กลุ่ม Innovative Healthcare ที่ยังโตเด่นไม่ง้อ COVID
การลงทุนในกลุ่มนวัตกรรมสุขภาพ หรือ Innovative Healthcare จึงยังคงน่าสนใจลงทุนในระยะยาว แม้จะปราศจาก COVID-19 ที่เคยเป็นตัวเร่งการเติบโตมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม
ช่วงที่เกิด COVID-19 แพร่ระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วโลก กลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้อานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าว คือ กลุ่ม Innovative Healthcare หรือกลุ่มธุรกิจสุขภาพที่ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่มาดำเนินธุรกิจ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่โลกของเรากำลังก้าวข้ามผ่าน COVID-19 จากโรคระบาดร้ายแรงสู่โรคประจำถิ่น อาจมีประเด็นคำถามในหมู่นักลงทุนว่า ธุรกิจ Innovative Healthcare จะสามารถเติบโตได้โดดเด่นต่อเนื่องหรือไม่ หากปราศจาก COVID-19 ไปแล้ว ซึ่งก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้ อาจต้องเริ่มจากการอธิบายว่า นวัตกรรมอะไรบ้างที่ช่วยรับมือสถานการณ์โรคระบาดในช่วงที่ผ่านมา จนเกิดความต้องการในเทคโนโลยีเหล่านั้น และยังคงมีศักยภาพการเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลายไปแล้วก็ตาม
เริ่มต้นจากการถือกำเนิดความนิยมในธุรกิจบริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยที่มีความจำเป็นในการพบแพทย์ช่วงที่มีการ Lockdown ซึ่งไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ โดยจากข้อมูลของเว็บไซต์ Complie.com และบริษัทที่ปรึกษา McKinsey ประเมินว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 หรือก่อนการ Lockdown เต็มรูปแบบทั่วโลก จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 หรือผ่านไป 1 ปีที่เกิดการระบาด จำนวนผู้ใช้บริการ Telemedicine เพิ่มขึ้นราว 38 เท่า โดยรายได้ของบริษัทที่ให้บริการ Telemedicine ปี 2021 เพิ่มขึ้นถึง 68% เมื่อเทียบกับปีก่อน และจากการประเมินของ Bloomberg Intelligence (BI) ยังคาดว่า สัดส่วนผู้ใช้งาน Telemedicine จะเพิ่มขึ้นจากต่ำกว่า 1% ช่วงก่อนเกิดการระบาด สู่ 15% ภายในปี 2027 เนื่องด้วยความสะดวกในการใช้บริการในฝั่งผู้ป่วย และความสามารถในการขยายฐานผู้ป่วย ซึ่งเป็นประโยชน์ของผู้ให้บริการทางการแพทย์ด้วย
นอกจากการเติบโตของ Telemedicine ส่วนของอุปกรณ์การแพทย์แบบพกพา (Wearable Device) ก็มีส่วนช่วยแก้ปัญหากลุ่มผู้ป่วยที่ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและจำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ หรืออาจมีข้อจำกัดที่ไม่สะดวกในการตรวจร่างกายด้วยตัวเอง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องคอยตรวจค่าน้ำตาลก่อนฉีดอินซูลิน เป็นต้น โดยบริษัท Dexcom ที่เป็นผู้พัฒนาเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด (Continuous Glucose Mornitors : CGMs) โดยไม่ต้องเจาะเลือด ได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยการผลิตอุปกรณ์ตรวจค่าน้ำตาลในเลือดได้แม่นยำตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยาในสหรัฐอเมริกา (US FDA) โดยไม่ต้องเจาะนิ้วให้บาดเจ็บและสามารถใส่ได้ตลอดเวลา ซึ่ง BI คาดว่า หากเครื่องมือนี้กลายเป็นมาตรฐานในการติดตามผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องฉีดอินซูลินสำหรับเบาหวานประเภทที่ 2 จะมีมูลค่าการตลาดมากกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตราว 71% จากปี 2021 และยังมีโอกาสขยายไปสู่กลุ่มผู้ป่วยในจีนและอินเดียที่มีผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มที่ต้องฉีดอินซูลินราว 21.5 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ป่วยกลุ่มนี้ในสหรัฐฯ กว่า 3 เท่า
ตัวอย่างสุดท้ายของบทบาทเทคโนโลยีช่วง COVID-19 ต่อความก้าวหน้าของนวัตกรรมการแพทย์ ก็คือ การเพิ่มขีดจำกัดของการทดลองยาป้องกันและยารักษาโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งรวมถึงโรคไม่ติดต่อร้ายแรง (Non-communicable Diseases: NCDs) เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจ เนื้องอก ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น โดยตัวอย่างการขยายขีดจำกัดในการวิจัยและพัฒนายาตัวใหม่ๆ ในช่วง COVID-19 เช่น การใช้แอปพลิเคชัน หรือ อุปกรณ์พกพาที่สามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มตัวอย่างภายหลังจากที่เริ่มทดลองตามแผนงานวิจัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบันทึกและติดตามผลลัพธ์ทั้งในช่วงเกิดโรคระบาดและหลังจากนั้นได้เช่นกัน ทำให้กลุ่มตัวอย่างไม่จำเป็นต้องจดบันทึกด้วยตัวเอง และลดจำนวนครั้งในการพบทีมแพทย์ที่ร่วมวิจัย โดยจากข้อมูลของ IQVIA รายงานว่า ปี 2020 สัดส่วนการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองมีสัดส่วนราว 37% ขณะที่ปี 2019 มีสัดส่วนเพียง 29% เท่านั้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิตยาที่จะใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนายาสั้นลงและส่งผลเชิงบวกต่อผู้ป่วยที่จะมีโอกาสเข้าถึงยารักษาที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นและรวดเร็วขึ้นด้วย โดย BI ประเมินว่า ในปี 2030 อาจมีถึง 49.2% ของประชากรสหรัฐฯ หรือราว 170 ล้านคนที่จะต้องมีอาการป่วยเรื้อรัง 1 โรค ซึ่งยังถือว่าธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อการแพทย์ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากและน่าสนใจลงทุนในระยะยาว
จะเห็นได้ว่า อัตราการเติบโตในระดับสูงช่วงที่ผ่านมาของกลุ่มธุรกิจ Innovative Healthcare ที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาปรับตัวตามสถานการณ์โรคระบาด แต่การปรับตัวเหล่านั้นจะไม่ใช่การเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว จากประโยชน์ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการแพทย์ในมุมผู้ผลิตที่ช่วยลดต้นทุนด้านเวลาและเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ ตลอดจนสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตระหว่างที่ผู้ป่วยเหล่านั้นรักษาตัว ซึ่งถือเป็นกำลังใจที่สำคัญในการรักษาและบรรเทาอาการจากโรคเหล่านั้น การลงทุนในกลุ่มนวัตกรรมสุขภาพ หรือ Innovative Healthcare จึงยังคงน่าสนใจลงทุนในระยะยาว แม้จะปราศจาก COVID-19 ที่เคยเป็นตัวเร่งการเติบโตมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้