MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 16-20 พฤษภาคม 2565
เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เงินบาทฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขาย หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอ กระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
• หุ้นไทยปรับตัวขึ้นขานรับตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาส 1/65 ที่ขยายตัวดีกว่าคาดการณ์และการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดในประเทศเพิ่มเติม
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ หลังแข็งค่าผ่านแนวสำคัญหลายแนว ประกอบกับมีปัจจัยบวกช่วงต้นสัปดาห์จากข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/65 ของไทยที่ออกมาดีกว่าที่คาด ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยอ่อนค่าลงตามการย่อตัวของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และยอดขายบ้านมือสองที่ลดลง 3 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้นๆ ระหว่างสัปดาห์ หลังจากที่ประธานเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวกลับลงมา อย่างไรก็ดีเงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงขายอีกครั้ง เนื่องจากนักลงทุนเปลี่ยนจุดสนใจไปที่การประเมินความเป็นไปได้ของการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากเฟดมากขึ้น
ในวันศุกร์ (20 พ.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 34.27 (หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 34.25) เทียบกับระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 พ.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทย 12,600 ล้านบาท และ 9,362.4 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนเม.ย. รายงานการประชุมเฟดเมื่อ 3-4 พ.ค. สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนเม.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/65 (ครั้งที่ 2) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลข PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
หุ้นไทยพลิกกลับมายืนเหนือแนว 1,600 จุด โดยหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ ขานรับตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาส 1/65 ที่ออกมาดีกว่าคาดรวม ถึงข่าวที่จีนเตรียมผ่อนคลายล็อกดาวน์ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงสั้นๆตามตลาดหุ้นต่างประเทศตามความกังวลเรื่องดอกเบี้ยของเฟด ก่อนจะปรับตัวขึ้นอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดในประเทศเพิ่มเติม การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ นำโดย หุ้นกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงกลุ่มไฟแนนซ์และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ในวันศุกร์ (20 พ.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,622.95 จุด เพิ่มขึ้น 2.43% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 71,995.00 ล้านบาท ลดลง 11.04% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.94% มาปิดที่ 625.66 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,580 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,635 และ 1,650 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนเม.ย. ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนเม.ย. บันทึกการประชุมเฟด และจีดีพีไตรมาส 1/65 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงกำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. ของจีน