สายคอนเสิร์ต เปย์ไหวไหม? ‘จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่’ ระดมโชว์บิส 17 งาน ฟื้นรายได้
ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทำให้ธุรกิจค่ายเพลงปรับตัว พลิกโมเดลธุรกิจ เพื่ออยู่รอด รวมถึงปูทางสร้าง New S-Curve ใหม่ ผลักดันการเติบโตในระยะยาว
ขณะที่ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” เป็นอีกองค์กรค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ที่ยังมี “เพลง” เป็นธุรกิจหลัก มีการปรับตัว เขย่าโครงสร้างธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงมองหา “โอกาส” ใหม่ๆอยู่เสมอมาต่อจิ๊กซอว์ เสริมแกร่งอาณาจักรของ “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม”
เพลงทำเงินมากสุด แต่ธุรกิจเสาหลักอื่น สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ “โชว์บิส” การแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินแม่เหล็กต่างๆ
ครึ่งปีหลัง สัญญาณความหวังของบริษัทมีมาก เมื่อรัฐมีนโบายเปิดประเทศ โรคโควิดจะถูกประกาศเป็นโรคประจำถิ่น มาตรการเกี่ยวกับการสกัดโควิดคลี่คลายลง ทำให้การจัดอีเวนท์ คอนเสิร์ต หรือโชว์บิสคึกคักมากขึ้น
นอกจากผับ บาร์ สถานบันเทิงกลับมาเปิดให้บริการได้ งานร้องเพลง แสดงสดของศิลปินในเครือแกรมมี่หลายร้อยชีวิต และลุยงานต่อปีร่วม 6,000-7,000 งาน จะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ส่วนกิจกรรมจะมีมากน้อยแค่ไหน ธนากร มนูญผล รองกรรมการผู้อำนวยการ หน่วยงานกลุ่มการลงทุน(Grop Investment) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จํากัด (มหาชน) ฉายแผนผ่านงาน Opportunity Day
“เป็นเวลา 2 ปี ที่ไม่สามารถจัดคอนเสิร์ต โชว์บิสได้เลย ทำให้รายได้ตรงนี้หายไป โดยเฉพาะปี 2564 รายได้เป็นศูนย์เลย แต่รายได้ตกต่ำแค่ไหน ภาพรวมบริษัทยังรักษากำไรไว้ได้”
เมื่อหนึ่งในเสาหลักธุรกิจ “ฉุด” ภาพรวมให้รายได้ลดลง แต่ปี 2565 เป็นปีแห่งการฟื้นตัว เพราะบริษัทจัดทัพคอนเสิร์ต โชว์บิสต่างๆไว้อัดแน่ตลอดทั้งปีรวมแล้ว17 งาน โดยครึ่งปีแรกจัดไปแล้ว 1 งาน คือเทศกาลดนตรีและปาร์ตี้ริมทะเลที่ใหญ่ที่สุด หรือนั่งเลีชแอนด์ปาร์ตี้มิวสิคเฟสติวัล ที่ชะอำ มีคนร่วมงานหลัก “หมื่นคน”
ส่วน 16 งานที่เหลือ จะถูกแบ่งจัดไตรมาส 3 จำนวน 4 งาน และไตรมาส 4 อัดเต็มที่ 12 งาน ตัวอย่าง เชียงใหญ่เฟส บิ๊กเมาน์เท่น ฯ เรียกว่าสาวกศิลปิน แฟนคลับใครต้องเก็บเงินให้พร้อม เพราะงานจัดถี่ ย่อมดึงกำลังทรัพย์ในกระเป๋าสาหัสแน่นอน
