‘เสี่ยบุณยสิทธิ์’ ชี้ต้นทุนพุ่งรุนแรงรอบ 26 ปี ขอรัฐไฟเขียวขึ้นราคา “มาม่า”
เป็นประจำทุกปีของงาน “สหกรุ๊ปแฟร์” ที่เครือสหพัฒน์จะมีการขนสินค้าจำเป็น ของกินของใช้ เสื้อผ้าแฟชั่น รองเท้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง ฯ มาลดกระหน่ำ ซึ่งงานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 26 นี้ จะจัดขึ้นวันที่ 26 มิ.ย.-3 ก.ค.65 ควบคู่ออนไลน์ จัดเต็ม 30 วัน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
หนึ่งในธรรมเนียมปฏิบัติในงานสหกรุ๊ปแฟร์ “เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจ กำลังซื้อ รวมถึงทิศทางธุรกิจของเครือด้วย
ปี 2565 ภาวะเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นจาก “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” บางตัวราคาเปลี่ยนจาก 3 เดือนก่อนอย่างมาก ขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อสงครามลากยาว 109 วัน จากคาดเกิด 1 เดือน ต้นทุนการผลิตจึงไร้แนวโน้มปรับลดลงด้วย สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เครือสหพัฒน์แบกรับภาระต้นทุนการผลิตค่อนข้างหนัก
ล่าสุดจึงส่งสัญญาณขอ “ปรับขึ้นราคาสินค้า” โดยเฉพาะกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เพราะแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ราคาพลังงานพุ่งแรงมาก รวมถึงผลิตภัณฑ์ซักผ้า เป็นต้น
“ย้อนไป 26 ปีก่อน การจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์เกิดขึ้น เพราะวิกฤติต้มยำกุ้ง การลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้สินค้ามีการปรับขึ้นราคา แต่จะทยอยขึ้นทีละขั้น และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ส่วนต้นทุนผลิตสินค้าปีนี้รุนแรงกว่า 26 ปีก่อนอย่างมาก เมื่อถามว่าเราจะขึ้นราคาสินค้าไหม..ก็ต้องขึ้น เพราะวัตถุดิบทุกอย่างปรับขึ้น ไม่ขึ้นเราอยู่ไม่ได้ แต่การขึ้นราคาต้องดูว่าผู้บริโภคยอมรับได้ไหม โดยเราจะขึ้นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งทยอยขึ้น เพื่อมีเวลาให้ผู้บริโภคเตรียมตัว”
ทว่า สินค้าจำเป็นบางรายการ เช่น บะหมี่ฯ เป็นสินค้าควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์จะขึ้นได้ รัฐต้อง “ไฟเขียว” หากยังไม่ขึ้นได้ อาจส่งผลให้ “สินค้าขาดแคลน” ผู้ผลิตลดกำลังการผลิต และอาจเกิดการแย่งสินค้าเหมือนแย่งวัคซีนป้องกันโควิดในช่วงไวรัสระบาด
ขณะที่ภาพรวมยังคาดการณ์ผู้ผลิตในประเทศจะเน้น “ส่งออกสินค้า” มากขึ้น เพราะโอกาสตลาดมีสููง และเป็นการปรับตัวเพื่ออยู่รอดท่ามกลางการขึ้นราคาไม่ได้ ส่วนการลดปริมาณถือเป็นหนึ่งในการบริหารจัดการต้นทุนเช่นกัน
“แบกต้นทุนได้นานแค่ไหน..ไม่รู้ ส่วนราคาสินค้าอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์จะเมตตา”
ด้านมุมมองเศรษฐกิจปี 2565 คาดเห็นการเติบโต 2-3% ส่วนกำลังซื้อ หากทุกคลี่คลาย เชื่อว่าผู้บริโภคชาวไทยจะฟื้นตัวจับจ่ายใช้สอยเร็วเทียบกับประเทศอื่น ที่มีปัจจัยลบมากกว่าไทย
ส่วนปัจจัยที่น่าห่วง นอกจากสินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง เงินเฟ้อสูง คือ “รายรับ” ประชาชนที่ควรปรับขึ้น ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล มองว่ามาตรการต่างๆที่ทำอยู่ดีแล้ว แม้เด็กรุ่นใหม่อาจเห็นต่างก็ตาม
ขณะที่การขับเคลื่อนอาณาจักรสหพัฒน์ ซึ่งก้าวสู่ปีที่ 80 ให้ความสำคัญกับการ “ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง” เปิดทางให้คนรุ่นใหม่มีบทบาทมากขึ้น ด้าน “การลงทุน” ยังมองจังหวะ พร้อมปรับแผนเสมอ แต่ตลอด 3 ปีที่เกิดวิกฤติโควิด-19 บริษัทไม่ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับญี่ปุ่นเลย ในฐานะพันธมิตรเบอร์ 1 ของกลุ่ม
“สหพัฒน์อยู่มา 80 ปี ฉันทำงานมา 60 กว่าปี ติดตามนายห้าง(นายห้างเทียม โชควัฒนา บิดา และผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์) 40 ปี ดูแลธุรกิจต่อ 30 ปี เห็นการเปลี่ยนแปลงตลอด การทำธุรกิจจากนี้แนะให้คนทำงานเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์”