เปิดใจ‘ดร.ยุ้ย-เกษรา'ซีอีโอเสนาฯกับเส้นทางที่เลือก!
“ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์จำกัด (มหาชน) เปิดใจครั้งแรกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” หลังสิ้นภารกิจร่วมทีม “สร้างนโยบาย” ให้ "ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" โกยคะแนนเสียงเลือกตั้งนั่งเก้าอี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร คนที่ 17
เส้นทางเดินของเธอจะไปต่อหรือพอแค่นี้กับวาระการเมืองที่ถูกจับตากับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.
Q : ภารกิจของ ดร.ยุ้ย หลังจากนี้
A : ก็เลี้ยงลูก 2 คน ส่วนการตัดสินใจขอเวลาหน่อย แต่ที่ผ่านมา ไม่ได้หวังที่จะได้รับตำแหน่งตั้งแต่แรกที่ตัดสินใจเข้ามาทำงานกับ ดร.ชัชชาติ อยู่แล้ว เพราะเรามีงานที่ต้องรับผิดชอบรออยู่ จริงๆ ที่เข้ามาทำเพราะอยากเห็นนโยบายดีๆ มากกว่า นโยบายที่ดีสามารถช่วยคนได้มาก ยิ่งเมื่อเดินเข้าไปตามชุมชนต่างๆ สัมผัสและรับรู้ได้เลยว่า บางนโยบายอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายทองคำสำหรับคนฐานรากมากจริงๆ อยากจะบอกว่านโยบายดีๆ นโยบายเดียวสามารถเปลี่ยนชีวิตคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข หรือ โรงเรียนดีๆได้ด้วยตนเอง พี่กำลังจะเล่าให้เห็นว่า ถ้าทำนโยบายดีๆ แค่ 1-2 นโยบายก็สามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้
Q : ผลลัพธ์ที่ออกมา ดร.ชัชชาติ ได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายมาก
A : คุณชัชชาติ ประสบความสำเร็จเพราะคนเชื่อมั่นในตัวผู้ว่าฯ รวมทั้งทีมงานที่มีอีกเยอะ ตัวเองน่าจะเหมาะกับการทำนโยบายมากกว่า ก็ขอรอดูอีกสักนิดหนึ่ง แต่ก็มีความเป็นไปได้แบบนั้น ขอเวลาคิดอีกสักนิดนะ (หัวเราะ) พี่ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่คงต้องตัดสินใจเร็วๆ นี้ เพราะว่าคุณชัชชาติก็ต้องประกาศหลัง กกต. รับรองผล
Q : เคยคิดไว้ไหมว่าถ้าต้องไปเป็นรองผู้ว่าฯ จะมอบหมายให้ใครดูแล เสนาฯ เพราะที่ผ่านมาเวลาที่ทุกคนนึกถึงเสนาฯ จะนึกถึงดร.ยุ้ย
A : (หัวเราะ) ฟังดูเหมือนดีนะ จริงๆ ก็มีแหละ แต่ทีมงานที่บริษัทมักคิดว่าเขาพูดไม่เก่งกันก็เลยชอบให้พี่ไปพูด เพราะพูดฟังง่าย แต่จริงมีเบอร์ 2 ที่มีศักยภาพพร้อมรับหน้าที่ต่อได้ทันที เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้ออกสื่อ การบริหารองค์กรต้องมีการเตรียมการอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเบอร์2 ในสายงานอะไร อาจไม่ได้ดูในภาพรวมทั้งหมด แต่ละสายจะมีซีเนียร์ที่ดูแลงาน สามารถมาทำหน้าที่แทน
Q : จำเป็นไหมที่ต้องเป็นคนในครอบครัว
A : ไม่จำเป็น เพราะบริษัทต้องดูว่าใครเหมาะที่สุดที่จะทำหน้าที่ไหนมากกว่า ในแง่ความเป็นเจ้าของเราต้องคิดว่าอะไรที่ได้ผลตอบแทนดีที่สุด ถ้าเอาคนที่ดีที่สุดบริหารผลตอบแทนจะออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
Q : ระหว่างโลกธุรกิจกับโลกการเมือง
A : เป็นเรื่องที่ต้องคิดหลายๆ ด้าน แต่ไม่ปฏิเสธว่า ยิ่งไปเดินตามชุมชนมากๆ แล้ว “อิน” ไม่ปฏิเสธว่า การไปเดินแรกๆ จุดประสงค์เพื่อทำนโยบายที่ดี เพราะการนั่งเขียนนโยบายอยู่บนโต๊ะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ต้องลงพื้นที่ กรุงเทพฯ มีราว 1,202 ชุมชน มีชุมชนแออัดประมาณ 600 ชุมชน ที่เหลือจะมีชุมชนคอนโด บ้านมีรั้ว ใน 600 ชุมชนพี่่ไปได้สัก 300 ชุมชนได้ เพราะต้องการเข้าใจปัญหาว่าเพื่อจะแก้ได้ถูกจุด ซึ่งพบว่ามีปัญหามากกว่าที่คิด บางเรื่องไม่หน้าเชื่อ! ว่าถ้าแก้จริงๆ ฟังดูไม่ยากถ้าใส่ใจพอที่จะทำ แต่บางอย่างแก้ยากและต้องใช้เวลานาน
ปัญหาแต่ละชุมชนมีหลายด้านมาก เป็นที่มาว่าทำไมถึงมีนโยบาย 50 เขต ยิ่งลงเหมือนรู้สึกว่า คิดถูกแล้วถ้าอยากแก้ต้องมาอยู่ฝั่งผู้มีอำนาจควบคุม กำหนดนโยบาย (Regulator) เพราะฝั่งเอกชนให้ทำแทบตายไม่มีทางแก้ที่ต้นเหตุได้ ซึ่งแนวทางสามารถแก้ได้ 2 แบบ คือ แก้ครั้งเดียวเลยจบ เช่น ไม่มีบ้านสร้างบ้านให้ กับอีกแบบสร้างแล้วต่อเนื่อง เช่น การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้เท่าทันโลกต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะโลกเปลี่ยนทุกวัน ฉะนั้นต้องเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก ในแง่นโยบายก็เรื่องหนึ่งแต่คนที่นำไปปฏิบัติอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ต้องมาคิดให้เป็นในทิศทางเดียวกัน บางเรื่องอาจเป็นนโยบายที่ดีแต่หากยากในการปฏิบัติก็ไม่ใช่นโยบายที่ดี
Q : ถอดบทเรียนจากการทำงาน (นโยบาย)
A : ในแง่ความสำเร็จ คือ ผู้ว่าฯ (คุณชัชชาติ) เพราะคนเชื่อว่าสิ่งที่ท่านทำมันดี เครดิตอยู่ตรงนั้น แต่ถ้าถอดบทเรียนสำหรับตัวเอง ที่เติบโตจากคนที่ถูกเลี้ยงดูมาในทิศทางอีกแบบหนึ่ง เข้าโรงเรียนที่พ่อแม่คิดว่าเหมาะสมและคิดว่าดี แต่เราได้พบกับผู้คนที่มีความหลากหลาย มีวิธีคิดไม่เหมือนกันหรือบางคนไม่มีโอกาสมาก เป็นชีวิตที่เราไม่เคยเห็น
จากปกติที่ทำความเข้าใจลูกค้าไม่ได้ต้องเข้าใจลึกขนาดนี้ เราเข้าใจลูกค้าแค่เขาอยากซื้อบ้านเพราะอะไร เราเจาะไปที่สินค้าเดียว คือ บ้าน แต่ว่าต้องไปแก้ให้ชีวิตคนน่าอยู่ขึ้น องค์ประกอบการทำความเข้าใจเยอะมาก เพราะโจทย์ของคุณชัชชาติ คือทำอย่างไรให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่ สำหรับทุกคน คำว่าน่าอยู่ ยิ่งใหญ่กว่าการทำอย่างไรให้เขาซื้อบ้านเยอะ
และคำว่าน่าอยู่สำหรับคนที่ไร้บ้าน คือ มีบ้าน มีห้องอาบน้ำ คือ น่าอยู่แล้ว แต่คนที่มีบ้านแล้ว คำว่าน่าอยู่อาจหมายถึงมีมลภาวะน้อยกว่านี้ ซึ่งจะมีระดับที่แตกต่างกันออกไป ในการทำธุรกิจถ้าคิดผิด ก็ขายบ้านไม่ได้ แต่เมื่อเราเลือกทำนโยบายให้ชีวิตเขาดีขึ้นความรับผิดชอบยิ่งใหญ่กว่าเยอะเลย
Q : แล้วพร้อมหรือยังที่จะเข้าไปรับผิดชอบ
A : พี่อาจจะยังไม่เก่งพอ (หัวเราะ)
Q : เสียดายไหมถ้าตัดสินใจไม่ไปต่อ
A : การช่วยสามารถทำได้หลายรูปแบบ ยืนยันว่าจะช่วยต่อไป ซึ่งทุกคนเปิดโอกาสให้เลือก แต่เราต้องคิดทบทวนก่อนตัดสินใจ ทันทีที่ กกต.ประกาศ พี่จะประกาศการตัดสินใจอย่างเป็นทางการ เราไม่ได้ไปทำงานเพราะต้องการตำแหน่งอะไร ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ในการตัดสินใจ แต่ไม่ปฏิเสธว่าอยากจะลงมือไปทำนโยบายที่เขียนไว้ แต่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่เกิดจากปัจจัยบวกกับลบมากกว่าเรื่องตำแหน่ง เราคิดแต่เพียงว่าถ้าทำนโยบายดีๆ แล้วสามารถเปลี่ยนให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ก็อิ่มใจ
