ททท.ชงยุทธศาสตร์ "ซอฟต์พาวเวอร์" ปั้นขุมทรัพย์ใหม่ต่อยอดท่องเที่ยวไทย!
พลังแห่ง ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) หนึ่งในเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ ต้นแบบความสำเร็จชัดแจ้ง คือ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ถูกนำมาต่อยอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ดึง “ต่างชาติ” เข้ามาจับจ่าย สร้างการเติบโตด้านรายได้แก่ประเทศ
ฟากประเทศไทยมีซอฟต์พาวเวอร์เปี่ยมศักยภาพมากมาย โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำมาวางยุทธศาสตร์ต่อยอดการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายในไทยหลังโควิด-19 สานเป้าหมายสร้างรายได้ปี 2565 แตะ 1.5 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 50% เทียบปี 2562 ก่อนวิกฤติ และขยับรายได้ปี 2566 ทะลุ 2.4 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 80%
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ททท.วางยุทธศาสตร์ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ต่อยอดการท่องเที่ยวผ่านแนวคิด “From SPOT (Soft Power Of Thailand) to TRIP” จากจุดสนใจสู่จุดมุ่งหมายของการเดินทาง ประกอบด้วย “5F” ได้แก่ Food อาหาร, Film ภาพยนตร์, Fashion แฟชั่น, Fighting ศิลปะการต่อสู้ และ Festival งานเทศกาล
นิยามของคำว่า TRIP ขยายความเชิงกลยุทธ์ได้ว่า T : Terms of References กำหนดให้ 5F เป็น TOR ของการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤติโควิด เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและเสริมสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวอันทรงคุณค่าและประทับใจ R: Regeneration พัฒนาและต่อยอดจาก 5F ที่มีอยู่ สร้างให้เกิดรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันทั้งด้านเทคโนโลยีและความต้องการของนักท่องเที่ยว
I: Inclusive Tourism ให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน 5F เช่น เครือข่าย คู่ค้า คู่ความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน แหล่งท่องเที่ยวและชุมชน มีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญเพื่อสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่า ตลอดจนมาตรฐานท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ P: Positive Travel Experiences สร้างประสบการณ์เชิงบวกให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย บนพื้นฐานความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่ม โดยมุ่งเน้นออกแบบเมนูประสบการณ์ที่ครอบครอบทั้ง 5F ให้ได้มากที่สุด
สอดคล้องกับแนวทางการกำหนดสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ ททท.จะเสนอขายภายใต้แนวคิด “NFT” ให้กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพื่อกระตุ้นให้เดินทางมาประเทศไทยหลังโควิด ประกอบด้วย N : Nature to Keep ให้นักท่องเที่ยวมาช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติในประเทศไทยให้สวยงามและยั่งยืน F: Food to Explore ให้มาสำรวจความหลากหลายของวัฒนธรรมการกินของคนไทย และ T: Thainess to Discover ให้มาค้นพบความเป็นไทยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแต่ละคน
ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าวเสริมว่า ตามยุทธศาสตร์ “From SPOT (Soft Power Of Thailand) to TRIP” ททท.พร้อมนำซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 5F ไปผสมผสานกับแคมเปญสื่อสารการตลาดของ ททท. “From A-Z : Amazing Thailand has it All” มุ่งสื่อสารให้นักท่องเที่ยวรับรู้ถึงจุดขายและเมนูประสบการณ์ท่องเที่ยวในไทยว่ามีทุกสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ สอดรับนโยบายรัฐบาลประกาศ “ปีส่งเสริมท่องเที่ยวไทย 2565-2566” หรือ Visit Thailand Year 2022-2023
