‘สาเกทอด’ ของดีเมืองชาละวัน หากินยากให้ประโยชน์สูง
พาชิมสาเกทอด เมนูที่หารับประทานยาก ที่คุณยายชาวพิจิตร วัย 73 ปี พลิกตำราจากสาเกเชื่อม เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการรับประทานอาหารหวานแต่อยากรับประทานสาเก ที่ทอดออกมาแล้วหน้าตาเหมือนเนื้อไก่ เนื้อสาเกมีพลังงานสูง
ที่จังหวัดพิจิตร คุณยายรม ปานทอง วัย 73 ปี แม่ค้ากล้วยทอดกลางแหล่งท่องเที่ยวชุมชนย่านเก่าวังกรด ตำบลวังกรด อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ก็พลิกแพลงเมนูที่ทำจากผลของสาเก ที่ปกติ ในท้องตลาดทั่วไป จะเห็นแต่สาเกเชื่อมน้ำตาล ที่มีรสหวานจัด แต่คุณยายรม ซึ่งปกติจะทอดกล้วยทอดขายอยู่แล้ว ก็เลยพลิกแพลง นำสาเก ที่ชาวบ้านปลูกไว้จำนวนมากในหมู่บ้าน มาทำเมนู สาเกทอด ได้รสชาติที่อร่อย ไม่แพ้กล้วยทอด โดยเมื่อนำสาเกมาทอด สิ่งที่น่าปประหลาดคือ ได้เนื้อของสาเกที่มีลักษณของเนื้อไก่ทอด เมื่อผ่าสาเกทอดออกมาดูก็จะมีลักษณะสีขาวเป็นเส้นๆ มีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของสาเก แต่ได้รสชาติหวานมันเค็ม ตามเอกลักษณ์ของกล้วยทอด
ยายรม ปานทอง เปิดเผยเคล็ดลับการทำสาเกทอดว่า ขั้นตอนแรกต้องนำผลสาเก มาปลอกเปลือก แล้วนำไปผ่าให้ขนาดตามต้องการ แล้วจึงนำไปแช่ในน้ำผสมดินสอพอง หลังจากนั้นจึงนำไปล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง แล้วจึงนำนำมาชุบด้วยแป้งทอด สูตรเด็ดของคุณยายเอง ที่ทำกล้วยทอดขายมานานกว่า 30 ปี โดยการทอดก็ต้องทอดให้เนื้อสาเกที่ชุบด้วยแป้งทอดให้ท่วมน้ำมัน จนเหลืองพอดี หลังจากนั้นก็จะได้สาเกทอดที่มีรสชาติหวานมัน อร่อยกว่าการใช้มันทอด
สำหรับสาเกทอด จะหากินได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น คือในช่วงก่อนเข้าเทศกาลเข้าพรรษาจนถึงเทศกาลออกพรรษา เท่านั้น
โดยร้านกล้วยทอดของคุณยายรม จะอยู่บริเวณวงเวียนตลาดย่านเก่าวังกรด ใช้เพิงร้านค้าที่เดียว กับร้านกาแฟโกอี๊ด สามีที่ชงกาแฟขาย และเมื่อนำสาเกทอด ไปรับประทานกับ เมนู ชาผัวหลง ที่โกอี๊ด สั่งชามาจากภาคใต้ ประกอบกับโกอื๊ด เป็นคนใต้ จึงชงชาผัวหลงได้อร่อยตามสูตร และเมื่อรับประทานคู่กับสาเกทอดจึงเป็นเมนูที่ได้รับประทานแล้วลืมไม่ลง
ผลของสาเกนั้น ผลกลมรีคล้ายขนุน แต่ลูกเล็กกว่า เปลือกนอกสีเขียว เนื้อในสีเหลืองซีดหรือขาว มีสองพันธุ์ คือพันธุ์ข้าวเหนียว ผลใหญ่ เมื่อสุกเนื้อเหนียว ไม่ร่วน นิยมปลูกเพื่อทำขนมพันธ์ข้าวเจ้า ผลเล็กกว่า เนื้อหยาบร่วน ไม่นิยมรับประทาน ผลสาเกนำไปต้มหรืออบจะได้เนื้อนุ่มเหมือนก้อนแป้ง ใช้ทำขนม เช่น เชื่อม แกงบวด ชาวอินโดนีเซียนำสาเกไปอบกรอบใช้เป็นอาหารว่าง และมีการนำไปป่นเป็นแป้งเพื่อทำขนมปังกรอบ เนื้อสาเกมีพลังงานสูง ให้แคลเซียมและวิตามินเอสูง ช่วยป้องกันโรคหัวใจและกระดูกพรุน
ส่วนผลสาเกแก่ใช้ทำขนมปัง โดยหั่นเป็นชิ้นบางๆตากแดดหรืออบแห้ง ในฟิลิปปินส์นำผลสาเกต้มสุกกินกับน้ำตาลและมะพร้าวขูดฝอย หรือเคลือบน้ำตาลแล้วทำให้แห้ง ใบและผลใช้เป็นอาหารสัตว์[1] ยางสาเกนิยมใช้เป็นชันยาเรือและใช้ดักนก ก้านดอกตัวผู้มีเส้นใยนำมาผสมกับใยปอสาใช้ทอผ้า เปลือกลำต้นมีเส้นใย ใช้ทอผ้าได้เช่นกัน เนื้อไม้ใช้ทำเรือแคนู กระดานโต้คลื่น หีบและลังไม้