ดีเดย์ ส.ค. ลงทะเบียน ‘บัตรคนจน’ รอบใหม่

ดีเดย์ ส.ค. ลงทะเบียน ‘บัตรคนจน’ รอบใหม่

ฟังทางนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเปิดให้ผู้มีรายได้น้อย​ ลงทะเบียนรับ บัตรคนจน รอบใหม่​ส.ค.นี้ คาดตัวเลขทะลุ 20 ล้านคน ร่วมพูดคุยกับ วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง

กระทรวงการคลัง เตรียมเปิดให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าลงทะเบียนรับบัตรสวัสดิการรัฐเพิ่มเติม(บัตรคนจน)รอบใหม่ในเดือนส.ค.นี้ โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างให้แบงก์รัฐ อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเสนอเงื่อนไขการจัดทำระบบเพื่อลงทะเบียนดังกล่าว
“เรากำลังเปิดให้แบงก์รัฐเสนอเงื่อนไขการเสนอตัวเป็นผู้จัดทำระบบการลงทะเบียนบัตรคนจนและการใช้บัตรคนจน เพราะรอบนี้ เราจะกำหนดให้ใช้บัตรประชาชนแทนบัตรคนจนใบเดิม แต่บัตรคนจนใบเดิมนั้น สามารถกดเงินสดได้ ฉะนั้น ก็จะต้องมาดูว่า เมื่อใช้บัตรประชาชนแล้ว จะสามารถกดเงินสดได้ในช่องทางใดได้บ้าง เบื้องต้น น่าจะใช้ลักษณะการผูกพร้อมเพย์กับแบงก์ เป็นต้น”

การเปิดให้ลงทะเบียนรอบใหม่นี้ คาดว่า จำนวนคนจนจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 13 ล้านคน เนื่องจาก สถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้มีรายได้น้อย


“เรายังบอกไม่ได้ว่า จะมีคนจนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ต้องรอผลการลงทะเบียนก่อน แต่เบื้องต้น เราคาดว่า จะเพิ่มขึ้น ส่วนงบที่ใช้ในการลงทะเบียนน่าจะอยู่หลักสิบถึงร้อยล้านบาท”


แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเผยว่า สาเหตุที่กระทรวงการคลังต้องเปิดให้มีการลงทะเบียนรอบใหม่ เนื่องจาก ข้อมูลผู้ถือบัตรคนจนในปัจจุบันเป็นข้อมูลในปี 2559-61

โดยที่ผ่านมายังมีกลุ่มตกหล่นที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงการฯประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในวงกว้าง ทำให้ข้อมูลผู้ถือบัตรคนจนไม่สะท้อนข้อมูลผู้มีรายได้น้อยในปัจจุบัน


ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการลงทะเบียนใหม่ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการระบุตัวผู้มีรายได้น้อย และมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรสวัสดิการสังคมของรัฐให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น


ทั้งนี้ คาดว่า จะมีประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนร่วมโครงการประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งจะรวมถึงผู้ถือบัตรคนจนในปัจจุบันประมาณ 13 ล้านคนและผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิรายใหม่


แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทะเบียนรอบนี้จำนวนกว่า 560 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างเหมาบริการระบบลงทะเบียนและการยืนยันตัวตนกรณีการใช้บัตรประชาชนแทนบัตรสวัสดิการจำนวน 164 ล้านบาท และ ค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียนของหน่วยรับลงทะเบียน ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย กรมบัญชีกลาง(คลังจังหวัด)กระทรวงมหาดไทย(ที่ว่าการอำเภอ)สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเมืองพัทยา รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 400 ล้านบาท 


สำหรับคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนนั้น ได้มีการปรับปรุงจากเงื่อนไขเดิมที่พิจารณารายได้เป็นรายบุคคลเป็นรายครอบครัว โดยกำหนดรายได้ต่อหัวไม่เกิน 1 แสนบาท และยังกำหนดเงื่อนไขใหม่ที่ผู้ลงทะเบียนต้องไม่มีการถือครองบัตรแครดิต ไม่มีหนี้สินบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และ ไม่มีหนี้สินยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาทด้วย ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ และ เงินฝาก จะใช้เงื่อนไขที่ใกล้เคียงกับเงื่อนไขเดิม แต่จะพิจารณารวมทรัพย์สินของบุคคลในครอบครัวด้วย