Q : เมื่อพร้อมกว่านี้จะกลับไปทำไหม
A : ถ้ายังมีประโยชน์ก็พร้อมจะกลับไปนะ อย่าไปคิดว่าทุกคนต้องการเราตลอดเวลา แต่ต้องคิดว่าเรามีประโยชน์ต่อตรงนั้นมากกว่าหรือไม่ เมื่อถึงเวลานั้นแม้จะอยากทำแต่อาจมีคนที่เหมาะสมกว่าก็ได้ มีปัจจัยที่ต้องคิด ที่ผ่านมาเป็นความรับผิดชอบหลังจากที่รับปากกับคุณชัชชาติ จะเข้ามาช่วยก็ต้องทำให้เสร็จ ไม่ชอบทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ตอนนี้ถือว่าสำเร็จไปหนึ่งเฟสแล้ว
Q : ย้อนถึงจุดเด่นของการทำนโยบายครั้งนี้
A : เริ่มจากการที่คุณชัชชาติ วางกรอบแนวคิดมาให้เห็นก่อน เช่น คำว่าเส้นเลือดฝอย เขาสร้างโลกมาก่อนที่เราจะเข้าไป โลกที่เราเข้าไปเขารีดมาให้เห็นแล้วว่า มันคือเรื่องเล็กที่เวลาแก้แล้วมันคือเรื่องใหญ่เหมือนกับโซ่ที่จะแข็งแรงหรือไม่แข็งแรงขึ้นอยู่กับห่วงที่อ่อนแอที่สุด เพราะวางกรอบมาได้ดีทำให้มองเห็นเรื่องที่ควรจะทำให้เกิดผลดีต่อการใช้ชีวิตของคนในเมืองไม่ใช่การลงทุนสร้างสะพานขนาดใหญ่
ซึ่งที่จริงคนเราไม่ต้องการอะไรเยอะเลย เช่น ตามชุมชนเขาต้องการแค่น้ำไฟเข้าถึง มีถนน เพราะเวลาเกิดอุบัติเหตุสามารถออกมาได้ง่าย ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานที่เมืองควรจะต้องแก้ได้ ยกเว้นบางกลุ่มที่มีปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวเอง เช่น ติดเหล้า ติดการพนัน แต่เราต้องคิดต่อว่า ทำอย่างไรให้อย่างน้อยเจนสองที่เป็น “ลูก” จะไม่เป็นแบบนี้ รักเรียน อยากมีอาชีพที่ดี นั่นคือ โรงเรียนต้องดี เพราะถ้าเจนสองดีกว่าเจนหนึ่งได้ก็จะหลุดจากวงจรความยากจน ทางเดียวคือการศึกษา
Q : สิ่งที่ทำให้คนเลือกคุณชัชชาติคืออะไร
A : การที่คุณชัชชาติ สมัครอิสระ ตัวตนที่เป็นคนที่ประนีประนอม ไม่คิดว่าหรือมองว่าอะไรเป็นสีขาว สีดำ ทำให้เรามองการเมืองผ่านตัวเขาเหมือนพรรคการเมืองใหม่ เป็นผู้นำการเมืองสมัยใหม่ ไม่ใช่การทำงานในรูปแบบเดิมๆ เราอาจชอบบางนโยบายของพรรคฝั่งซ้ายและชอบบางอย่างของพรรคฝั่งขวาก็ได้ ไม่เห็นว่าผิดตรงไหน
Q : พื้นฐานนักวิชาการและความเป็นเอกชนมีข้อดีอย่างไร
A : ด้วยความที่พี่และคุณชัชชาติเป็นอาจารย์มาคนละ 20 ปี ใช้ความเป็นนักวิชาการในการสร้างวิธีคิด เริ่มจากดีฟายปัญหาก่อนแล้วเอาตัวเองไปคลุกอยู่กับปัญหาเพื่อเข้าใจปัญหา เราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เหมือนการทำงานวิจัยที่มี Literature Review แทบจะไม่มีปัญหาไหนเลยที่เราเริ่มต้นแก้เอง
โดยที่ไม่เริ่มจากคนอื่น ไม่ว่าเป็นปัญหาคนไร้บ้าน พี่คุยกับนักวิชาการ คุยกับเอ็นจีโอที่เขาเคยทำเป็นอย่างไร เพื่อให้รู้ว่าจะเดินต่อไปอย่างไรได้ดี เราลงพื้นที่หาปัญหา หาคนที่เคยแก้ปัญหาไปคุยกับเขา ไปหาที่มาปัญหา เป็นความตั้งใจเข้ามาแก้ปัญหาของผู้ว่าฯ
ส่วนหนึ่งอาจมีผลจากการที่เสนาฯ ให้ความสำคัญการคิดแบบผู้หญิง จากเดิมที่แยกตามภูมิศาสตร์อย่างเดียวตามเขตที่มี 50 เขต มีการแยกเจนเดอร์ที่มีความต่างกัน แต่จากประสบการณ์เสนาฯ ทำให้คิดเรื่องนี้และปรากฏว่ามีทฤษฎีมารองรับความคิดนี้ด้วยว่า “เจนเดอร์” มีความต้องการที่แตกต่างกัน
ส่วนพื้นฐานความเป็นภาคเอกชน ช่วยในแง่ความเป็นไปได้ในการทำจริง เพราะถ้าเป็นมุมมองนักวิชาทุกอย่างทำได้หมดเพราะทุกอย่างจบที่กระดาษ ไม่ได้ลองกับชีวิตคนจริงๆ