“บีบีจีไอ” ทรานฟอร์มธุรกิจ รุกผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง
บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ไบโอดีเซล และผลิตภัณฑ์พลอยได้ ซึ่งร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อรุกเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง
กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BBGI กล่าวว่า จากปัจจัยราคาพลังงานโลกที่ผันผวนทำให้มุ่งมั่นเป็นผู้ประกอบธุรกิจน้ำมันชีวภาพ ได้แก่ ไบโอดีเซล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงประเภทดีเซลที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีผลิตภัณฑ์พลอยได้เป็นกลีเซอรีนดิบสำหรับกลั่นเป็นกลีเซอรีนบริสุทธิ์ เพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นสำคัญในหลายอุตสาหกรรม เช่น การผลิตสบู่ ยา เครื่องสำอาง
ในขณะที่เอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ เป็นแอลกอฮอล์ที่เกิดจากการหมักกากน้ำตาลหรือพืชจำพวกแป้ง มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีคุณสมบัติติดไฟง่าย และละลายได้ทั้งในน้ำและสารละลายอินทรีย์อื่นจึงนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
ทั้งนี้ สามารถแบ่งผลิตภัณฑ์เป็น 3 ประเภท คือ
1.เอทานอลเกรดเชื้อเพลิง สำหรับใช้ในการผลิตเชื้อเพลิง โดยใช้เป็นสารเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมัน และเมื่อผสมกับน้ำมันเบนซินจะกลายเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์
2.เอทานอลที่นำไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม การแพทย์ และเส้นใย
3.เอทานอลที่สามารถใช้รับประทานได้โดยตรง ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง สุรา และยา
ดังนั้น BBGI จะเน้นใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมร่วมมือพันธมิตรเพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง สร้างความยั่งยืนให้องค์กร โดยเริ่มจากการเข้ารวมกลุ่มธุรกิจใน Manus Bio Inc. ผู้นำธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพระดับโลก ตั้งบริษัทร่วมทุน WIN Ingredients มีการวางแผนตั้งโรงงานผลิต Multi-Products โดยใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) แห่งแรกในอาเซียน
รวมถึงการร่วมทุนกับ บริษัท ไบโอม จำกัด บริษัทวิจัยที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องการวิจัยและพัฒนาด้าน Specialty Enzyme (เอนไซม์พิเศษ) และ Synthetic Biology (ชีววิทยาสังเคราะห์) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นบริษัท Spin Off ตามนโยบายการผลักดันเพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายวิทยาการ
รวมทั้งยังมีเครือข่ายนักวิจัยจากต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรด้านวิชาการที่เข้มแข็ง โดย BBGI ได้รับสิทธิเป็นรายแรกในการนำผลงานวิจัยของไบโอมเพื่อมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะงานวิจัยผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ใช้ เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ ที่เป็นสิทธิบัตรจากงานวิจัยของไบโอม
ล่าสุด BBGI เตรียมประกาศความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ ใช้เงินลงทุนโรงงาน 2,000 ล้านบาท เพื่อผลิตและจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (CDMO) สร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง อาทิ เอนไซม์ คอลลาเจน เวย์โปรตีนจากนม โปรตีนจากไข่ ตลอดจนผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก คาดใช้เวลาตั้งโรงงานแล้วเสร็จต้นปี 2567 และจะคืนทุนใน 3-4 ปี
“จะขยายโรงงานที่เน้นในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานเดิมเพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิต ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และลดต้นทุนได้ดี ซึ่งขณะนี้มีพาร์ทเนอร์พร้อมร่วมทุน 2-3 ราย จะพิจารณารายที่ชำนาญ CDMO ในต่างประเทศ ช่วยต่อยอดงานวิจัยของเราและพัฒนาผลิตภัณฑ์”
ช่วงปลายปีที่แล้ว BBGI เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงทั้งรูปแบบ B2B และ B2C โดยตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ High Value Bio-Based Products กว่า 50% และเพื่อไปสู่เป้าหมาย 5 ปี
การขยายธุรกิจแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
1.ต้นน้ำ การลงทุนในบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นเจ้าของงานวิจัยด้าน Synthetic Biology
2.กลางน้ำ สร้างโรงงานในลักษณะ CDMO เพื่อช่วยสร้างผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยของต้นน้ำมาขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
3.ปลายน้ำ จะเป็นการด้วยการทำตลาดถึงมือลูกค้า
ดังนั้นทั้ง 3 ด้านนี้จะนำไปสู่ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ที่เป็นสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค ด้วยเทรนด์สุขภาพ รวมถึงการก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ ที่ต้องการสุขภาพดี
ทั้งนี้ BBGI ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากสิ่งที่มีอยู่มุ่งสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง อาทิ
1.กลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกสู่ตลาด B2B และ B2C โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพภายใต้แบรนด์ B Nature+
2.ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานตระกูลหญ้าหวาน BBGI ทำตลาดในอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น
3.กลุ่ม Probiotic คือ แบคทีเรียหรือยีสต์ ถือเป็นจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรเหล่านี้มีส่วนช่วยในการดูดซึมสารอาหาร การป้องกันโรค และการรักษาภาวะที่ผิดปกติของร่างกายจะเห็นสินค้ากลุ่มนี้ช่วงไตรมาส 3 ปี 2565
4.กลุ่ม Animal-free protein เป็นสินค้ากลุ่ม B2B จะเป็นสินค้าพัฒนามาแทนนม เพื่อใช้ในกลุ่มผู้ชอบกาแฟที่เป็นทางเลือกด้านสุขภาพ จะผลิตสินค้าไตรมาส 3 ปี 2565
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา Bio-transformer Oil คือ น้ำมันชีวภาพที่อยู่ในหม้อแปลงไฟฟ้า ปัจจุบันใช้งานในประเทศปีละ 3 ล้านลิตร ต้องนำเข้า โดยจะพัฒนาร่วมกับ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
อีกทั้งได้พัฒนา น้ำมันอากาศยานชีวภาพ (SAF) โดยอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะใช้ไบโอเอทานอล หรือ ไบโอดีเซล เพื่อศึกษาความคุ้มทุนและเหมาะสมจะเป็นการสนับสนุนสายการบินที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอน โดย บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีไฮโดรเจนเพื่อผลิตน้ำมันอากาศยานชีวภาพจึงเหมาะสมที่จะตั้งโรงงานในอนาคต