สำหรับ Food อาหาร เป็นมิติที่ ททท.จะขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงอาหารสู่ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนและท้องถิ่น ทั้งเรื่องของการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น การปรุงอาหารแบบปราศจากขยะเหลือทิ้ง (Zero Food Waste) นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy) ของยูเนสโก ทั้ง จ.ภูเก็ต และ จ.เพชรบุรี ให้ได้โปรโมทอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน โครงการคู่มือ “มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย” คัดเลือกและรวบรวมรายชื่อร้านอาหารที่อยู่ในระดับมาตรฐานของมิชลิน ล่าสุด ททท.ต่อสัญญาดำเนินโครงการอีก 5 ปี (2565-2569) สำหรับจัดทำคู่มือแนะนำร้านอาหาร ฉบับปี 2566-2570 หลังจัดทำฉบับปฐมฤกษ์ปี 2561 จนถึงคู่มือฉบับล่าสุดปี 2565
ในคู่มือ มิชลิน ไกด์ ของประเทศไทย ไม่ได้มีแค่อาหารหรูหราราคาแพง! แต่มีสตรีทฟู้ด ซึ่งมอบสัญลักษณ์ “บิบ กูร์มองด์” ให้แก่ร้านอาหารที่นำเสนออาหารคุณภาพดี ผ่านการจัดเตรียมอย่างพิถีพิถันในราคาย่อมเยาคุ้มค่า ไม่เกิน 1,000 บาท (ราคาสำหรับอาหาร 3 คอร์ส ได้แก่ อาหารเรียกน้ำย่อย อาหารจานหลัก และของหวาน ไม่รวมเครื่องดื่ม) โดยปัจจุบันไทยมีร้านได้สัญลักษณ์ บิบ กูร์มองด์ มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น
ด้าน Film ภาพยนตร์ ททท.พูดคุยกับศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ซึ่งเกาหลีคือผู้ผลิตซอฟต์พาวเวอร์ด้านภาพยนตร์ระดับโลก ว่าอาจหาแนวทางเฉลิมฉลองสัมพันธภาพ 65 ปี ไทย-เกาหลี ในปี 2566 โดยกำลังหารือความเป็นไปได้ในการผลิตภาพยนตร์หรือซีรีส์ร่วมกัน
นอกจากนี้ ททท.จะหารือกับ Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชื่อดังเกี่ยวกับการผลิตคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวไทย จากก่อนหน้านี้ได้จับมือกันผลิตสารคดี “Midnight Asia : กิน เต้น ฝัน” ฉายบน Netflix เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์โฆษณาของ ททท.ที่เตรียมออกฉายต้นเดือน มิ.ย.นี้ ได้กำหนดธีมเนื้อหาเกี่ยวกับภาพยนตร์หรือ Cinematic Film สะท้อนประสบการณ์ของผู้คนในช่วง 2 ปีที่ต้องเจอวิกฤติโควิด ยังไม่สามารถออกไปท่องเที่ยวได้ ต้องอยู่บ้านดูแต่หนังหรือซีรีส์ กระทั่งได้เป็นตัวเอกหรือแสดงนำในภาพยนตร์ของตัวเองเมื่อได้ออกไปท่องเที่ยวจริง
“ภาพยนตร์หรือซีรีส์วาย (Boy’s Love) เป็นอีกตลาดที่ช่วยสร้างกระแสความสนใจต่ออุตสาหกรรมบันเทิงของไทย มีศักยภาพในการดึงแฟนคลับต่างชาติ และนักท่องเที่ยวกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ซึ่งเป็นตลาดที่ ททท.โฟกัสให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจับจ่ายในไทย”
ส่วนมิติ Fashion แฟชั่น ไม่ได้หมายถึงต้องมีดีไซน์เนอร์ระดับโลก แต่หมายถึงการผลักดันผ้าไทยและเครื่องประดับสไตล์ไทย ได้รับการชูสู่สายตานานาชาติมากขึ้น อย่างเช่น กรณีของ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล สมาชิกวงแบล็กพิงก์ สวมรัดเกล้ายอด ในมิวสิกวิดีโอเพลง LALISA เป็นเรื่องที่ ททท.จะศึกษาเพื่อนำแฟชั่นไทยสู่สายตาคนภายนอก
“คำว่า แฟชั่น ยังครอบคลุมถึงมิติผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นพื้นบ้าน อย่างโลโก้ของงานประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดในเดือน พ.ย.2565 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีแนวคิดการออกแบบจากงานจักสานชะลอม ททท.ก็จะโปรโมทงานหัตถกรรม เช่น งานจักสานเข้าไปด้วย”
อีกซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญ Fighting ศิลปะการต่อสู้ ททท.จะชู "มวยไทย" ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ เช่น ในอังกฤษ มีโรงเรียนสอนมวยไทยหลายร้อยแห่ง ในสหรัฐและประเทศอื่นๆ ก็มีจำนวนมากเช่นกัน ททท.จึงมีแผนทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหรือครูสอนมวยไทย และสถาบันสอนมวยไทยในประเทศต่างๆ เหมือนเป็นหน้าร้าน Outlet ประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวไทย จากเดิมทำงานร่วมกับร้านอาหารไทยในต่างแดนทั่วโลกจนประสบความสำเร็จมาแล้ว
ในเดือน มี.ค.ของทุกปี ททท. มีกำหนดจัดงานไหว้ครูมวยไทยโลก ซึ่งเตรียมขยายขนาดงานให้ใหญ่ขึ้น เชิญครูสอนมวยไทยและนักมวยจากทั่วโลกเดินทางมาร่วมงาน ส่วน Festival งานเทศกาล ไทยมีงานเทศกาลดังระดับโลกจำนวนมาก เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง นอกเหนือจากงานเทศกาลด้านวัฒนธรรมประเพณีที่ติดตลาดโลกเหล่านี้ ททท.จะโปรโมทงานเทศกาลอื่น ๆ ด้วย อย่างงานเทศกาลดนตรีและศิลปะ เช่น งานแบงค็อก อาร์ต เบียนนาเล่ ฯลฯ