“เรามีมุมมองบวกกับการจัดได้จัดโชว์บิสอีกครั้งในรอบ 2 ปี และนี่คือหนึ่งในแกนธุรกิจที่จะทำให้รายได้เติบโตขึ้นเทียบปีก่อน”
อีกความหวังใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับมาเปิดผับบาร์ ร้านอาหาร สถานบันเทิง ไม่เพียงต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการ แต่ยังทำให้นักร้อง ศิลปิน นักแสดงดนตรี เหล่าคนทำงานกลางคืนจะได้กลับทำมาหากินอีกครั้งด้วย
ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เคยเผยงานแสดง โชว์ตัวของศิลปินที่มีหลายร้อยชีวิตรวมกัน ไปเล่นดนตรี แสดงสดตามผับบาร์ร้านอาหารสถานบันเทิงทะลุ 7,000 งานต่อปี เมื่อไร้กิจกรรมดังกล่าว จึงส่งผลต่อภาพรวมรายได้บริษัท ทว่า จากนี้ไปพวกบรรดาศิลปินจะได้ลุยงานอีกครั้ง
“เมื่อร้านอาหาร สถานบันเทิงเปิดไม่ได้ กระทบการแสดงดนตรีสดลดลง เมื่อปีนี้กลับมา การบริหารศิลปินหรือ Artist management ครึ่งปีหลังจะดีขึ้น”
อีกธุรกิจที่จะฟื้นตัว คือภาพยนตร์ ซึ่งค่าย “จีดีเอชห้าห้าเก้า” เตรียมไลน์อัพการฉายหนัง 5 เรื่องกับ 1 ซีรีส์ ปีนี้ 2 เรื่องเข้าโรงภาพยนตร์ไปแล้ว หลังจากที่ผ่านมา ธุรกิจโรงหนัง ”จอดำ” ไปร่วมร้อยวัน
สำหรับหนังฟอร์มใหญ่ที่เป็นความหวังทำเงินทะยานสู่ “พันล้านบาท” ยกให้ “บุพเพสันนิวาส2” ที่จะเข้าฉาย 28 ก.ค.นี้ ซึ่งยังเป็นจิ๊กซอว์ที่ค่าย “จีดีเอชห้าห้าเก้า” จะเทิร์นอะราวด์รายได้รวมของบริษัทแตะ 700 ล้านบาทด้วย
ความเคลื่อนไหวของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไม่ได้มีแค่หมากรบรุกธุรกิจหลักสร้างการเติบโต แต่ยังเห็นการ “ทิ้ง” ธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์ด้วย ซึ่งล่าสุดบริษัทในเครืออย่าง “โอ ช้อปปิ้ง”ยุติการร่วมทุนกับ “โรจูคิส”ผ่าน “โอจูคิส” เพื่อให้การดำเนินธุรกิจทั้ง 2 ฝ่ายคล่องตัวขึ้น โดยยังยืนยันเป็นคู่ค้ากระจายสินค้าให้กัน
ด้านธุรกิจเพลง “ธนากร” ย้ำว่าการเติบโตยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ทำให้บริษัทมีเพลงเสิร์ฟแฟนหลากแพลตฟอร์ม เป็นต้น
ขณะที่ต้องจับตา คือภารกิจปั้นศิลปินไทยให้ผงาดบนเวทีอินเตอร์มากขึ้น ผ่านการร่วมทุนกับ “วายจี” ยักษ์เอ็นเตอร์เทนเมนต์เกาหลีใต้ สู่ YG''MM(วายจีเอ็มเอ็ม) ซึ่งแค่เปิดออดิชั่นรอบแรก ทุบสถิติคนสมัครกว่า 60,000 ชีวิต จาก 93 ประเทศทั่วโลก ล่าสุด เปิดออดิชันหนุ่มๆหรือ ‘YG’’MM BOY AUDITION 2022’ จะสร้างปรากฏการณ์แค่ไหน
อย่างไรก็ตาม การเปิดรับหนุ่มสาวเดบิวต์เป็น “ศิลปินเบอร์แรก” จะเห็นเป็นรูปร่างแค่ไหน ยังต้องรอเวลา 3-5 ปี ส่วนจะปังหรือไม่ ต้องติดตามยาวไป