ออมสิน-ธ.ก.ส.เผยสินเชื่อฉุกเฉินช่วยโควิดหนี้เสียพุ่ง
ออมสิน-ธ.ก.ส.เผย สินเชื่อนโยบายรัฐทั้งกู้ฉุกเฉินและสู้ภัยโควิดมีแนวโน้มหนี้เสียพุ่ง ส่งผลกระทบต่อระดับหนี้ของสองธนาคาร ขณะที่ ภาครัฐต้องแบกรับภาระหนี้เสีย 30-50%
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยภาพรวมหนี้เสียของธนาคารว่า มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้เสียที่เกิดขึ้นในโครงการสินเชื่อฉุกเฉินโควิดรายละ 1 หมื่นบาท ทำให้ขณะนี้ หนี้เสียของธนาคารอยู่ที่ 2.7% จากที่เคยอยู่ในระดับ 2.5%
เขากล่าวว่า ธนาคารไม่ได้กังวลกับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียที่เกิดจากโครงการรัฐ เช่น สินเชื่อฉุกเฉิน 1 หมื่นบาท วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐจะเข้ามาชดเชยความเสียหายให้แก่ธนาคารแต่ละโครงการประมาณ 30-50% ของสินเชื่อ
“ความตั้งใจของรัฐบาลต้องการส่งเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ผ่านสินเชื่อตามนโยบายรัฐ รัฐจึงชดเชยความเสียหายกรณีเป็นหนี้เสียให้ แต่ละโครงการประมาณ 30-50% ฉะนั้น แม้ตัวเลขหนี้เสียในกลุ่มดังกล่าวจะถูกคำนวณจำนวนหนี้เสียของแบงก์ 2.7% แต่เราก็ไม่ต้องเอาสำรองส่วนเกินของแบงก์มาใส่ เพราะรัฐชดเชยความเสียหายให้เราอยู่แล้ว”
ทั้งนี้ ระยะต่อไปออมสินจะทยอยปล่อยให้หนี้เสียขึ้นตามสภาพธุรกิจจริง ฉะนั้น หนี้เสียจะค่อยๆ ขึ้นเล็กน้อยในสิ้นปี 2565 แต่ธนาคารก็มีสำรองส่วนเกินรองรับไว้ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 หมื่นล้านบาท และสิ้นปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 4 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส.เริ่มเห็นสัญญาณลูกหนี้ที่กู้สินเชื่อฉุกเฉิน มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นโครงการสินเชื่อตามนโยบายของรัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด โดยที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ออกสินเชื่อฉุกเฉินวงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท อนุมัติสินเชื่อกว่า 9.12 แสนราย เป็นเงินรวมกว่า 9 พันล้านบาท และสินเชื่อสู้ภัยโควิด 1 หมื่นล้านบาท ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 4.11 แสนราย อนุมัติสินเชื่อรวม 3.1 หมื่นราย อย่างไรก็ตาม หากเป็นหนี้เสีย ธ.ก.ส.จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากรัฐบาล 30%
ทั้งนี้ จากการจัดกลุ่มลูกค้าตามความสามารถในการชำระหนี้ทั้งหมด 12.47 ล้านสัญญา วงเงินรวม 1.58 ล้านล้านบาท พบว่า
- กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (สีแดง) กว่า 5.83 ล้านสัญญา มูลค่า 5.84 แสนล้านบาท
- กลุ่มความเสี่ยงค่อนข้างสูง (สีส้ม) 39,889 สัญญา มูลค่า 8,463 ล้านบาท
- กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง (สีเหลือง) 5.3 ล้านสัญญา มูลค่า 7.14 แสนล้านบาท
- กลุ่มความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ (สีเขียวอ่อน) 7.61 แสนสัญญา มูลค่า 1.52 แสนล้านบาท
- กลุ่มความเสี่ยงต่ำ (สีเขียวเข้ม) 4.74 แสนสัญญา มูลค่า 1.25 แสนล้านบาท
ด้านนายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ และโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้เดินหน้าแก้ไขหนี้เกษตรกร โดยการออกไปพบลูกค้า และสำรวจ ประเมินศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกค้า ออกเป็นกลุ่ม เขียว เหลือง และแดง โดยหากจัดกลุ่มเรียบร้อยแล้ว จะเดินหน้าตามมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
“ในปีนี้ จะเดินหน้าดูแลกลุ่มลูกค้าที่เป็นสีแดง 3 แสนรายก่อน ที่จะต้องเข้าไปฟื้นฟู และเข้าไปปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ตามนโยบายของธปท. ซึ่งจะเป็นการพักชำระหนี้เงินต้นให้ 50% และอีก 50% จะเป็นการเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ จนกว่าลูกค้าจะสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขสัญญา”