การรถไฟฯ จับมือเอกชนลุยขนส่งสินค้า เตรียมทุ่ม 2 พันล้านจัดหาโบกี้เพิ่ม
การรถไฟฯ ดันขนส่งสินค้าในประเทศ ประเดิมจับมือภาคเอกชน 1 ปี ลุยขนส่งเกลือเชื่อมสถานีมาบตาพุด-ชุมทางบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ระบุอยู่ระหว่างเสนอคมนาคม ทุ่ม 2 พันล้านบาท เดินหน้าจัดหาโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า 965 คัน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดเดินขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์บรรทุกเกลือ ระหว่างสถานีมาบตาพุด – ชุมทางบัวใหญ่ ระหว่าง ร.ฟ.ท. กับ บริษัท เอ็น. อี. (1992) จำกัด วันนี้ (10 มิ.ย.) โดยระบุว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางราง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในขนส่งสินค้าภายในประเทศ
โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ ร.ฟ.ท.จะให้การสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากแหล่งวัตถุดิบในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ส่งต่อไปยังโรงงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ภายใต้กรอบระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือน มี.ค.2565 - มี.ค.2566 ขนส่งสินค้าจากศูนย์กองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard) ที่สถานีชุมทางบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ไปยังสถานีรถไฟมาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้วยตู้คอนเทนเนอร์วางบนแคร่ 25 แคร่ ความยาว 50 ตู้ บรรทุกน้ำหนัก 62 ตันต่อเที่ยว
สำหรับอัตราค่าขนส่งแบบเหมาขบวนรถไป-กลับ เที่ยวละ 2.5 แสนบาท ปริมาณการขนส่งแต่ละเดือนประมาณ 15 ขบวน รวมประมาณ 180 ขบวนต่อปี คิดเป็นมูลค่าการขนส่งรวม 36 ล้านบาท นอกจากนี้ ทางภาคเอกชนยังวางแผนพัฒนาความร่วมมือกับ ร.ฟ.ท. ในระยะยาว โดยการลงทุนจัดหาตู้สินค้า เพื่อใช้ขนส่งสินค้าทางรถไฟโดยเฉพาะ เนื่องจากการขนส่งทางรถไฟช่วยอำนวยความสะดวกในด้านปริมาณการขนส่ง ลดระยะเวลาการเดินทาง และประหยัดต้นทุนการขนส่งได้อย่างดี
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท. มีโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า (บทต.) หรือแคร่ขนสินค้าประมาณ 1,000 คัน โดยใช้เพื่อการขนสินค้าแบบเหมาขบวนประมาณ 60% และแบบรายย่อยประมาณ 40% และการใช้แคร่ขนสินค้าค่อนข้างตึงตัว ร.ฟ.ท. จึงมีแผนจัดหาโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า 965 คัน วงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของการขนส่งสินค้าทางรางที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม
ด้านนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็น.อี. (1992) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ขนส่งเกลือเป็นล้านตันต่อปี โดยในส่วนของโรงงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะนี้มีการขนส่งทั้งผ่านทางรถบรรทุก และรถไฟ ในสัดส่วน 50:50 วันละประมาณ 2 พันตัน หรือประมาณ 6-7 แสนตันต่อปี ซึ่งการที่ปรับมาขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าได้มาก โดยช่วยลดการว่าจ้างคนขับรถลงไปได้ถึง 70 คน ประหยัดค่าน้ำมัน และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ โดยเร็วๆ นี้มีแผนจะเพิ่มการขนส่งสินค้าเกลือผ่านทางรถไฟเพิ่มมากขึ้นจากประมาณเดือนละ 15 ขบวน เป็นเดือนละ 30 ขบวน.