“กูรู” ชี้หุ้นขุดบิตคอยน์เสน่ห์ "เก็งกำไรลด"
"กูรู" ชี้หุ้น "ขุดบิตคอยน์" หมดรอบเก็งกำไร หลังราคาทรุด ลั่นต้องรอราคารีบาวด์ ! ถึงดึงดูดเสน่ห์กลับ เผย “ตลาดคริปโท” ซบโอกาสปรับขึ้นแรงยาก เหตุต้นทุนพุ่ง กว่าคุ้มทุนใช้เวลา 3 ปี เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินลด !!
ในช่วงที่ผ่าน “สินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset) ถือเป็นเทรดมาแรง !! มีนักลงทุนทั้งรายเก่าและรายใหม่ต่างให้ความสนใจลงทุน และหนึ่งในนั้นคือธุรกิจ “เหมืองขุดบิตคอยน์” ที่หลายคนหวังทำกำไรจากการครอบครอง “สกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี” (Cryptocurrency) ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจที่มองว่าเป็นหนึ่งในโอกาสต่อยอดและสร้างสตอรี่ใหม่ๆ ของธุรกิจเข้ามาเป็นรายได้ใหม่จาก “ธุรกิจใหม่” (New Business)
สะท้อนผ่านจำนวนของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) หลั่งไหลเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าว หลังราคาบิตคอยน์พุ่งร้อนแรง แต่ก็มาพร้อมกับความผันผวนแบบ “ขึ้นสุด-ลงสุด” จากระดับ 14,156 ดอลลาร์ เมื่อปี 2560 ก่อนปรับฐานลงมาต่ำกว่า 4,000 ดอลลาร์ ในปลายปี 2561 ก่อนเข้าสู่ตลาด “ขาขึ้นรอบใหม่” ช่วงปลายปี 2563 โดยขึ้นไปทำ “จุดสูงสุด” (ออลไทม์ไฮ) 66,971 ดอลลาร์ (เมื่อ 29 พ.ย. 2564) ถือเป็นสตอรี่ให้บริษัทจดทะเบียนหลากหลายรายปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาเส้นทางดังกล่าว จากแนวคิดที่ว่าเป็นธุรกิจเทรนด์ของโลก ! ซึ่งบริษัทที่เปลี่ยนโมเดลดังกล่าวเบื้องต้นทำให้เกิดแรงเก็งกำไร ซึ่งสะท้อนมาที่ “ราคาหุ้น” ก่อน เมื่อมีประเด็นข่าวมีสตอรี่เข้ามาช่วยหนุน
“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่มีข่าวเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจขุดเหมืองบิตคอยน์จำนวน 11 บริษัท นำโดย บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ของ “พิชญ์ โพธารามิก” ถือเป็นบริษัทแรกๆ ที่เริ่มธุรกิจขุดบิตคอยน์ ลงทุนผ่านบริษัทย่อย บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด ซึ่งปีนี้ทุ่มเงินลงทุนอีก 3.3 พันล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์เพิ่ม 6,300 เครื่องในปีนี้ และจากสตอรี่ของการประกาศทำเหมืองขุดก็ส่งผลให้ราคาหุ้น JTS ทะยานหลายเท่าตัวขึ้นจากระดับหลักไม่ถึง 1 บาทต่อหุ้นวิ่งสู่ระดับเหนือ 500 บาท
ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 96.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 135.57% จากไตรมาส 1 ปี 64 มีกำไรสุทธิ 10.23 ล้านบาท บาท ซึ่งมีรายได้จากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากการขุดสกุลเงินดิจิทัล จำนวน 25.23 ล้านบาท โดยขุดเหรียญได้ 18.61032126 เหรียญบิตคอยน์
ซึ่งในไตรมาส1 มีการติดตั้งเครื่องขุดบิตคอยน์แล้ว 525 เครื่อง กําลังขุดรวม 50,020 TH/s และมีจํานวนเครื่องขุดบิตคอยน์ที่จะทยอย ส่งมอบในปี 2565 ทั้งสิ้น 3,000 เครื่อง ทําให้ปลายปี 2565 ทาง JasTel จะมีเครื่องขุดบิตคอยน์ ที่ส่งมอบแล้วทั้งสิ้น 3,525 เครื่อง กําลังขุดรวมทั้งสิ้น 422,020 TH/s รวมถึงอยู่ระหว่างการเจรจาการ สั่งซื้อเครื่องขุดบิทคอยน์เพื่อทําให้มีกําลังขุดรวมทั้งสิ้น 1,000,000 TH/s ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2566
บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA ของ “ตระกูลงามจิตรเจริญ” ประกาศลงทุนซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์ประกาศเป้าหมายอยากมีเครื่องขุดบิตคอยน์ปีนี้กว่า 10,000 เครื่อง ซึ่งสตอรี่ดังกล่าวทำให้ราคาหุ้น ZIGA ร้อนแรงมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 65 มีกำไรสุทธิ 12.09 ล้านบาท ลดลง 60.02% จากไตรมาส 1 ปี 64 ที่มีกำไรสุทธิ 30.30 ล้านบาท ซึ่งมีรายได้จากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากการขุดสกุลเงินดิจิทัล จำนวน 10.86 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทเริ่มประกอบกิจการขุดสกุลเงินดิจิทัลในเดือนธ.ค. 64 และมีต้นทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวน 12.40 ล้านบาท
บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA เพิ่งอนุมัติเข้าลงทุนในเหมืองบิตคอยน์เพิ่มอีก 140 ล้านบาท โดยบริษัทวางแผนซื้อเครื่องขุดเพิ่ม 300 เครื่อง ภายในไตรมาส 2 นี้ ขณะที่บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA จับมือพันธมิตรเข้าลงทุนเหมืองบิตคอยน์ใน สปป.ลาว ล่าสุด ติดตั้งเครื่องขุด 6,000 เครื่อง บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT จับมือพันธมิตรนำพลังงานไฟฟ้าที่เหลือใช้จากโรงไฟฟ้าบริษัทลูกมาสร้างเหมืองขุดบิตคอยน์ ล่าสุด บริษัท เชาว์สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW ประกาศลงทุนซื้อเครื่องขุดมูลค่าไม่เกิน 150 ล้านบาท
ในช่วงที่ผ่านมานับว่าเป็นช่วง “เอ็นจอย” ของเหล่าผู้ประกอบการขุดเหมืองบิตคอยน์จากสตอรี่ธุรกิจใหม่และราคาเหรียญที่พุ่งนิวไฮ !! ทว่าปัจจุบันอาจหมดช่วงเวลาเอ็นจอยแล้วหรือเปล่า ? ท่ามกลางตลาดที่ไม่สดใสราคาเหรียญดิ่งหนัก... กดดันมูลค่าตลาดรวมปรับลดลง สะท้อนภาพราชาคริปโทฯ อย่าง Bitcoin ซื้อขายในกรอบ 30,237-28,654 ดอลลาร์ หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ได้ออกมายืนยันเฟดพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐลดลงกลับไปอยู่ในระดับเป้าหมายที่วางไว้ที่ 2%
สอดคล้องกับ “ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) วิเคราะห์กลุ่มธุรกิจที่ปรับโมเดลใหม่เข้าสู่ธุรกิจขุดเหมืองบิตคอยน์ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์แวดล้อมของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเปลี่ยนไปแล้ว สะท้อนได้จากช่วงที่ผู้ประกอบการบจ. ต่างๆ ออกมาประกาศเข้าลงทุนในธุรกิจขุดเหมืองบิตคอยน์นั้น ราคาเหรียญบิตคอยน์อยู่ในระดับสูงระดับ 40,000-50,000 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบันราคาเหรียญปรับตัวลงมาค่อนข้างลึกมากหรือลดลงกว่า 30% และต้นทุนค่าไฟก็ปรับขึ้นอีกเป็นผลกระทบอีกเด้ง
ดังนั้น ธุรกิจมีรายได้ลดลงขณะที่มีต้นทุนสูงขึ้น มองว่าตอนนี้อาจจะไม่ใช่จังหวะของการลงทุนที่ดีนัก ซึ่งอาจต้องรอให้ราคาเหรียญกลับมาก่อน โดยมองว่ามีโอกาสที่ราคาเหรียญบิตคอยน์จะกลับมาได้ โดยเฉพาะในเหรียญขนาดใหญ่ หรือใน 10 อันดับแรกที่นักลงทุนยอมรับ แต่คาดว่าราคาจะกลับมาแบบค่อยๆ ปรับขึ้นจะไม่หวือหวาเหมือนที่ผ่านมา
“ราคาเหรียญบิตคอยน์มีโอกาสฟื้นตัวได้แต่เป็นแบบลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และยากที่จะขึ้นหวือหวาเฉกเช่นปีที่ผ่านมาที่ราคาขึ้นไปบิตคอยน์นิวไฮแตะ 66,000 ดอลลาร์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมธุรกิจเปลี่ยนไปแล้ว หลังแนวโน้มสภาพคล่องในระบบการเงินลดลง และในช่วงที่ผ่านมาราคาบิตคอยน์พุ่งมาจากสภาพคล่องในระบบล้นหลาม”
ด้าน "เอกราช ศรีศุภวิชากิจ" หัวหน้าฝ่ายความเสี่ยงและฝ่ายวิจัย บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด กล่าวว่า เหรียญบิตคอยน์ถูกขุดไปแล้ว 19 ล้านเหรียญ ซึ่งเหลืออีก 2 ล้านเหรียญ ที่จะทยอยออกมาให้ขุดในระยะเวลา130-140 ปี โดยบิตคอยน์จะมีการลดจำนวนเหรียญลงในซัพพลายเชนทุก ๆ 4 ปี ซึ่งปัจจุบันเหรียญบิตคอยน์ทยอยออกมาให้ขุดอยู่ที่ 6.25 เหรียญ ต่อ 10 นาที และในปี 2567 จำนวนที่ออกมาให้ขุดเฉลี่ย3.15 เหรียญต่อ 10 นาที
การทำธุรกิจขุดบิตคอยน์ในไทยสามารถที่จะสร้างรายได้จริง แต่ยากที่จะก้าวสู่ผู้นำเบอร์ต้นๆ ของโลกได้ เนื่องจากมีหลายปัจจัยกดดันเช่น สภาพอากาศที่อาจจะยังไม่เอื้อ และยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการขุดน้อย และต้องใช้เงินลงทุนสูง เพื่อให้เครื่องขุดมีประสิทธิภาพในการขุดที่สูง
อย่างไรก็การที่มีบริษัทหันมาทำธุรกิจขุดบิตคอยน์นั้น อาจมองว่าการขุดบิตคอยน์นั้น ง่ายกว่าการเก็งกำไร เนื่องจาก ใช้เวลาในการลงทุน 3 ปี ก็สามารถที่จะถึงจุดคุ้มทุนได้ และหากราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี