‘กอบศักดิ์’ ชี้วิกฤติพลังงานอยู่อีกนาน แนะรัฐดูแลราคาน้ำมัน - เร่งลงทุน

‘กอบศักดิ์’ ชี้วิกฤติพลังงานอยู่อีกนาน  แนะรัฐดูแลราคาน้ำมัน - เร่งลงทุน

“กอบศักดิ์” แนะรัฐบาลลดขนาดมาตรการคนละครึ่ง /เราเที่ยวด้วยกัน เก็บกระสุนดูแลราคาน้ำมันที่จะอยู่ในระดับสูงอีกนานหลังยุโรปคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย เศรษฐกิจไทยยังได้ประโยชน์จากวิกฤติในส่วนภาคเกษตร ท่องเที่ยว แนะเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย” จัดโดยกลุ่ม “เวทีสภาที่สาม” ณ ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปจากผลกระทบของสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่นำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระหว่างกันจะเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องยาวนาน และทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องไปอีก 1 – 2 ปี

โดยล่าสุดการที่สหภาพยุโรปตัดสินใจที่จะลดการนำเข้าน้ำมันและพลังงานจากรัสเซียให้ได้ไม่น้อยกว่า 90% ภายในปีนี้ มีส่วนสำคัญให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ระดับประมาณ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันในสัดส่วนประมาณ 10% ของโลกและเมื่อยุโรปยกเลิกการค้าน้ำมันกับรัสเซียทำให้ซัพพายน้ำมันหายไปกว่า 10% ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณมากในภาวะที่ทุกประเทศต้องการน้ำมันเชื่อเพลิงในช่วงเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวทำให้แนวโน้มที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือทรงตัวในระดับสูงนั้นยังมีมาก

ปุ๋ยราคาพุ่งกระทบภาคเกษตรอาหาร

นอกจากนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการคว่ำบาตรรัสเซีย และประเทศเบรารุสยังส่งผลต่อราคาปุ๋ยเคมี เนื่องจากสองประเทศดังกล่าวเป็นผู้ผลิตปุ๋ยยูเรียและโปรแตสที่สำคัญของโลก โดยรัสเซียเป็นผู้ผลิตปุ๋ยยูเรียถึง 14% ของปริมาณการค้าปุ๋ยชนิดนี้ทั้งหมดของโลก ขณะที่เบรารุสเป็นผู้ผลิตปุ๋ยโปรแตสถึง 41% ของปริมาณการค้าปุ๋ยชนิดนี้ในโลกซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือเรื่องของปุ๋ยราคาแพงในระยะยาว

‘กอบศักดิ์’ ชี้วิกฤติพลังงานอยู่อีกนาน  แนะรัฐดูแลราคาน้ำมัน - เร่งลงทุน

“วิกฤติต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งราคาพลังงาน การขาดแคลนอาหาร ปุ๋ยราคาแพง ที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อสิ่งที่ตามมาก็คือผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาที่มีหนี้ต่างประเทศสูง ประเทศที่ล้มไปแล้วคือศรีลังกา และกำลังจะมีปัญหาในประเทศอื่นๆตามมา ซึ่งวิกฤติครั้งนี้องค์การการเงินระหว่างประเทศหลายแห่งบอกว่าเป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาหรือที่เรียกว่า perfect storm” นายกอบศักดิ์กล่าว

แนะเปลี่ยนเครื่องยนต์เศรษฐกิจเน้นดึงท่องเที่ยว-ลงทุน

เขากล่าวต่อว่าในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสโดยใช้จุดแข็งที่ประเทศไทยมีอยู่โดยเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้จะเปลี่ยนไปจากปีก่อนโดยในปีที่ผ่านมาเราใช้การส่งออกที่เติบโต 20% การท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่สนับสนุนให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศ และการบริโภคภายในประเทศผ่านโครงการคนละครึ่งทำให้ผ่านวิกฤติมาได้ แต่ในระยะต่อไปเครื่องยนต์เศรษฐกิจต้องปรับเปลี่ยนเป็นการส่งเสริมการดึงการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย การดึงดูดการลงทุนจากภายนอก และการลงทุนของภาครัฐ เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“โครงการคนละครึ่งที่เราเคยใช้ได้ผล ตอนนี้ต้องลดขนาดลงมา เพราะทำแต่ละครั้งนั้นใช้เงินมาก ควรเอาเงินที่เหลือมาใช้ในการดูแลราคาพลังงานที่จะปรับเพิ่มขึ้นบางส่วนเพื่อให้ประชาชนยังมีกำลังซื้อในการบริโภคอยู่ได้ในช่วงที่ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูง ส่วนโครงการเราเที่ยวด้วยกันนั้นความจำเป็นก็น้อยลงเพราะในปีก่อนการส่งเสริมให้คนเที่ยวในประเทศ ได้ผลดีแล้ว ในปีนี้คนจะทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นได้ยาก คนจำนวนหนึ่งอาจที่จะต้องการไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่เราต้องดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศมากขึ้น รวมถึงดึงนักท่องเที่ยวที่จะมาพำนักระยะยาวในไทยที่ต้องการเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยด้วย”

            

ภาคเกษตรไทย 20 ล้านคนได้ประโยชน์ 

สำหรับภาคเกษตรของไทยเป็นอีกภาคส่วนที่จะได้ประโยชน์จากวิกฤติในครั้งนี้เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรราคาดีตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ภาคเกษตรที่มีแรงงานอยู่มากถึง 20 ล้านคนได้ประโยชน์ แต่การที่จะทำให้ภาคเกษตรได้ประโยชน์จากทิศทางราคาสินค้าภาครัฐต้องเข้ามาดูแลเรื่องของปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะในเรื่องปุ๋ย โดยหากปุ๋ยในประเทศขาดแคลนต้องมีแผนในการพึ่งพาตัวเอง เช่น การผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน รวมถึงทบทวนแผนการทำเหมือนโปรแตสในประเทศด้วยเพราะว่าเรามีแร่ธาตุชนิดนี้จำนวนมาก

 

แนะเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี 

ประเด็นสุดท้ายที่ไทยจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์คือในเรื่องของการลงทุนโดยขณะนี้ยังมีแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตออกจากทั้งยุโรป จีน และอินเดียมายังอาเซียน ซึ่งไทยยังเป็นเป้าหมายประเทศหนึ่งที่นักลงทุนสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งรัฐบาลควรเร่งเดินหน้าโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ได้มีการอนุมัติไปแล้วไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึก รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งโครงการเหล่านี้หากสามารถเร่งรัดการก่อสร้างได้เร็วก็จะช่วยให้มีเม็ดเงินภาครัฐเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้นด้วย