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว ยิ่งไปกว่านั้นหากกินยา Triptan นานๆ อาจเกิดการดื้อยาและประสิทธิภาพการรักษาลดลง
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยไมเกรนกับสาร Calcitonin Gene-Related Peptide หรือ CGRP ที่เป็นสารชนิดหนึ่งในร่างกายที่ออกฤทธิ์ให้หลอดเลือดขยายตัว โดยผู้ป่วยที่เกิดอาการไมเกรนมักมีสาร CGRP มากกว่าคนปกติ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของบริษัทยาที่เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทริเริ่มพัฒนายาที่สามารถลดสาร CGRP ได้
โดยช่วงแรกมีการคิดค้นยาในรูปแบบ Monoclonal antibody (mAb) โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง แต่ด้วยกลุ่มยา mAb ที่เป็นประเภทชีววัตถุที่มีโมเลกุลใหญ่ แม้จะมีประโยชน์มากในการยับยั้ง CGRP ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรค แต่ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดฉับพลันอันเป็นอุปสรรคต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยไมเกรนอย่างมาก
ดังนั้น ยาสูตรเคมีแบบโมเลกุลเล็กจะช่วยรักษาอาการที่เกิดฉับพลันได้ดีกว่า เพราะร่างกายดูดซึมง่าย แต่ยาเคมีที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคในระยะยาวได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2020 และ 2021 ยา Rimegepant ของบริษัท Biohaven ได้รับอนุมัติโดย FDA สหรัฐอเมริกา ให้ใช้รักษาอาการปวดไมเกรนเฉียบพลัน และกินเพื่อป้องกันอาการไมเกรนที่เกิดเป็นครั้งคราว (Episodic) ได้ในตัวยาเดียวกัน นับว่าเป็นยาเคมีชนิดรับประทานตัวแรกของโลกที่สามารถรักษาและป้องกันได้ควบคู่กันและมีประสิทธิภาพดีเมื่อเทียบกับยาหลอก (Placebo) โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Lancet เมื่อปี 2021 พบว่า ภายหลังรับประทานยา Rimegepant 2 ชั่วโมงแรกสามารถระงับอาการปวดได้ 21.2% สูงกว่ายาหลอกที่ระงับอาการได้เพียง 10.9% และ Rimegepant ช่วยแก้อาการอื่นๆ ที่เกิดจากไมเกรน (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือ แพ้แสง) ได้ถึง 35.1% ขณะที่ยาหลอกทำได้เพียง 26.8% เท่านั้น และในด้านการป้องกันพบว่า หากกิน Remigepant ต่อเนื่อง 3 เดือน ช่วยลดจำนวนวันที่เกิดอาการลงได้ 4.3 วัน มากกว่ายาหลอกที่ 0.8 วัน ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพดีทั้ง 2 ด้าน และลดความยุ่งยากในการป้องกันด้วยยาฉีด และระงับอาการปวดฉับพลันได้ด้วย
สำหรับผลประโยชน์ของดีลควบรวมกิจการนี้ เป็นการผนึกกำลังระหว่าง Biohaven ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตยาที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ซึ่ง Pfizer ยังไม่มียาด้านนี้เลย นับตั้งแต่ยกเลิกการวิจัยยารักษาโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสันไปเมื่อปี 2018 แต่ Pfizer มีจุดแข็งที่มีเครือข่ายและช่องทางการจำหน่ายยาอยู่ทั่วโลก โดย Pfizer ตั้งเป้าจะสร้างส่วนแบ่งการตลาดของ Remigepant จาก 5% ในปี 2021 เป็น 40% ให้ได้
ทั้งนี้ แม้ว่าสำหรับดีลควบรวมกิจการระหว่าง Pfizer และ Biohaven จะเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปีของ Pfizer แต่จากการประมาณการของบริษัท SVB Securities ที่ดำเนินธุรกิจวาณิชธนกิจเฉพาะอุตสาหกรรม Healthcare และ Technology เป็นหลักระบุว่า จำนวน 18 บริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ สามารถใช้เงินสด รวมถึงศักยภาพในการก่อหนี้เพื่อเข้าซื้อกิจการภายในปี 2022 ได้ถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกว่า 12 บริษัทมีเงินสดในมือมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น Moderna, Johnson & Johnson, Novartis and BioNTech รวมถึง Pfizer ด้วย ดังนั้น หลังจากที่กิจกรรมควบรวมกิจการที่เป็นแรงหนุนให้กลุ่มหุ้น Healthcare หรือ Biotechnology มาตลอดต้องซบเซาลงไปในช่วงปี 2021 ที่ระดับราคาหุ้นกลุ่ม Healthcare ขนาดกลาง-เล็กสูงเกินไป การเดินดีลของพี่ใหญ่ Pfizer อาจเป็นจุดเริ่มต้นของพี่ใหญ่อื่นๆ ที่กำลังพิจารณาควบรวมกิจการเพื่อหวังการเติบโตในอนาคต และทำให้กลุ่ม Healthcare และ Biotechnology กลับมาเป็นที่น่าสนใจมากขึ้นสำหรับเหล่าผู้ลงทุนต่อจากนี้ไป
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้