'พรบ.คู่ชีวิต'กับมิติทางเศรษฐกิจ เปิดเหตุผล กม.ฉบับนี้ช่วยเพิ่มการลงทุน
ร่าง พ.ร.บ.คู่สมรส ที่ผ่านความเห็นชอบจากครม. เป็นการกำหนดสิทธิ์และหน้าที่ของคู่สมรสมรสเพศเดียวกัน โดยกฎหมายฉบับนี้ผลกระทบต่อเนื่องไปหลายด้าน ในแง่หนึ่งมีการวิเคราะห์ถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... (พ.ร.บ.คู่ชีวิต) และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยขณะนี้ร่างกฎหมายกำลังจะบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนต่อไป
โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้เพื่อเป็นกฎหมายที่รองรับความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นครอบคลุมทุกกลุ่มในทุกมิติเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ในการเสนอตัวร่างกฎหมายให้กับ ครม.พิจารณา กระทรวงยุติธรรมได้นำเสนอผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ได้แก่
1. ผลกระทบเศรษฐกิจ กฎหมายฉบับนี้จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้นักธุรกิจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเพราะมีความมั่นใจในเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของไทย อีกทั้งเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยังมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งระดับชุมชน และประเทศชาติ
โดยการจัดทำกฎหมายรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวให้กับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ส่งผลให้ไทยได้รับมุมมองเชิงบวกจากมุมมองของนักธุรกิจและนักลงทุนในประเทศที่มีการยอมรับกฎหมายในลักษณะนี้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิติมีความสอดคล้องกับพันธกรณีและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี และร่วมรับรองไว้
ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human rights : UDHR) ระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Intonational Covenant on Civil Rights : ICCPR) และหลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการปรับใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ค.ศ. 2060 (The Yogyakarta Principles on the Application of International Human Rights Law in relation to Sexual Orientation and Gender Identity 2006)
นอกจากนั้น ยังสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีคู่รักเพศเดียวกันจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันฉันท์ครอบครัว อย่างไรก็ตาม การขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ก่อให้เกิดปัญหาที่กระทบมิติ สิทธิมนุษยชนหลายประการ เช่น สิทธิและหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิในการจัดการทรัพย์สิน การได้ร่วมกันสิทธิ์ในกาเป็นทายาโดยธรรมและรับมรดก สิทธิในการดำเนินคดีร่วมกันและสิทธิ์ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล นอกจากนั้น ยังส่งผลให้บุตรที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยคู่ชีวิตที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับการคุ้มครองในระดับเทียบเท่ากับผู้เยาว์ที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยคู่สมรสต่างเพศที่มีอำนาจปกครองเหนือผู้เยาว์ร่วมกัน
ทั้งนี้ปัจจุบันได้มีกรณีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริงกับคู่ชีวิตในหลายกรณี ดังนั้น การออกกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็น ในขณะเดียวกัน การไม่มีกฎหมายฉบับใดให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกันจึงเสมือนเป็นการเลือกปฏิบัติและตีตราซ้ำว่าแม้จะไม่ได้ปฏิเสธถึงความมีอยู่ของครอบครัวรูปแบบดังกล่าว แต่ก็ไม่ใด้ดำเนินความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและอำนวยความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน และข้อเท็จจริงที่ปรากฎในสังคมปัจจุบัน
2.ผลกระทบการเมืองภายในประเทศ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นการยืนยันนโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่เป็นธรรม ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าบุคคลทุกคนจะได้รับสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว รวมทั้ง
เป็นการยืนยันนโยบายรัฐบาลในการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีเจตนารมณ์และความตั้งใจจริงที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนเทียบเท่ากับระดับสากล
3.ผลกระทบการเมืองระหว่างประเทศ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับยี้เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสังคมโลก อันจะช่วยทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับและความเชื่อถือจากประชาคมระหว่างประเทศ
4.ผลกระทบด้านสังคม ยืนยันนโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่เป็นธรรม
เพื่อประกันสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้สังคมไทยเคารพศักดิ์ศรี
ความเป็นมนุษย์ รวมทั้งยอมรับความแตกต่างและหลากหลายของปัจเจกบุคคลและความเป็นครอบครัว อันจะทำให้ คนในสังคมมีความเคารพซึ่งกันและกันและเกิดความสมานฉันท์ในประเทศมากขึ้น