‘ไอแอม’ปลุกปรากฏการณ์ไอดอล ฟื้นธุรกิจ-รายได้ทะยานแตะ 600 ล.
เมื่อโควิดคลี่คลาย ได้ฤกษ์รุกธุรกิจไอดอลอีกครั้ง 'ไอแอม' จัดเต็มกิจกรรมครึ่งปีหลังวง BNK48 และ CGM48 เอาใจฐานแฟนคลับ สร้างรายได้ พร้อมเดินเกมดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชันต่อเนื่อง เพิ่มสัดส่วนการทำเงินแตะ 50% ปีหน้า
ย้อนไป 6 ปีก่อน “บีเอ็นเค48”(BNK48) ถือเป็นไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปที่สร้างปรากฏการณ์แจ้งเกิดให้ธุรกิจไอดอลในประเทศไทยได้อย่างสวยสดงดงาม แต่กว่าเมมเบอร์จะดังเป็นพลุแตก ผ่านการฝึกฝน ค่อยๆออกงานโชว์ตัว จนมีแฟนคลับติดตามจำนวนมาก สมาชิกในวงเริ่มถูกสปอตไลท์ส่องจนแบรนด์สนใจดึงไปเป็นพรีเซ็นเตอร์
ความโด่งดังทำให้ บีเอ็นเคมีงานอีเวนท์มากมายเฉลี่ย 4-5 งานต่อวัน ไปไหนแฟนคลับเฝ้ารอคับคั่ง ยิ่งกว่านั้นคือการทำเงินมหาศาล โดยเฉพาะปี 2561-2562 สร้างรายได้ให้บริษัททะลุ 700 ล้านบาท ทว่า โควิดระบาด กำราบธุรกิจให้ราบเป็นหน้ากอง โดยเฉพาะอีเวนท์ โชว์บิส ไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป ไม่รอดผลกระทบเช่นกัน เพราะการล็อกดาวน์ทำให้งานหดหาย มาตรการรัฐจำกัดคนเข้าชม เมื่อลงทุนแล้ว “ผลตอบแทนไม่คุ้ม” ผู้ประกอบการต้องงดกิจกรรมโดยปริยาย ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ ณัฐพล บวรวัฒนะ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินดิเพนเด้นท์ อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จำกัด(iAM) ผู้บริหารไอดอลหญิงวงบีเอ็นเค48( BNK48) และวงซีจีเอ็ม48(CGM48) ฉายภาพถึงสิ่งที่ประสบมาตลอด
ครึ่งปีหลัง 2565 สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย การเปิดประเทศ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้ “ณัฐพล” วางแผนเคลื่อนธุรกิจไอดอลเต็มสูบเฉลี่ยทุกเดือน เช่น เทรดดิ้ง มาร์เก็ต เปิดพื้นที่ให้แฟนคลับมาแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า การจัดแฟนมีทให้กัลกลุ่ม CGM48 ครั้งแรกที่เชียงใหม่ จัด Indy Concert เพื่อโชว์ศักยภาพเมมเบอร์ทั้งการแต่งเพลง โปรดิวเซอร์เพลง ถ่ายทำมิวสิควิดีโอ ฯ ผลักดันให้เติบโตในเส้นทางสายดนตรี
นอกจากนี้ จะเป็นครั้งแรกที่ดึงกิจกรรม “Matsuri” งานวัดญี่ปุ่นมาจัดในเมืองไทย การฟื้นกิจรรม Sportday อีกครั้ง และปิดท้ายปีด้วยคอนเสิร์ตใหญ่จากมมเบอร์รุ่นที่ 1 ซึ่งมีราว 22 คน รวมถึงเมมเบอร์ที่จะจบการศึกษาทิ้งทวนด้วย ซึ่งอีเวนท์สุดท้ายถือเป็นไฮไลท์ที่จะดึงคนเข้าชมหลัก 5,000 คน โดยงานทั้งหมดคาดลงทุนหลัก “ร้อยล้านบาท”
ปีนี้ บริษัทยังทุ่มทุนราว 30 ล้านบาท เพื่อสร้างออริจินัล คอนเทนท์ทั้งภาพยนตร์ และซีรีส์รวม 2 เรื่อง ประเดิมหนังเรื่องผ้าผีบอก ฉาย 23 มิ.ย.นี้ และปลายปีอีก 1 เรื่อง เพื่อผลักดันไอดอลให้เข้าถึงแฟนๆกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง(Mass)มากขึ้น โดยเฉพาะเจาะต่างจังหวัดซึ่งเป็นตลาดใหญ่
“ช่วง 2 ปีที่เกิดวิกฤติโควิด-19 บริษัททำกิจกรรมลำบากมาก เพราะต้องดำเนินตามมาตรการรัฐในการป้องกันโรคระบาด จำกัดจำนวนคนเข้าร่วมงานอีเวนท์ คอนเสิร์ต กิจกรรมต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่บริษัทจัดงานไม่ได้ แต่ธุรกิจบันเทิงได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องปรับกลยุทธ์ตลอด”
นอกจากคิกออฟอีเวนท์อีกครั้ง ปี 2565 บริษัทยังปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โฟกัส “ดิจิทัล” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกเหรียญบีเอ็นเค โทเคน( BNK TOKEN)เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น โหวตเลือกเซ็มบัตสึ ซึ่งพบผลตอบรับสูงถึง 99% จากเดิมคาดการณ์มีผู้นำมาใช้เพียง 70-80% เท่านั้น
บริษัทยังรุกสู่สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทเอ็นเอฟที(NFT) และเตรียมก้าวสู่โลกเสมือนจริงหรือเมตาเวิร์ส ภายใต้ชื่อ “บีเอ็นเคเวิร์ส” เพื่อสร้างชุมชนแฟนคลับในโลกดิจิทัลให้มากขึ้น
ปัจจุบันไอดอล 48 Groups ประกอบด้วย วง BNK48+ CGM48 ซึ่งมีเมมเบอร์ทั้งหมด 78 คน แม้ 2ปี ไม่มีกิจกรรมปลุกกระแส แต่ฐานแฟนคลับไม่ลดลง เฉพาะฐานแฟนคลับบีเอ็นเค48 ทุกแพลตฟอร์ม มีหลายสิบล้านราย เช่น เฟซบุ๊กกว่า 30 ล้านราย ยูทูปผู้ติดตาม 2.5 ล้านราย ฯ ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มอายุ 18-35 ปี ปัจจุบันขยายฐานกว้างขึ้นสู่อายุ 8-15 ปี และเป็นผู้ชาย 51% ผู้หญิง 49%
“เราเดินเกมธุรกิจอย่างระมัดระวังตั้งแต่โควิด-19 ระบาด และการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ส่งผลให้อนาคตแฟนๆจะเห็นดิจิทัลโปรดักท์มากขึ้น อย่าง NFT มาแน่ ปีหน้าบีเอ็นเคเวิร์สจะได้เห็น เพื่อทำกิจกรรมและเชื่อมต่อกับฐานแฟนคลับ”
ณัฐพล บวรวัฒนะ
การปรับตัวดังกล่าว ปี 2566 บริษัทตั้งเป้ารายได้ฟื้นกลับมา 600 ล้านบาท มีรายได้จากดิจิทัลสัดส่วน 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 35% การขายสินค้า 25% จากเดิม 35% และอีเวนท์ 25% จาก 35% ขณะที่ภาพรวมปี 2565 คาดการณ์รายได้อยู่ที่ 400 ล้านบาท จากปี 2564 มีรายได้ 190 ล้านบาท
“6 ปีของการสร้างธุรกิจไอดอล เป็นการเดินทางที่สนุกมาก และได้เจอสถานการณ์มากมาย ผ่านช่วงขึ้นและลง ทำให้กลัวตลอดเวลา อย่างตอนคุกกี้เสี่ยงตายดังพลุแตก เป็นสิ่งที่เตือนสติว่า..อย่าสบายใจกับสิ่งที่ดีที่สุด เพราะมันไม่คงอยู่ตลอด เราต้องพัฒนาคอนเทนท์ บุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆให้เกิดขึ้น”