เปิดแผน “เน็ตซีโร่” มิตรผล พัฒนาผลิตภัณฑ์ “บีซีจีโมเดล”

เปิดแผน “เน็ตซีโร่” มิตรผล พัฒนาผลิตภัณฑ์ “บีซีจีโมเดล”

กลุ่มมิตรผลชู 6 แนวทาง โมเดลต้นแบบสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ส่งเสริมไม่เผาอ้อย 100% ใช้พลังงานหมุนเวียน กำหนดเป้าปลูกป่า 7 แสนต้นในจังหวัดสุพรรณบุรี และ 5 ล้านต้นทั่วประเทศ เพิ่มความสามารถการดูดซับคาร์บอน

ภายหลังจากที่ไทยได้ประกาศจุดยืนเป้าหมายสู่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 บนเวที COP26 เอกชนรายใหญ่เริ่มออกมาประกาศเป้าหมายธุรกิจสู่ความยั่งยืน 

กลุ่มมิตรผล ได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 53 องค์กรพันธมิตรของ Thailand Carbon Neutral Network (TCNN) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และร่วมมือกันสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาตลาดคาร์บอนภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในไทย

รวมทั้งได้ทบทวนกลยุทธ์ แนวทางการจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเป้าหมาย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science-based Targets) และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

นอกจากนี้ ได้มีการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ด้วยการบริหารจัดการพลังงานที่สอดคล้องกับ ระบบการจัดการพลังงานตามมาตรฐานสากล ISO 50001 และดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน โดยปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในปี 2564 บริษัทดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงาน 47 โครงการ ช่วยลดการใช้พลังงาน 1,049 ล้านเมกะจูล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 37,952 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 336 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากหม้อไอน้ำของโรงไฟฟ้าชีวมวล มาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลรีไฟน์ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2564

ล่าสุดได้ผลักดันโครงการ “สุพรรณบุรีโมเดล” ต้นแบบโรงงานที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามขบวนเตรียมพร้อมรับกติกาโลกใหม่

บรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและอุทกภัยอย่างรุนแรงช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณต่ำลง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารของไทย รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น พลังงานทดแทน และไบโอเบส ทำให้ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้บริโภคต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระยะยาว

กลุ่มมิตรผลในฐานะธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวางจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด การพัฒนาของเสียสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า หรือ Waste to Value Created เพื่อการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการสูญเสีย ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างความมั่นคงให้เกษตรกรไทย

ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลพร้อมสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050

โดยในวันที่ 6 มิ.ย.2565 ถือเป็นการประกาศคิกออฟโครงการ “สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” ขับเคลื่อนให้อุทยานมิตรผลด่านช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโรงงานต้นแบบด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2023 ด้วยการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่ 

1.ใช้พลังงานทดแทนในการดำเนินธุรกิจ 100% อาทิ ไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์

2.มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามหลักบีซีจีโมเดล เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด 

3.แก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ด้วยการจูงใจรับอ้อยสดเป็นวัตถุดิบ 95-100% ในฤดุกาลผลิตปี 2023/2024 ด้วยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี สร้างความเข้าใจชาวไร่อ้อยสร้างแนวกันไฟ และจูงใจด้วยการรับซื้อใบอ้อย

4.การบริหารจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวทาง Resource Reuse Reduce Recycle ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

5.ปลูกป่า ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ป่าชุมชน และพื้นที่การเกษตร ตั้งเป้าปลูกป่า 15,000 ไร่ เพิ่มความสามารถดูดซับคาร์บอน และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้ง

6.เป็นผู้ผลิตคาร์บอนเครดิต และพลังงานทดแทนที่สำคัญเพื่อสร้างกลไกชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

“กลุ่มมิตรผลเชื่อมั่นว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายการก้าวสู่เมืองคาร์บอนต่ำของสุพรรณบุรี และเป็นต้นแบบให้โรงงานในเครือและองค์กรอื่นในภาคอุตสาหกรรม”

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มิตรผลจะเป็นหนึ่งในต้นแบบที่สนับสนุนให้ไทยได้ขยับไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายขณะที่ปัจจุบันไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 300-350 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

“การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต การปรับสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการลงทุนเพื่อการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นการสร้างต้นทุนที่สูงขึ้นแต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ”