TKC ลุยธุรกิจใหม่เมกะเทรนด์โลก หนุนรายได้โต
"ทีเคซี" รุกธุรกิจเมกะเทรนด์ ลุย "7 โซลูชันอัจฉริยะ" หวังขึ้นหนึ่งในผู้นำธุรกิจดิจิทัล พร้อมรอเซ็นสัญญางานใหม่ไม่ต่ำกว่า 1.2 พันล้าน แย้ม “ช่วง 3-5 ปี (65-69) รายได้ธุรกิจใหม่จะขึ้นเป็น Core Business ธุรกิจเดิมจะเป็นฐานต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามายึดทุกพื้นที่ ! ดังนั้นเหล่าผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมความพร้อมในทางธุรกิจให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งเมกะเทรนด์ของโลกดังกล่าวเป็นทั้ง “โอกาส” และ “ความท้าท้าย” ในการสร้างการเติบโตในอนาคตของธุรกิจ
หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC เป็นหนึ่งในธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่น ครอบคลุมด้านโทรคมนาคมและไอซีที (ICT) ที่ให้บริการรับเหมาโครงการแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) โดยให้บริการออกแบบ วางระบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง ทดสอบและบำรุงรักษางานวิศวกรรมในสายงาน 1.ระบบโทรคมนาคม (Telecommunications) 2. ระบบสื่อสารข้อมูล (Data Communications) 3. ระบบความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) และ 4. ให้บริการงานวิศวกรรม งานบำรุงรักษา และจัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ TKC เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเจ้าของผลิตภัณฑ์โทรคมนาคมและเครือข่ายสารสนเทศชั้นนำระดับโลก เช่น Huawei , Nokia , Cisco , Verint , Oracle , Netka System , XOVIS และ Fortinet ด้วยทีมวิศวกรและบุคลากรที่มีความชำนาญและความเชี่ยวชาญหลากหลายที่สามารถดำเนินงานในโครงการวิศวกรรมที่มีความซับซ้อน เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดและนำเสนอบริการได้ตรงต่อความต้องการของลูกค้า
“สยาม เตียวตรานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ธุรกิจของบริษัทยังมีช่องทางการเติบโตอีกมาก เนื่องจากเป็นเทรนด์ของโลก ดังนั้น หลังจากนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นแล้ว จะไม่ได้ประโยชน์เพียงแค่ “ปลดล็อก” ข้อจำกัดการระดมทุน แต่จะได้เรื่องหน้าตา และความน่าเชื่อถือเต็มๆ มาตรฐานของบริษัทจะถูกยกระดับขึ้นทันที ที่สำคัญยังสามารถดึงดูดพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามา และสิ่งสำคัญเพิ่มศักยภาพในการเข้าประมูลงานระดับ “หมื่นล้าน” ได้
เมื่อเป้าหมายสำคัญต้องการขึ้นสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่น ครอบคลุมด้านโทรคมนาคมและไอซีที ต่อยอดธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต เช่น ระบบ Smart Solutions , Smart Logistics , Cyber Security , Cloud Solutions , Drone สะท้อนผ่านตั้งเป้าหมายจะเป็นผู้นำในอีก 1-3 ปีข้างหน้า
โดยเงินระดมทุนหลังขายหุ้นไอพีโอ ถือเป็นแรงผลักดันให้บริษัทขยายไปสู่ “ธุรกิจใหม่” (New Business) ที่ไปต่อยอดกับระบบดิจิทัลทั้งหลาย เพื่อเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ และสร้างความยั่งยืนในอนาคต ! ซึ่งหากมองธุรกิจสื่อสารย้อนไป 5 ปีก่อน จากระบบเครือข่าย 3G เปลี่ยนมาเป็นระบบ 4G และทุกวันนี้กลายมาเป็น 5G แล้ว และทุกๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนระบบเทคโนโลยีใหม่ หรือ มีการอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะเกิดธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเสมอ
สอดคล้องแผนธุรกิจของบริษัทในปี 2565 มีเป้าหมายต้องการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเป็นธุรกิจในอนาคต อย่าง “โซลูชันอัจฉริยะ” (smart solutions) โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาบริษัทเริ่มเข้าไปลงทุนใน 5 สมาร์ทโซลูชัน คือ 1.สมาร์ทโรงพยาบาล (smart hospital) โดยบริษัทดำเนินการให้กับโรงพยาบาลศิริราช เฟสแรก มูลค่าลงทุน 60-100 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการขยายการลงทุนต่อเนื่องในเฟส 2 หรือ 3 รวมทั้งแนวโน้มจะมีการขยายโมเดลดังกล่าวออกไปในโรงพยาบาลอื่นๆ
2.“สมาร์ทแอร์พอร์ต” (Smart Airport) บริษัทมีการเข้าไปนำเสนอผลิตภัณฑ์ของบริษัทกับทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ในการนำเกี่ยวกับเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เข้ามาช่วยดูความหนาแน่นของผู้โดยสารในท่าอากาศยาน 4 แห่ง ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง , สนามบินสุวรรณภูมิ , สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินภูเก็ต มูลค่ารวม 300 ล้านบาท คาดว่าจะส่งมอบงานทั้งหมดได้ภายในปี 2565 และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการนำเสนอโมเดลดังกล่าวในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) ของสนามบินสุวรรณภูมิ
“มองว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จำนวนผู้โดยสารสนามบินจะหนาแน่น ดังนั้น หากเรานำระบบนี้มาใช้จะทำให้รู้ว่าจุดไหนที่มีจำนวนผู้โดยสารหนาแน่นเราก็สารมารถเข้าไปบริหารจัดการได้ทันทีแบบเรียวไทร์ม”
3. "สมาร์ทภาคการเกษตร” (smart farming) ในเบื้องต้นเป็นการทำ CSR ของบริษัท โดยบริษัทนำระบบเทคโนโลยีเข้าไปสอนให้เกษตรใช้จริง ซึ่งได้เข้าไปดำเนินให้ให้มูลนิธิในจังหวัดลำปาง โดยการนำเทคโนโลยีระบบ IoT อย่าง ระบบหยดน้ำ , นำระบบโดรน (drone) ในการหว่านเมล็ดพืชให้ และใช้โครนในการดูคุณภาพของดิน
4. “สมาร์ทโลจิสติกส์” (smart logistic) ปัจจุบันบริษัทมีการยื่นประมูล และอยู่ระหว่างการประกาศผู้ชนะ คาดว่าจะมีอีกโครงการที่บริษัทจะเข้าประมูล 5.สมาร์ทกรมตำรวจ ซึ่งในส่วนที่บริษัทเข้าไปดำเนินการจะเป็นการแจ้งเหตุ หรือ ร้องเรียน โดยให้ประชาชนแจ้งเหตุหรือร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ด้วยระบบแอปพิเคชั่น เฟสแรกอยู่ระหว่างการรอเซ็นสัญญา มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และมีผลงานในอดีตที่ผ่านมา เช่น โครงการระบบวิทยุสื่อสารดิจิทัลระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โครงการสัญญาจ้างการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ และโครงการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
เขา บอกต่อว่า บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเข้าประมูลสมาร์ทโซลูซันที่ 6 และ 7 คือ 6. “สมาร์ทการอบรมผ่านระบบออนไลน์” ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในการเข้าประมูล ซึ่งพันธมิตรจะเข้ามาช่วยเสริมในด้านแพลตฟอร์มและคอร์สการอบรมต่างๆ คาดว่าจะเข้าร่วมประมูลได้ภายในปีนี้
และอีกหนึ่งธุรกิจคือ 7.“ธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี้” (Cyber Security) บริษัทกำลังเจรจากับพันธมิตรเข้าไปถือหุ้นจำนวน 2-3 ราย โดยมีเป้าหมายอยากเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายหลักในประเทศไทยด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ TKC ตั้งเป้าจะขยายกลุ่มลูกค้าในปีนี้
“สมาร์ทโซลูชันต่างๆ เป็นโอกาสสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆ ของเรา โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี IoT ร่วมกับการสร้างและออกแบบเน็ตเวิร์กและเซิร์ฟเวอร์มาเสริมสร้างประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพในธุรกิจด้านต่างๆ”
โดยเป้าหมายแผนธุรกิจ 3-5 ปีข้างหน้า (2565-2569) ต้องการขยายธุรกิจดิจิทัลโดยเฉพาะด้านแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพราะถือเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น ธุรกิจใหม่ๆ จะมีสัดส่วนรายได้มากกว่าธุรกิจเดิม เนื่องจากธุรกิจเดิมจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการต่อยอดไปในธุรกิจใหม่ ส่วนปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% หรือ ราว 2,600 ล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทมีงานประมูลใหม่ที่รอเซ็นสัญญาแล้วเข้ามา 1,200 ล้านบาท ซึ่งมีงานคงค้างในมือ (Backlog) จำนวน 3,500 ล้านบาท
ท้ายสุด “สยาม” บอกไว้ว่า เราเน้นโตจากศักยภาพในธุรกิจเดิมที่มีความเชี่ยวชาญเกือบ 20 ปี พร้อมวางกลยุทธ์มุ่งสู่การเป็นที่หนึ่งในธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่นครอบคลุมด้านโทรคมนาคมและไอซีทีต่อยอดธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต